สัปดาห์ที่แล้ว สมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย) ได้นำเสนอความคืบหน้า โครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 720 วัน ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่สร้างความอื้อฉาวมาอย่างยาวนาน นับแต่เริ่มโครงการเมื่อปลายปี 2558 มาจนถึงปัจจุบัน
โดยล่าสุด กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศลงวันที่ 31 มกราคม 2565 เพิกถอนคำสั่งบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง (มหาชน) จำกัด ออกจากการ “ผู้ทิ้งงาน” ตามคำสั่งเดิมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่อ้างเพียงข้อความ “ข้อเท็จจริงใหม่อันเป็นสาระสำคัญ และเป็นข้อโต้แย้งที่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้บริษัทฯ ไม่สมควรถูกสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน …..” ที่ยังคงหาคำอธิบายไม่ได้…?
แต่อีกด้านหนึ่ง ที่หากยังคงจำกันได้คือ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 “นายศรีสุวรรณ จรรยา” อุปนายกและเลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยผู้บริหาร กฟภ. ประกอบด้วย
1. นายสมพงษ์ ปรีเปรม อดีตผู้ว่าการ กฟภ. 2. นายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตรองผู้ว่าการวิศวกรรม กฟภ. (ในขณะนั้น) 3. นายปิยพจน์ รุธิรโก อดีตรองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. 4. นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. (ขณะนั้น) 5. นายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนก่อสร้าง กฟภ. (ขณะนั้น) และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติหรือไม่ อย่างไร …?
อ่านประกอบ : สายส่งไฟฟ้า ปัตตานี 125 ล้าน ถึงมือ ป.ป.ช. “ศรีสุวรรณ” ตั้งแท่น ส่งข้อมูลสอบ 5 บิ๊ก กฟภ.
อ่านประกอบ : เปิด บทสรุป “ไทม์ไลน์ กฟภ.”“ความลับไม่มีในโลก”
โดยความคืบเกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาพันธ์นักข่าวฯ ได้รับการเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง ป.ป.ช. ได้ออกหนังสือถึงผู้ว่าการ กฟภ. ขอเอกสารรายละเอียดตามข้อสงสัย 10 ข้อ พร้อมให้ส่งเจ้าหน้าที่ กฟภ.เข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ได้รับมอบหมายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ ที่สำนักงาน ป.ป.ช. โดยข้อเท็จจริงที่ถาม 10 ข้อ ประกอบด้วย
1. ขอทราบที่มาของโครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานี
ไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี และการพิจารณาอนุมัติโครงการดังกล่าว อยู่ในอำนาจของบุคคลใด เป็นไปตามกฎหมายหรือระเบียบใด พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
2. ขอทราบขั้นตอนและกระบวนการโครงการจ้างเหมาก่อสร้างตามข้อที่ 1 พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
3. ขอทราบว่า ระหว่างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี กฟภ.ได้มีการขยายระยะเวลาตามสัญญาจ้างให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือไม่ อย่างไร พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลที่สมาพันธ์นักข่าวฯ ได้รวบรวมไว้คือ – จากคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1399/2564 เรื่อง การสั่งให้บริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทิ้งงาน เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ลงนามโดยนายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง (ขณะนั้น) ปฏิบัติราชการแทน ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า
