“รอบรู้ธุรกิจและจริยธรรม” บทบาทสำคัญของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ยุคใหม่ CITE ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ มุ่งบ่มเพาะนักศึกษาป.โท-เอก คว้าโอกาสทอง Thailand Data Center
วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินหน้าเตรียมความพร้อมผลิตบัณฑิตปริญญาโทและเอก ด้านการพัฒนาและสร้างซอฟต์แวร์ ให้มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ จริยธรรม และเทคโนโลยี AI สอดรับการเติบโตของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางข้อมูล “Data Center” ของภูมิภาคอาเซียน
แม้ว่าจะกลายเป็นสัญญาณอันทรงพลังในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาและต่อไปในอนาคต หลัง “สัตยา นาเดลลา” CEO บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ ประกาศแผนตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ณ ประเทศไทย รองรับการเติบโตของธุรกิจคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ นอกจากนี้ยังพร้อมสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยกว่า 6,000 คน ผ่านโครงการ AI Odyssey รวมถึงการพัฒนาทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากรคนไทย กว่า 100,000 คน และสนับสนุนชุมชนนักพัฒนาในประเทศไทย
ทว่าท่ามกลางโอกาสทองที่รออยู่ “วิกฤตการณ์ขาดแคลนกำลังบุคลากรทางด้านไอที” กำลังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ศูนย์กลางข้อมูล โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีนักศึกษาจบสายคอมพิวเตอร์ 5.7 แสนคนต่อปี แต่ทำงานตรงสายอาชีพแค่ร้อยละ 15 % นอกจากนี้หากตีออกมาเป็นตัวเลขเฉลี่ยแต่ละปี ประเทศไทยสามารถผลิตบัณฑิตด้านไอทีที่มีคุณภาพได้ไม่เกิน 5,000 คน เท่านั้น โดยซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากทั้งหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ตลาด บัณฑิตขาดทักษะที่จำเป็นและประสบการณ์จริง
ประยุกต์ใช้ AI ได้ในทุกโดเมน
ถามว่าคุณสมบัติ? ของผู้ที่จะคว้าโอกาสทองในครั้งนี้ สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง “ผศ. ดร.วรภัทร ไพรีเกรง” ผู้อำนวยการหลักสูตร บัณฑิตศึกษาสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุว่า ไม่เพียงความต้องการในเชิงปริมาณเท่านั้นที่ขาดแคลน นักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นที่ต้องการในเวลานี้ต้องมีทักษะความเข้าใจใน ‘ธุรกิจ’ ประกอบอีกด้วย เนื่องจาก AI มีหลายประเภท โดยที่แต่ละประเภทมีจุดเด่น จุดด้อย และการใช้งานที่แตกต่างกันไป การเลือกโมเดลที่ผิดอาจจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสร้างความเสียหายมากกว่าที่จะได้ประโยชน์
“เราขาด Developer ขาดคนเข้าใจความรู้ ในการสร้างหรือพัฒนา AI อย่างแท้จริง ซึ่งถ้าเราเข้าใจว่า AI สร้างอย่างไร มันก็จะสร้างหรือพัฒนาเพื่อรองรับโดเมนต่างๆ ช่วยตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญหนุ่มกล่าว การปรับเปลี่ยนทักษะที่ต้องเสริมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ ที่ถูกบีบด้วยสภาพแวดล้อม”
