ภายหลังจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานเลขานุการและหน่วยงานกลั่นกรองโครงการต่างๆ เปิดตัวเว็บไซต์ THAIme เพื่อใช้ติดตามตรวจสอบบริหารจัดการงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทจากภาคประชาชน โดยเฉพาะส่วน 400,000 ล้านบาทที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังโควิด-19 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563
ผ่านไปเพียง 1 สัปดาห์นับจากวันแรก 5 มิถุนายน 2563 ที่กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ เริ่มส่งร่างโครงการจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2563 ปรากฏว่า หน่วยงานราชการได้ส่งโครงการเข้ามามากถึง 34,263 โครงการ รวมวงเงินกว่า 841,269 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 400,000 ล้านบาทที่กำหนดไว้กว่า 2 เท่า
โดยโครงการเงินกู้แบ่งออกเป็น 4 แผนงาน ประกอบด้วยแผนงานที่ 1 เน้นการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แผนงานที่ 2 การฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ที่เน้นสร้างงานรองรับการกลับสู่ต่างจังหวัด แผนงานที่ 3 ส่งเสริมการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจ และแผนงานที่ 4 การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับชุมชน
ในขั้นตอนต่อไปหน่วยงานที่เสนอโครงการเข้ามาจะต้องกรอกข้อมูลเข้าในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เมื่อโครงการได้รับการกลั่นกรองในชั้นแรกจะนำไปสู่กระบวนการกลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการฯ คณะกรรมการกลั่นกรองฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยในรอบแรกคาดว่าจะอนุมัติได้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงเว็บไซต์ดังกล่าวไม่เอื้อให้ให้เกิดการวิเคราะห์ตรวจสอบแต่อย่างใด เนื่องจากเว็บดังกล่าวนำเสนอโครงการแบบกดดูทีละหน้า หน้าละ 20 โครงการ แปลว่า หากประชาชนต้องการตรวจสอบทุกโครงการจะต้องเปิดดูทั้งหมด 1,714 ครั้ง และไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของโครงการได้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ อยู่ในจังหวัดอะไรบ้าง หรือหน่วยงานไหนเสนอโครงการเข้ามาบ้าง
สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สำรวจและดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวทุกโครงการ เพื่อนำมาสรุปว่า แท้ที่จริงแล้วการเสนอโครงการดังกล่าวมีหน้าตาอย่างไร และมีอะไรที่ควรจับตามองบ้าง ทั้งนี้ ข้อมูลที่ดึงออกมาได้มีเพียงแผนงาน ชื่อโครงการ วงเงินงบประมาณ หน่วยรับงบประมาณ กระทรวง จังหวัด เท่านั้น ขณะที่รายละเอียดยังเป็นข้อมูลจากเอกสารที่ต้องเปิดดูทีละโครงการเช่นเดิม แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้มองเห็นอะไรบ้าง
เจ้าภาพหลัก “มหาดไทย” เน้นก่อสร้าง – ชงมา 2.3 แสนล้านบาท
เริ่มต้นจากหน่วยงานที่เสนอขอใช้งบประมาณเข้ามามากที่สุด คือ กระทรวงมหาดไทย ที่เสนอมา 234,981.21 ล้านบาท จำนวนโครงการ 30,807 โครงการ หรือเฉลี่ยโครงการละ 7.6 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าน่าจะเป็นโครงการขนาดเล็กเป็นส่วนใหญ่ โดยหากแยกตามแผนงาน 4 แผนงานจะพบว่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นแผนงานเกี่ยวกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ที่เน้นสร้างงานรองรับการกลับสู่ต่างจังหวัด (แผนงาน 3.2) โดยถือเป็นเจ้าภาพหลักของแผนงานนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เสนอเข้ามาประมาณครึ่งหนึ่งของวงเงินทั้งหมดของแผนงานดังกล่าว
เมื่อเจาะลึกลงในรายละเอียดของโครงการจะพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ก่อสร้างถนน (ทุกรูปแบบ) ขุดสระ ขุดคลอง พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ก่อสร้างจุดเติมน้ำใต้ดิน ฯลฯ โดยโครงการที่ใหญ่ที่สุดคือ “โครงการสร้างงาน สร้างรายได้: หมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง สู้ภัยโควิค-19″ วงเงิน 24,092.4 ล้านบาท และ “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’” วงเงินเกือบ 6,000 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ และโครงการขนาดเล็กที่สุดจะเป็นโครงการจัดทำป้ายต่างๆ วงเงินหลักหมื่นบาท
