ว่าแล้วเรื่องข้อพิรุธ! “การเปิดประมูลโครงการก่อสร้างเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าหลายโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค” หรือ กฟภ. ก็ถึงมือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดย “นายศรีสุวรรณ จรรยา” อุปนายกและเลขาธิการ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ปฏิบัติหน้าที่แทน นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย
ก็อย่างที่ “สมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย)”นำเสนอมาอย่างต่อเนื่องโดยข้อพิรุธ!ที่เกิดขึ้น มีหลายกรรมหลายวาระด้วยกัน เกิดขึ้นจนเรียกได้ว่า ถ้าใครได้รับรู้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นลำดับมาแล้ว ก็ต้องร้องอุทานกันดังๆ ขึ้นแน่ว่า “เกิดอะไรขึ้นที่ กฟภ.”
(ข่าวที่เกี่ยวข้อง) พิรุธ !!! ยกเลิกคุณสมบัติเอื้อใคร…?
แล้วเมื่อเรื่องพิรุธ! ที่มีความต่อเนื่องในหลายโครงการ มูลค่าเป็น ร้อยๆ ล้านแบบนี้ ถึงมือ “นักร้องระดับชาติ” มีหรือที่จะนิ่งดูดาย ปล่อยให้ความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นในองค์กรที่เป็นสมบัติของชาติจากภาษีของประชาชน
(ข่าวที่เกี่ยวข้อง) พิลึก ! เอกชนทิ้งงาน กฟภ. กลับได้รับงานใหม่ ที่ใหม่ แถมออกหนังสือชุบตัว ?
การเข้ายื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ของนายศรีสุวรรณดังกล่าวนี้ ได้ขอให้ ป.ป.ช.ใช้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 234 (2) ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ2561 มาตรา 28 (2) ดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามข้อร้องเรียนหรือไม่ อย่างไร
สำหรับเจ้าหน้าที่ของ กฟภ. ที่ถูกให้ดำเนินการไต่สวน ประกอบด้วย 1. นายสมพงษ์ ปรีเปรมผู้ว่าการ กฟภ.2. นายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตรองผู้ว่าการวิศวกรรม กฟภ. (ในขณะนั้น) 3. นายปิยพจน์ รุธิรโก อดีตรองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. (ในขณะนั้น)4. นายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. และ 5. นายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนก่อสร้าง กฟภ.
ทั้งนี้ สมาพันธ์ฯ จะขอย้อนความเป็นมาของข้อพิรุธ! ต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเริ่มต้นจาก โครงการจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จ 720 วัน ซึ่งบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ เป็นผู้ชนะการประมูล เมื่อปี 2558 โดยนายสุรศักย์ พงษ์สวัสดิ์ อดีตรองผู้ว่าการวิศวกรรม กฟภ. (ในขณะนั้น) เป็นผู้จัดทำโครงการฯ แต่บริษัทดังกล่าวนี้ไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ตามสัญญา แม้ กฟภ.จะขยายเวลาออกไปให้หลายครั้งแล้วก็ตาม
จนในที่สุด กฟภ.เอง ได้ออกหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561ระบุสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับ พร้อมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับการเป็น “ผู้ทิ้งงาน” ตามกฎหมายต่อไป ลงนามโดยนายปิยพจน์ รุธิรโก อดีตรองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. (ในนขณะนั้น) และมาลงนามในหนังสือแจ้งไม่ลงโทษบริษัท บูรพา เทคนิคอลฯ จากกรณีทิ้งงานที่ปัตตานี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562
อย่างไรก็ตาม ข้อพิรุธ! เกิดขึ้นเมื่อ บริษัทดังกล่าวนี้ กลับมาได้งานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควีที่สามแยกบ้านแกใหญ่-ทางหลวงหมายเลข 2076 จังหวัดสุรินทร์ วงเงินกว่า 137 ล้านบาท เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน แ2562ก่อนมีหนังสือแจ้งไม่ลงโทษ หรือมีหนังสือแจ้งไม่ลงโทษภายหลังบริษัทฯ ที่ทิ้งงานที่ปัตตานี ได้รับงานที่จังหวัดสุรินทร์ และบริษัทฯ ดังกล่าวนี้ ยังมีชื่อในโครงการร่วมทุนและรับงานทำสายส่งระบบอีกหลายจังหวัดในปี 2562-2563
ขณะที่ในเวลาต่อมา มีการตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลจากสื่อออกมาเป็นระยะ และนายนุกูล ตูพานิช รองผู้ว่าการก่อสร้างและบริหารโครงการ กฟภ. ได้ออกมาแก้ต่างเมื่อราวเดือนมีนาคม 2564 ให้กับบริษัทฯ ดังกล่าวว่า ที่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังเป็นคู่สัญญากับ กฟภ.อีก 3 สัญญา และสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ส่วนปัญหาที่ปัตตานี บริษัทดังกล่าวนี้ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบและยินยิมจ่ายค่าปรับ จึงไม่ลงโทษเป็นผู้ทิ้งงาน
สำหรับนายวิรุจน์ หมื่นกูด ผู้อำนวยการกองสนับสนุนก่อสร้าง กฟภ. ที่ถูกระบุชื่อมีส่วนพัวพันด้วยนั้น เนื่องจากเกิดความไม่ชอบมาพากลขึ้นอีกในโครงการประกวดราคา จ้างก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟน.2 (จังหวัดน่าน แพร่ สุโขทัยและพิจิตร) มูลค่ากว่า 208 ล้านบาท มีการตัดเงื่อนไข “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องไม่เคยถูกการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บอกเลิกสัญญาในโครงการก่อสร้าง เนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาของสัญญา” ออกจากทีโออาร์ ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่เคยมีอยู่ในทุกๆ โครงการของรัฐ และท้ายสุดบริษัทบูรพา เทคนิคอลฯ เจ้าเดิม ก็เป็นผู้ชนะการประมูลโดยเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดอันดับ 1
นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญดังกล่าว ยังถูกตัดออกอีกในโครงการก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟต.3 (จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส) วงเงินกว่า 148 ล้านบาท ซึ่งน่าจะถือเป็นเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเอกชนรายใดรายหนึ่งหรือไม่
และแน่นอน นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. ย่อมอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบสูงสุดขององค์กร ที่อาจเข้าข่าย ผู้ใดเป็นผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (สร.กฟภ.) ได้ทำหนังสือยื่นต่อนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทวงถามความคืบหน้าได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่สมาพันธ์นักข่าว (ประเทศไทย) และสำนักข่าวอิศรา ที่ออกมาตีแพร่ความไม่ชอบมาพากลในโครงการก่อสร้างสายส่งระบบ 115 เควี ช่วงสถานีไฟฟ้าปัตตานี 2 – สถานีไฟฟ้าสายบุรี จังหวัดปัตตานี วงเงิน 125 ล้านบาท ไปอย่างไรบ้างแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด
ชมคลิป
ทีมข่าวสมาพันธ์ฯ