“ถ้าองค์กรคุณไม่ใช่เทคโนโลยี แต่คู่แข่งใช้ ลูกค้าองค์กรคุณก็หนีไปที่อื่นหมด เพราะที่อื่นบริการรวดเร็วกว่า แม่นยำกว่า หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตไปถึงขั้นที่ต้องใช้ AI ของตัวเอง เพื่อรักษาความลับบริษัท เช่น ข้อมูลลูกค้า วิธีการบริหารจัดการลูกค้า ต่างๆ ที่อาจไม่เป็นความลับหากใช้บริการระบบของคนอื่น”
ทางวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ หรือ CITE มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มุ่งมั่นผลิตบัณฑิต “หลักสูตรปริญญาโท-เอก” ให้เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มืออาชีพที่มีคุณภาพ ผ่านหลักสูตรที่ทันสมัย ตรงกับความต้องการของตลาด และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ “การประยุกต์ใช้ AI ในทุกโดเมน” และ “การพัฒนาและสร้างโดเมนสเปเชียล AI” เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะ เช่น การวินิจฉัยโรค การแปลภาษา หรือการขับรถอัตโนมัติ AI ประเภทนี้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำงานได้อย่างแม่นยำ
นอกเหนือจากวิชาหลักทางด้านไอทีที่นำตัวต้นแบบ AI มาใช้ภาคธุรกิจสามารถทำได้อย่างไรบ้าง วิธีการพัฒนาและสร้างตัวแบบโมเดลในด้านต่างๆ เช่น วิเคราะห์ข้อมูล ภาษาทางธรรมชาติ (NLP) เทคทูสปีด (Text-to-Speech – TTS) หรือสปีดทูเทค (Speech-to-Text – STT) เป็นต้น จากความต้องการของทุกภาคอุตสาหกรรมในการนำ AI เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ
“ปริญญาโทของ CITE ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เรายังมีในเรื่องของ Technician และ Management technology โปรแกรมวิชา Data Science วิชาเลือกเกี่ยวข้องกับการพัฒนา AI และวิชาทางด้านไอที Management การกำกับดูแลทางด้านไอที การวิเคราะห์ออกแบบระบบสถาปัตยกรรมองค์กรที่นำเทคโนโลยีมาใช้งาน”
“ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกันหมด เพราะเราไม่ได้สอนแล้วนำไปใช้เองคนเดียว แต่ยังสามารถที่จะนำไปใช้วางโครงสร้าง พัฒนาบริการ ด้านไอทีที่องค์กรนำไปใช้พัฒนางานได้อีกด้วย ซึ่งทำให้คนที่ไม่มีพื้นฐานทางไอที เช่น แพทย์ เภสัช ครู ฯลฯ ก็สามารถที่จะเรียนได้อีกด้วย”
ขณะที่หลักสูตรปริญญาเอก “ผศ. ดร.วรภัทร” อธิบายว่า การเรียนการสอนเน้นหนักไปที่การต่อยอดและพัฒนาทางด้านไอที โดยผู้ที่เรียนจะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่หรือสร้างเทคโนโลยีใหม่เฉพาะ รวมไปถึงรูปแบบวิธีการทำงานใหม่ๆ เพื่อไปใช้ทำงานได้อย่างดีขึ้น
“ความท้าทายคือ เราพยายามที่จะพัฒนาจากตัวที่เป็นโดเมนสเปเชียลฟิก ไปเป็น Super AI ได้อย่างไร โดยที่ผ่านมานักศึกษาสามารถสร้าง Images Processing ในการจับ ‘ภาพช้าง’ และ Mapping ภาพในกล้องวงจรปิดเข้าด้วยกัน ทำให้เราสามารถรู้ถึงทิศทางการเดินของช้าง รู้ว่าเป็นช้างตัวไหน กระทั่งรู้ว่าชื่ออะไร ซึ่งช่วยป้องกันอันตรายของตัวช้างและผู้คน”
จริยธรรมและการกำกับดูแล
หลังจากทักษะที่ควรมีเพิ่มเสริมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน AI “ผศ. ดร.วรภัทร” ให้แนะนำว่ายังต้องคำนึงถึง “จริยธรรมและการกำกับดูแล” ที่ชัดเจนประกอบอีกด้วย เพื่อให้มั่นใจว่า AI ถูกใช้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสมัยอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นปี 2000