“กรณีนี้ภายหลังลงนามในสัญญา กฟภ.ได้ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ เริ่มดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ได้รับหนังสืออนุญาตไปก่อน หากได้รับหนังสืออนุญาตเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบภายหลัง ต่อมา กฟภ. มีหนังสือแจ้งให้บริษัทฯ เร่งจัดทำแผนก่อสร้าง พร้อมทั้งให้บริษัทฯ รายงานผลความคืบหน้าทุกเดือน และหากมีเหตุการณ์ความไม่ปกติ ให้บริษัทฯ รีบทำหนังสือขอสงวนสิทธิ์แจ้ง กฟภ.ทันที พร้อมทั้งให้บริษัทฯ ปรับแก้ไขรายละเอียดแบบก่อสร้างให้เรียบร้อย แล้วนำส่ง กฟภ.เพื่อขออนุมัติ”
ข้อมูลคำสั่งของกระทรวงการคลัง ระบุต่อไปว่า“บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งนัดตรวจรับงานครั้งที่ 1 ซึ่ง กฟภ. ได้ตรวจรับงานครั้งที่ 1 แล้ว และให้บริษัทฯ นำเสนอวิธีการที่จะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนใหม่ บริษัทฯ ได้นำส่ง Shop Drawing โดย กฟภ.ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีความเหมาะสมสามารถก่อสร้างได้ ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งนัดตรวจรับงานครั้งที่ 2 และขอขยายเวลาสัญญา จำนวน 60 วัน กฟภ.ได้ตรวจรับงานครั้งที่ 2 แล้ว และแจ้งให้บริษัทฯ นำส่งเอกสารรับรองจากหน่วยงานราชการเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาขยายระยะเวลาสัญญา เนื่องจากบริษัทฯ ดำเนินการล่าช้า กฟภ.จึงได้มีหนังสือให้บริษัทฯ นำเสนอวิธีการทำงานให้แล้วเสร็จ และบริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง กรณีน้ำท่วมพื้นที่ก่อสร้าง กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดปัตตานี
กฟภ.ได้มีหนังสือแจ้งค่าปรับ และให้บริษัทฯ นำส่งรายงานความก้าวหน้าของงาน แต่บริษัทฯ เพิกเฉย กฟภ.จึงแจ้งให้บริษัทฯ เข้าร่วมประชุมติดตามการทำงาน และเร่งรัดให้บริษัทฯ นำส่งรายงานเพื่อใช้ประกอบการอนุมัติขยายระยะเวลาส่งมอบงาน ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้าง เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ก่อสร้าง และนำส่งรายงานประจำเดือนเพื่อประกอบการขยายระยะเวลาสัญญา บริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ กฟภ.ตรวจรับงานครั้งที่ 3 ซึ่ง กฟภ.ได้มีการตรวจรับงานครั้งที่ 3 แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯ ดำเนินการล่าช้ากว่าแผนงาน กฟภ.จึงแจ้งให้บริษัทฯ จัดทำแผนการก่อสร้าง พร้อมหนังสือชี้แจง
คำสั่งระบุต่อไปว่า “บริษัทฯ ได้มีหนังสือขอขยายระยะเวลาก่อสร้างอีกครั้ง เนื่องจากน้ำท่วมบริเวณก่อสร้าง ซึ่ง กฟภ. อนุมัติขยายเวลาก่อสร้างให้บริษัทฯ จำนวน 120 วัน และบริษัทฯ ได้มีหนังสือให้ กฟภ. ตรวจรับงานครั้งที่ 4 และ 5 ซึ่ง กฟภ.ได้ตรวจรับงานครั้งที่ 4 และ 5 เรียบร้อยแล้ว เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานตามระยะเวลาที่ขยายเพิ่มเติม บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้ กฟภ.ได้มีหนังสือเร่งรัดให้บริษัทฯ ดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ซึ่ง กฟภ.พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาต่อไปได้ เนื่องจากไม่สามารถเชื่อมต่อระบบได้ตามแผนงาน เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย กฟภ. จึงบอกเลิกสัญญา”
นอกจากนี้ ในคำชี้แจงของ กฟภ.หลังสุด ต่อคำถามของกรมบัญชีกลางที่ส่งหนังสือมาสอบถามเพิ่มเติม “เหตุใด กฟภ.ไม่ขยายเวลาให้บริษัทฯ ร้องขอในแต่ละกรณี” จนเป็นที่มาของคำสั่งเพิกถอนคำสั่งบริษัท บูรพาฯ เป็นผู้ทิ้งงานนั้น ระบุว่า
“กฟภ.ได้พิจารณาขยายเวลาก่อสร้างจากเหตุการณ์น้ำท่วมให้บริษัทฯ แล้วเป็นเวลา 120 วัน ตามมาตรการการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากเหตุ อุทกภัยในภาคใต้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ส่วนเหตุการณ์ฝนตกตามฤดูกาลไม่สามารถนำมาพิจารณาเป็นเหตุผลที่งานก่อสร้างไม่แล้วเสร็จได้ ประกอบกับไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติของจังหวัดในพื้นที่
