หลักสูตร บทจ.1 จัดการบรรยายหัวข้อ การค้าการลงทุนไทย-จีน ปัจจุบันและอนาคต

10

เมื่อวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2567 หลักสูตร”ผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน” หรือ บทจ. รุ่น1 ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย ได้เชิญนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ บรรยายหัวข้อ “การค้า การลงทุนไทย-จีน” ณ รร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ โดยมีรายการ จับจ้องมองจีน และ China Media Group ของจีน เป็นผู้ร่วมสนับสนุน

การค้าของจีนกับไทยใน 8 เดือนแรกของปี 2567 ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของจีนในอาเซียน รองจากเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย โดยบริษัทจีนเข้ามาตั้งโรงงานและมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้สัดส่วนมูลค่าการค้าของจีนคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย17.1% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย โดยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 12.1% และสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าคิดเป็น 22.3% ปัจจุบันสินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท แต่ละอันดับเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา เช่นปี 2564-ปัจจุบัน สินค้าอันดับหนึ่งจากไทยไปจีน ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าในภาคอุตสาหกรรม และอันดับไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

การส่งออกผลไม้ของไทยไปจีน ในปี 2566 ไทยส่งออกผลไม้สดรวม 185,050 ล้านบาท ขยายตัว 22.3%จากปีก่อน ผลไม้ที่ส่งออกจากไทยไปจีน อันดับหนึ่งคือทุเรียน ลำไย มังคุด ตามลำดับ และที่มาแรงคือมะพร้าวอ่อน ที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวจีนเป็นอย่างมาก จากการที่จีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีความหลากหลายในการอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์จึงมียุทธศาสตร์การค้าเชิงรุกรายมณฑลเพื่อผลักดันและกำหนดกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแต่ละมณฑลของจีนอย่างเหมาะสมด้วย สำหรับแนวโน้มการค้ากับจีนในอนาคต ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการที่เป็นทั้งแรงสนับสนุนและความท้าทายต่อการค้าการลงทุน ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและจีนยังคงส่งผลให้มีการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ผ่านกรอบความร่วมมือเช่นเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) และ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้โครงการ ”หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างสองประเทศในระดับที่สูงขึ้น

ในด้านการลงทุนจากจีนมาไทย สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ และสาขาเคมีภัณฑ์ เป็นสาขาที่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนและแรงงานทักษะสูง และจากข้อจำกัดทางด้านการขนส่ง ส่งผลให้มีการโยกย้ายการลงทุนไปยังประเทศที่มีชายแดนใกล้ชิดกับจีนเพื่อความสะดวกด้านการขนส่ง ทั้งนี้หากมองดูปัจจัยที่ทำให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนจากจีนคือ ที่ตั้งของไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในการลงทุน นโยบายและสิทธิประโยชน์สนับสนุนการลงทุน ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของไทย-จีน ความขัดแย้งของจีนและโลกตะวันตก การส่งออกของไทยมีการขยายตัวต่อเนื่อง ไทยไม่มีภัยธรรมชาติที่รุนแรง และมีการเตรียมการที่ดี

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง จัดทำเว็บไซต์ ”คิดค้าดอทคอม” เพื่อมุ่งหวังที่จะใช้เทคโนโลยีในการยกระดับขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกและข้อมูลความต้องการของตลาด เพื่อใช้สำหรับวางแผนการดำเนินธุรกิจ

- Advertisement -