“สำนักนายก-เกษตร” เน้นลงทุน – ชงมา 3.5 แสนล้านบาท
หน่วยงานที่เสนอโครงการในวงเงินสูงรองลงมาคือ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเสนอขอใช้งบประมาณ 196,326.93 ล้านบาท แต่มีจำนวนโครงการเพียง 50 โครงการ หรือเฉลี่ยโครงการละ 3,926.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปในรายโครงการจะพบว่ามี 1 โครงการที่เสนอขอใช้งบมากถึง 100,000 ล้านบาท หากไม่รวมโครงการนี้ทำให้ค่าเฉลี่ยของโครงการที่เหลือจะเพียง 1,965 ล้านบาทต่อโครงการ
ตรงกันข้ามกับกระทรวงมหาดไทย แผนงานโครงการของสำนักนายกรัฐมนตรีส่วนใหญ่จะเป็นแผนงานเน้นการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้เป็นหลัก (แผนงาน 3.1) โดยถือเป็นเจ้าภาพหลักของแผนงานนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เสนอเข้ามาคิดเป็น 66.7% ของวงเงินทั้งหมดของแผนงานดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดคือโครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท รองลงมาคือโครงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับ SMEs ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน วงเงิน 50,000 ล้านบาท โครงการไทยเที่ยวไทยไป EEC” วงเงิน 26,202 ล้านบาท โครงการชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรม วงเงิน 7,800 ล้านบาท
โครงการขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5,218.37 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ 2,255.12 ล้านบาท
อนึ่ง หากรวมวงเงินของ 6 โครงการดังกล่าวเป็นโครงการในแผนงาน 3.1 ทั้งหมด จะคิดเป็นวงเงิน 191,475 ล้านบาท หรือประมาณ 97% ของงบประมาณที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอขอเข้ามา
สุดท้ายที่น่าสนใจคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เสนอขอใช้งบประมาณ 162,408.9 ล้านบาท จำนวน 742 โครงการ หรือเฉลี่ยโครงการละ 218.9 ล้านบาท โดยกระจายตัวอยู่ทั้ง 3 แผนงาน แผนงาน 3.1 เสนอขอใช้งบประมาณมา 59,636.38 ล้านบาท 49 โครงการ (เฉลี่ย 1,217 ล้านบาทต่อโครงการ) แผนงาน 3.2 เสนอขอใช้งบมา 42,526.29 ล้านบาท 676 โครงการ (เฉลี่ย 62.9 ล้านบาท) และแผนงาน 3.4 ที่เน้นเรื่องการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระดับชุมชน วงเงิน 60,246.27 ล้านบาท 17 โครงการ (เฉลี่ย 3,543.9 ล้านบาท)
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพหลักของแผนงานที่ 3.4 เนื่องจากวงเงินที่เสนอเข้ามาคิดเป็นประมาณ 70% ของวงเงินทั้งหมดของแผนงานดังกล่าว โดยโครงการที่เสนอขอใช้งบมามากที่สุดคือ “โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน” วงเงิน 42,236 ล้านบาท
รองลงมาคือโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 20,400 ล้านบาท, โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 จุดเรียนรู้ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ 19,387 ล้านบาท, โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 14,315 ล้านบาท โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขนาดมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร 13,423 ล้านบาท และโครงการผลิตพันธุ์ดีและปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เนื้อเยื่อ พันธุ์ปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ ไข่ไหมพันธุ์ดี) 12,045 ล้านบาท
อนึ่ง หากรวมวงเงิน 6 โครงการจะคิดเป็นวงเงิน 121,808 ล้านบาท หรือประมาณ 75% ของงบประมาณที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอของบประมาณเข้ามา
ชงงบใช้ทั่วประเทศ 126 โครงการ 4.3 แสนล้านบาท
ในแง่ของจังหวัดหรือพื้นที่ใดถูกชงของบประมาณมามากที่สุดจะพบว่า มีโครงการที่ระบุว่าทั่วประเทศหรือทุกจังหวัดจำนวน 126 โครงการ วงเงินรวม 430,499.17 ล้านบาท หรือครึ่งหนึ่งของงบประมาณที่เสนอขอมา นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณที่ถูกเสนอขอเพื่อใช้กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี อีก 36,257.25 ล้านบาท จำนวน 3 โครงการ ขณะที่สำหรับโครงกางรายจังหวัดใน 5 จังหวัดแรกที่เสนอของบประมาณมามากที่สุด ได้แก่