ขณะที่ กรณีเรื่องเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดปัตตานี กฟภ.ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่า เหตุการณ์ที่บริษัทฯ แจ้งมาอยู่นอกพื้นที่โครงการ กรณีนี้จึงไม่ถือเป็นเหตุที่จะพิจารณาขยายสัญญา ประกอบกับสัญญาดังกล่าว เข่าข่ายตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2550 เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้าง ที่กำหนดให้พิจารณาเพิ่มระยะเวลาดำเนินการที่จะกำหนดในสัญญา สำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้จำนวนไม่เกินร้อยละ 50 ของระยะเวลาที่ได้ประมาณการไว้เดิม จึงถือว่า บริษัทฯ ได้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว
4. ขอทราบว่า เหตุใด กฟภ.จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และภายหลังจาก กฟภ.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว กฟภ.ได้มีการเก็บค่าปรับกรณีผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างจากบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือไม่ อย่างไร หากมี ขอเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าปรับและใบเสร็จรับเงินดังกล่าว พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การบอกเลิกสัญญาจ้างระบุเอกสารหนังสือข้างล่างนี้
ขณะที่กรณีค่าปรับ จากเอกสารไทม์ไลน์ที่เจ้าหน้าที่ กฟภ.จัดส่งเป็นรายงานให้กับผู้ว่าการ กฟภ.คนใหม่ทราบ เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 ระบุว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ตามหนังสือบริษัทบูรพาฯ ETE-LG-62/023 ลว. พ.ย. 2562 บริษัทฯ ชำระค่าปรับบางส่วนให้ กฟภ.เป็นเงิน 6 ล้านบาท โดยตามหนังสือ กฟภ. ที่ มท 53006.20/17448 ลว. 28 เม.ย. 2562 สรุปวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่บริษัทฯ ต้องมาชำระให้ กฟภ. เป็นจำนวนเงิน 6,856,407.80 บาท คงเหลือที่ต้องชำระอีก 856,407.80 บาท ทั้งนี้ วงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ยังไม่รวมค่าแก้ไข/รื้อ ถอน ค่าอุปกรณ์ที่ยังไม่ได้นินการติดตั้ง, ส่วนต่างราคาจาการประกวดราคาหาผู้รับจ้างครั้งใหม่และอื่นๆ (ถ้ามี)
5. ขอทราบว่า ภายหลัง กฟภ.มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างตามข้อ 4. กฟภ.ได้มีการลงโทษบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้ทิ้งงาน หรือไม่ อย่างไร พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกัน ในเอกสารไทม์ไลน์ฉบับเดียวกันนี้ ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 ตามหนังสือ กจค.2(คพ)(วส) 1804/2562 ลว. 13 พ.ย. 2562 หน่วยงานเจ้าของเรื่อง และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อพิจารณาคำชี้แจงตามที่บริษัทฯ แจ้งมา โดยที่ประชุมมีมติดังนี้
“แม้ว่าบริษัทฯ จะดำนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามสัญญาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่เนื่องจากพื้นที่โครงการหรือบริเวณใกล้เคียงมีเหตุการณืความไม่สงบเกิดขึ้นเป็นระยะตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้แรงงานในการก่อสร้างมีการหยุดงานและไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว บริษัทฯ มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามสัญญาให้แล้วเสร็จ โดยเมื่อ กฟภ.ขอยกเลิกสัญญา บริษัทฯ ก็มิได้ปฏิเสธความรับผิด และยินยอมชำระค่าปรับให้แก่ กฟภ. ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงเจตนาและพฤติการณ์ประกอบการกระทำดังกล่าวแล้ว จึงเห็นว่า บริษัทฯ ไม่มีเจตนาและพฤติกรรมที่จะเป็นผู้ทิ้งงาน และจงใจทำให้ กฟภ.เกิดความเสียหาย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับและค่าเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังการบอกเลิกสัญญาตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาจ้างต่อไป”
