‘นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์’ กางกฎหมาย-ตั้งคำถาม ไม่แต่งตั้ง กก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามมติ ครม. ทำได้หรือไม่ พร้อมถามการเปลี่ยนรายชื่อกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ได้รับการสรรหา สุ่มเสี่ยงทำให้ผู้เกี่ยวข้องผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า การประกาศรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จำนวน10 ราย ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งให้ดึงเรื่องกลับมา เพราะมีรายชื่อกรรมการบางคนที่ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มอำนาจในรัฐบาล (อ่านประกอบ : ‘บิ๊กรบ.’ สั่งโละชื่อ คกก.คุ้มครองข้อมูลฯ-รมว.ดีอีเอส แจงแค่ทบทวนสรรหาเปิดกว้างทุกฝ่าย)
โดยเมื่อวันที่ 28.ก.ค. นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ใน 10 รายชื่อ ที่ได้รับแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ระบุว่า เรื่องนี้มีประเด็นข้อกฎหมายที่น่าสนใจว่า หากมีการทบทวนรายชื่อจริงจะสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ในเมื่อมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งไปแล้ว โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ กฎหมายกำหนดว่าต้องมีการแต่งตั้งภายใน 60 วันนับตั้งแต่มีคณะกรรมการสรรหา ซึ่งกรณีนี้ได้มีคณะกรรมการสรรหาตั้งแต่ 21 ก.พ.63 ทั้งนี้ได้มีการสรรหาและแจ้งรายชื่อประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมหลักฐานแสดงคุณสมบัติ และการไม่มีลักษณะต้องห้าม รวมทั้งความยินยอมของบุคคลดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้ง จนนำมาสู่มติ ครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.แล้ว สิ่งที่น่าพิจารณาคือ หลังกระบวนการสรรหาเสร็จสิ้น และ ครม.มีมติแล้ว จะสามารถทบทวนหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้อีกหรือไม่
นพ.นวนรรน กล่าวด้วยว่า การไม่ลงประกาศแต่งตั้งในราชกิจจานุเบกษา หรือการเปลี่ยนแปลงรายชื่อให้ขัดกับมติ ครม. ย่อมกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ได้รับการสรรหา และแต่งตั้งโดย ครม. อันเป็นกรณีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ทั้งยังสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่
“คงต้องจับตามองกันต่อไปครับว่าผู้เกี่ยวข้องจะตัดสินใจอย่างไร และหากมีการเปลี่ยนรายชื่อ ผู้ที่ถูกเปลี่ยนแปลงจะดำเนินการเช่นใดต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องว่าแม้จะมีการสรรหาโดยชอบตามระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ และได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็สามารถถูกข่มขืนโดยอาศัยอำนาจโดยมิชอบได้ตามอำเภอใจ” นายนวนรรน กล่าว
(ภาพจาก : www.rama.mahidol.ac.th)
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90723-PDPADOCTOR.html