- กาฬสินธุ์ วงเงิน 9,542.22 ล้านบาท 2070 โครงการ
- นครศรีธรรมราช วงเงิน 9,235.51 ล้านบาท 53 โครงการ
- สกลนคร วงเงิน 7,965.32 ล้านบาท 1127 โครงการ
- เชียงราย วงเงิน 7,888.27 ล้านบาท 79 โครงการ
- ขอนแก่น วงเงิน 7,089.43 ล้านบาท 32 โครงการ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานระบุเข้ามายังมีความคลาดเคลื่อนและยากต่อการประเมินอีกค่อนข้างมาก เพราะกำหนดไว้กว้างๆ บางโครงการระบุจังหวัดไม่ชัดเจน เช่น 10 จังหวัด หรือโครงการระบุพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 9,000 หมู่บ้าน ชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทุกภาค ทุกภูมิภาค จึงอาจจะต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นรายโครงการในรายละเอียด
หลายโครงการมีคำถามฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร?
โครงการที่ระบุว่าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่เสนอของบประมาณมากที่สุดติดอันดับแรกๆ ของโครงการทั้งหมดอยู่แล้วเช่นกัน และเป็นโครงการเดียวกันกับที่นำเสนอจาก 1 ใน 3 หน่วยงานข้างต้น และเมื่อดูรายละเอียดโครงการเหล่านี้มักจะมีคำถามอีกหลายประการ
ตัวอย่างเช่น โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ วงเงิน 100,000 ล้านบาทของสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุในเอกสารว่าโครงการมีระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่สิงหาคม 2563 โดยมีเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการเพียง 110,000 ราย และมีวัตถุประสงค์ให้กู้ยืมเพื่อลงทุนและวิจัยยกระดับกิจการ อาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการสินเชื่อต่างๆ ก่อนหน้านี้หรือไม่
เช่นเดียวกับโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย วงเงิน 55,000 ล้านบาท ที่แม้ดูเหมือนจะเป็นโครงการอบรมเศรษฐกิจพอเพียง แต่ในรายละเอียดกลับเป็นโครงการสินเชื่อเป็นส่วนใหญ่ และเกินวงเงินที่ขอมาค่อนข้างมาก ซึ่งขาดรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมไปถึงว่าอาจจะซ้ำซ้อนกับโครงการก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท, สินเชื่อ New Gen HUG บ้านเกิด วงเงินสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท, โครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อรวม 30,000 ล้านบาท, สินเชื่อโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อผู้ประกอบการเกษตร วงเงินสินเชื่อรวม 40,000 ล้านบาท
โครงการไทยเที่ยวไทยไป EEC วงเงิน 26,202 ล้านบาท ของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีเอกสารประกอบเกือบ 114 หน้า ซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในการจัดเตรียม เสมือนว่าเป็นโครงการที่อยู่ในแผนงานที่จะดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อาศัยจังหวะนี้มาของบประมาณแทน รวมไปถึงว่าควรจะต้องลงทุนงบประมาณทั้งหมดไปกับเพียง 3 จังหวัดหรือไม่
นอกจากภาพรวมของโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลายแล้ว อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือโครงการขนาดเล็กต่างๆ อีกหลายหมื่นโครงการว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ และเหมาะสมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังวิกฤติโควิด-19 อย่างไร หรือเป็นเพียงการนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่นใหม่เท่านั้น อย่างโครงการก่อสร้างถนนต่างๆ ซึ่งควรจะเป็นงบประจำอยู่แล้ว หรือโครงการอย่างโครงการเศรษฐกิจจิตอาสา วิถีธรรมชาติ: เข้าวัดวันเสาร์ วงเงิน 8 ล้านบาท ของสำนักนายกรัฐมนตรี จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร
อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่า แผนงานที่ 3 ส่งเสริมการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่มีหน่วยงานใดเสนอเข้ามาเลย
cr:https://thaipublica.org/2020/06/400-billion-baht-loan-spending/