“จริยธรรมและการกำกับดูแล เป็นเรื่องใหม่ของปี 2024 ประเทศไทย ดังนั้นนอกจากสิ่งที่เราต้องทำต่อจากการบริหารจัดการเทคโนโลยีตัวนั้นซึ่งเป็นเรื่องแรก ต่อมาก็คือ การจัดการกำกับดูแล เพราะเรื่องพวกนี้กำหนดในทันทีไม่ได้ เพื่อกั้นการปิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนา ทำให้เราจำเป็นต้องค่อยๆ กำกับดูแลไปเรื่อยๆ แบบช่วงที่อินเทอร์เน็ตใหม่ๆ เราเริ่มต้นใช้ก่อนและเรียนรู้ผลเสีย จากนั้นจึงกำกับ อาทิ ชั่วโมงการใช้งานของเด็ก การกั้นคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม ที่มีมาเรื่อยๆ แต่จากบทเรียนที่ผ่านมาเราอาจจะต้องคิดไว้ล่วงหน้าจะเกิดปัญหานี้ๆ ในครั้งนี้”
โดยจากงานวิจัยที่ “ผศ. ดร.วรภัทร” ซึ่งได้รับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าทั้ง 3 ฝ่าย ที่สำคัญที่ต้องร่วมมือกัน ได้แก่ 1.ภาครัฐ 2.ผู้สร้างและพัฒนา และ 3.ผู้ใช้งาน
“ภาครัฐนอกจากที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กำลังศึกษาแนวทางการกำกับดูแล AI ครอบคลุมถึงหลักการจริยธรรม อาจจะต้องกำหนดเพิ่มคือ ข้อที่1.การ Errorless ของ AI ที่นำมาใช้เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ เช่น วงการแพทย์ที่จะนำมาวินิจฉัยโรค ข้อที่2.การแบ่งแยกหน้าที่ระหว่างมนุษย์และ AI ของการใช้งานเป็นระดับ สำหรับการใช้ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตแบบข้างต้น อาจกำหนดใช้ AI ในระดับเบื้องต้น การวินิจฉัยโรคเบื้องต้น และแนะนำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม”
“ข้อที่3.การตรวจสอบตัวแบบโมเดล AI ก่อนนำ AI มาใช้งานจริง โดยอาจจะมีการการันตีด้วยผลการทดสอบที่วัดเป็นเปอร์เซ็นต์ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เช่นเดียวกับการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อผู้ใช้งาน และข้อที่4.การสร้างหรือพัฒนา AI โดยฝั่งผู้สร้าง จำเป็นต้องออกแบบข้อมูลและโมเดลอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนตามกฎหมายหลัก หรือเรื่องของความเป็นส่วนบุคคล ต้องคอยบาลานซ์ให้ดีเพื่อกันไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้”
ผศ. ดร.วรภัทร เสริมอีกว่า ด้วยการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วมให้นักศึกษา Active Learning วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ได้ระบุเรื่องของจริยธรรมและการกำกับดูแล เป็น ‘บทเรียน’ หนึ่ง ทั้งหลักสูตรปริญญาโท-เอก นอกจากนี้ยังสอดแทรกเสริมในกรณีหากมีประเด็นใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนตระหนักและเกิดการเรียนรู้ในเรื่อง ปรับปรุง วิธีการกำกับดูแลให้เหมาะสม ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนักศึกษาเป็นอย่างมาก
“เนื้อหาเราไม่ได้ยึดตามที่ระบุไว้ตลอด เวลามีเรื่องใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อาจารย์ก็จะนำมาอัปเดต และนำมาพูดคุยถกเถียงกันเสริมจากในบทเรียน จากการที่เราติดตามสถานการณ์ในปัจจุบัน มีการอบรมเพิ่มเติมด้าน AI และมีวิจัยทางด้าน AI เพิ่มขึ้น เพราะขณะนี้ AI อยู่ร่วมกับเราแล้วในสเตทที่2-3 เราจะอยู่อย่างไรให้มันเกิดประโยชน์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม หรือมีความเสี่ยงต่อชีวิต เพื่อใช้ชีวิตกันได้อย่างมีความสุข” อาจารย์ได้กล่าวทิ้งท้าย