อ่านประกอบ : เปิดเอกสาร … คำถาม-คำชี้แจง ไม่พบ “ข้อมูลใหม่” …? ปฏิบัติการ “ตั้งธง” รอ … เพิกถอน “บูรพาฯ”
6. ขอทราบว่า ภายหลัง กฟภ.บอกเลิกสัญญาจ้างเหมาบริษัท บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
บริษัทได้รับงานของ กฟภ. อีกหรือไม่ หากมี ขอสำเนาสัญญาจ้างและขอเอกสารการประกวดราคาครั้งดังกล่าวทั้งหมด
สำหรับข้อมูลที่สมาพันธ์นักข่าวฯ เคยรายงานไปแล้วปรากฎดังนี้ กฟภ.ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2-สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กับบริษัท บูรพาฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2561 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาและส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานหรือไม่!! นั้น
ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 บริษัทบูรพาฯ เจ้าเดียวกันนี้เอง ไปมีชื่อได้รับงานจาก กฟภ.อีกรอบ ในการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี บริเวณสามแยกบ้านแกใหญ่-ทางหลวงหมายเลข 2076 (กม.ที่ 19+280 ) จังหวัดสุรินทร์ มูลค่า 137,699,370.00 บาท (หนึ่งร้อยสามสิบเจ็ดล้านหกแสนเก้าหมื่นเก้าพันสามร้อยเจ็ดสิบบาทถ้วน) ขณะที่ กฟภ.มาออกหนังสือแจ้งไม่ลงโทษทิ้งงานในภายหลังเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 โดยนายปิยพจน์ รุธิรโภ รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ ปฏิบัติงานแทน ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค คือเป็นหนังสือแจ้งไม่ลงโทษ ย้อนหลังการชนะประมูล เสมือนว่าเป็นหนังสือรับรองบริษัทฯ ให้ได้รับงานภายหลังการชนะประมูลอย่างใดอย่างนั้น
อ่านประกอบ พิลึก ! เอกชนทิ้งงาน กฟภ. กลับได้รับงานใหม่ ที่ใหม่ แถมออกหนังสือชุบตัว ?
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรายังเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ด้วยว่า นับแต่ช่วงปลายปี 2561 ที่ กฟภ.ทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาโครงการฯ จนถึงปี 2563 บริษัท บูรพาฯ ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญารับงานจาก กฟภ. กว่า 12 สัญญา รวมมูลค่าทั้งสิ้น 285,202,917 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) (ดูตารางประกอบ) ขณะที่กระทรวงการคลังประกาศเป็นผู้ทิ้งงานเมื่อ 13 ส.ค. 2564
อ่านประกอบ : ก่อนกลับลำแจ้งเป็นผู้ทิ้งงาน! ช่วงปลายปี 61-63 กฟภ. จ้างงาน บมจ.บูรพาฯ 12 สัญญา 285 ล.
7. ขอทราบว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างสานส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี อยู่ในขั้นตอนใด และขอทราบเหตุผลในการดำเนินโครงการดังกล่าวล่าช้า
ทั้งนี้ จากการค้นหาข้อมูลของสมาพันธ์นักข่าวฯ พบว่า สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดบทสัมภาษณ์นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งนายนุกูลระบุว่า หลังจากที่ กฟภ.บอกเลิกสัญญากับบริษัท บูรพาฯ ไปแล้ว ในส่วนของโครงการฯ ที่ยังค้างคาอยู่นั้น กฟภ.มีการเปิดประกวดราคา แบบ e-bidding แต่ก็ไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้ามาร่วมยื่นประกวดราคา ทาง กฟภ. จึงได้มีการเปลี่ยนวิธีการหาผู้ประกอบการมารับงานโครงการด้วยวิธีการคัดเลือก ซึ่งก็ไม่มีใครเข้ามารับงานนี้เช่นเดียวกัน กฟภ. จึงได้ใช้วิธีการหาผู้ประกอบการเข้ามารับงานด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง ซึ่งขณะนี้ทาง กฟภ.ได้ผู้ประกอบการที่จะเข้ามารับงานโครงการต่อแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการทำการเจรจาทำตกลงจึงไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบริษัทได้
อ่านประกอบ : ‘อิศรา’ ถาม ‘กฟภ.’ ตอบ! ทำไมบอกเลิกสัญญา-ไม่ลงโทษ บ.บูรพาฯ ทำระบบไฟฟ้าปัตตานี 125 ล.
อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์นักข่าวฯ เคยเปิดเผยในรายงานข่าวเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 โดยชาวบ้านได้ส่งรูปมาให้ดูกันจะๆ กับบริเวณพื้นที่โครงการฯ ที่ในภาพคือ พื้นที่โครงการรกล้างและเต็มไปด้วยซากอุปกรณ์ต่างๆ กองอยู่มากมาย
8. ขอทราบว่า กฟภ. เคยได้รับเรื่องร้องเรียนโครงการจ้างเหมาก่อสร้างตามข้อที่ 1. หรือไม่ อย่างไร หากมี ขอทราบผลการพิจารณาและขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง
เช่นเดียวกัน จากบทสัมภาษณ์นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ซึ่งนายนุกูลระบุ สหภาพแรงงานยื่นเรื่องไปทางบอร์ด กฟภ. และมีการส่งเรื่องมายังผู้ว่าฯ กฟภ. (ขณะนั้น) ให้ดำเนินการแล้ว ขณะที่ในเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ได้ทำหนังสือทวงความคืบหน้าต่อนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการ กฟภ.ในขณะนั้น
9. ขอทราบว่า งานจ้างก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟต.3 (จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส) และงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี บริเวณสามแยก บ้านแกใหญ่ – ทางหลวงหมายเลข 2076 (กม.ที่ 19+280) จังหวัดสุรินทร์ บริษัทใดเป็นผู้รับจ้าง และเหตุใดประกาศประกวดราคาจ้างงานดังกล่าว จึงมีการตัดเงื่อนไข “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เคยถูกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคบอกเลิกสัญญาในโครงการก่อสร้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาของสัญญา”
สมาพันธ์นักข่าวฯ พบเอกสารระบุดังนี้
อ่านประกอบ : พิรุธ !!! ยกเลิกคุณสมบัติเอื้อใคร…?
10. ขอคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ตามข้อที่ 1. และขอประวัติการทำงานของบุคคลดังกล่าว รวมทั้งพนักงาน กฟภ. ดังต่อไปนี้ (1) นายสมพงษ์ ปรีเปรม (2) นายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ (3) นายปิยพจน์ รุธิรโก (4) นายนุกูล ตูพานิช (5) นายวิรุจน์ หมื่นกูด พร้อมทั้งขอเอกสารหลักฐานการเข้าดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของบุคคลดังกล่าว เอกสารแสดงอำนาจหน้าที่ และระเบียบข้อบังคับว่าด้วยวินัยและการลงโทษของพนักงาน กฟภ.
ทั้งนี้ ข้อมูลดังที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงข้อมูลที่สมาพันธ์นักข่าวฯ เคยรวบรวมมาได้และค้นหาเพิ่มเติมเท่าที่สามารถทำได้จากสื่อต่างๆ หาใช่ข้อมูลที่ กฟภ.จะนำไปชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ไม่ ซึ่งการชี้แจ้งของ กฟภ.อาจมีเพิ่มเติมและมีรายละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งหาก กฟภ.ได้การชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ต่อไปอย่างไรแล้ว สมาพันธ์นักข่าวฯ จะนำมาเสนอให้ครบถ้วนอีกแก่ท่านผู้สนใจต่อไปอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนมหากาพย์โครงการอื้อฉาว งานก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี มูลค่า 125 ล้านบาท ของ กฟภ. โครงการนี้ จะลงเอยอย่างไร ทั้งจากการสอบสวนของ ป.ป.ช. และการออกคำสั่งล่าสุดของกระทรวงการคลัง ที่ให้เพิกถอนคำสั่งเดิม ออกจากการ “ผู้ทิ้งงาน” คงต้องจับตากันดูต่อไปอย่างระทึก ……
ทีมข่าวสมาพันธ์ฯ