“…ตามหลักธรรมภิบาล ผู้ถือหุ้นหรือผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการ ไม่ควรเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดคุณลักษณะและจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับการว่าจ้าง และกรณีดังกล่าวยังเชื่อได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ แต่ยังรับเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จึงทำให้เชื่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ …”
ปัญหาข้อร้องเรียนการบริหารของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กำลังถูกจับตามองมากขึ้น!
เมื่อ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า นอกเหนือปัญหากรณี บุคคลที่อ้างว่าเป็นนายทหารระดับสูง ยศ “พล.อ.อ.” ทำงานในพระราชวัง ปรากฎพฤติการณ์เรียกรับเงินตอบแทนในการฝากเด็กนักเรียนจำนวน 3 ราย หัวละ 6 แสนบาท เข้ารับการศึกษาต่อในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปทุมวัน ปีการศึกษา 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้รับเรื่องร้องเรียนและทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามีมูลความผิด พร้อมส่งเรื่องให้ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงไปแล้วก่อนหน้านี้
ประเด็นการเอื้อประโยชน์จัดจ้างการตรวจวิเคราะห์โรคทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา โดยวิธีพิเศษ ของภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วงเงิน 5,000,000 บาท เมื่อปี 2557 เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูก สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เข้าทำการตรวจสอบ และพบว่ามีมูลความผิดของผู้เกี่ยวข้อง พร้อมส่งเรื่องให้ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงด้วยเช่นกัน (เอกสารระบุวันที่ 30 ก.ย.2563)
ข้อเท็จจริงในรายงานผลการตรวจสอบของ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีรายละเอียดดังนี้
หนึ่ง เมื่อปี 2557 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดจ้างตรวจวิเคราะห์โรคทางห้องปฎิบัติการพยาธิวิทยา โดยวิธีพิเศษ ของภาควิชาพยาธิวิทยา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รายการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ (ส่งตรวจไปยังหน่วยงานภายนอก) สำหรับผู้ป่วยในบางรายการ ทดสอบที่ทางห้องปฏิบัติการยังไม่ได้เปิดให้บริการเอง เป็นระยะเวลา 12 เดือน (1 ต.ค.2557 -30 ก.ย.2558 ) จำนวน 1 งาน ในวงเงิน 5,000,000 บาท
คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยฯ ที่ 3767/2557 ลงวันที่ 25 ก.ย.2557 มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย เป็นประธานกรรมการ ได้เสนอความเห็นต่อคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้จัดจ้างงานจากบริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ แมเนจเม้นท์ คอร์ป จำกัด
โดยให้เห็นเหตุผลว่า เป็นผูู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความชำนาญเป็นพิเศษ และเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างเป็นการเฉพาะโดยตรง เป็นจำนวนเงิน 5,000,000 บาท ระยะเวลาจัดจ้าง 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2557 -30 ก.ย.2558
ต่อมา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รับเรื่องร้องเรียน ระบุว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ ที่ได้รับงานว่าจ้างตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าว ประกอบกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ให้ข้อมูลเรื่องอาชีพเป็นอาชีพค้าขาย ในใบถือหุ้นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
สอง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมี รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ณรงค์ชัย ยิ่งศักดิ์มงคล เป็นประธานสอบข้อเท็จจริง
สรุปผลการสอบข้อเท็จจริง ว่า
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ ตามคำร้องจริง โดยเป็นผู้ถือหุ้น ในลำดับที่ 21 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น เลขที่หุ้น 1593501-1598500 ระบุอาชีพค้าขาย ถือหุ้นในบริษัทฯ มาตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2547 ก่อนที่จะถอนชื่อออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย เป็นผู้ลงนามขอดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 22 ก.ย.2557 ในฐานะรักษาราชการแทนหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมีหน้าที่เป็นผู้ขอดำเนินการตามระเบียบพัสดุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ยังเป็นผู้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องดังกล่าว ตลอดจนเป็นประธานจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษตามคำสั่ง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ 3767/2557 ลงวันที่ 25 ก.ย.2557
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามหลักธรรมภิบาล ผู้ถือหุ้นหรือผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ประกอบการไม่ควรเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดคุณลักษณะและจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับการว่าจ้าง และกรณีดังกล่าวยังเชื่อได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ทราบอยู่แล้วว่า ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ แต่ยังรับเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จึงทำให้เชื่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัทโปรเฟสชั่นแนล ลาโบราทอรี่ฯ
โดยมีการนำเสนอรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2559
ต่อมา ศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยรัตน์ นิรันตรัตน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้รายงานผลการสอบข้อเท็จจริงต่อ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุสาระสำคัญว่า พิจารณาหลักฐานต่างๆ มีเหตุเชื่อได้ว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วยกระทำการอันเข้าข่ายเป็นความผิดวินัยว่าด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว)
ต่อเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2561 รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกคำสั่งแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค.2561 ถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 ตามคำสั่งมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ ที่ 2669/2561 ลงวันที่ 30 มี.ค.2561
ขณะที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่า เมื่อไม่มีข้อกำหนดห้ามข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ผู้เข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ กรณีผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยา ยังไม่มีมูลรับฟังได้ว่ากระทำการอันเข้าข่ายอันเป็นการกระทำผิดวินัย และในการร้องเรียนนี้ ผู้ร้องเรียนมิได้เปิดเผยชื่อ จึงไม่อาจเรียกมาให้ถ้อยคำหรือแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างหรือกรรมการจัดจ้างจะมีการทุจริตหรือเรียกหาผลประโยชน์หรือกระทำการโดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่บริษัท โปรเฟสชั่นแนลฯ ผู้เข้าทำการเสนอราคากับรัฐ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงมิได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและได้พิจารณายุติเรื่องแล้ว
อนึ่ง เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีประกาศฯ กำหนดตำแหน่งตามมาตรา 100 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กำหนดให้ตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัย คณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้กำหนดข้อห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่มีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยตามข้อ 7 ของ ข้อบังคับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่าด้วยการดำนินการทางวินัย พ.ศ.2560
สาม ข้อพิจารณาของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท โปรเฟสชั่นแนลฯ โดยเป็นผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 21 ถือหุ้นจำนวน 5,000 หุ้น เลขที่หุ้น 1593501-1598500 ระบุอาชีพค้าขาย
โดยถือหุ้นในบริษัท มาตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2547 ก่อนที่จะถอนชื่อออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 23 มี.ค.2559
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ยังคงมีสถานเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2559 ดังนั้น หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารงานบุคคล วินัยและการรักษาวินัย การดำนินการทางวินัย การออกจากราชการ การอุทธรณ์และการร้องทุกข์ จึงต้องอยู่ในบังคับของ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547
แม้ว่ามาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 จะมิได้ห้ามข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาถือหุ้นในบริษัท และมาตรา 100 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. (1) ได้กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี (2) ได้กำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 100 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. ดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. พศ.2542 ฉบับลงวันที่ 15 ก.พ.2544 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2555 ฉบับลงวันที่ 6 มี.ค.2555 คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น ไม่รวมถึงข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
อย่างไรก็ตาม สัญญาจัดจ้างตรวจวิเคราะห์โรคทางห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา ที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษนั้น เป็นสัญญาที่ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง การจัดทำคำสั่งทางปกครองให้เอกชนรายใดเป็นผู้ได้เข้าทำสัญญา จึงต้องอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
กรณีที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท โปรเฟสชั่นแนลฯ เสนอความเห็นต่อคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ให้จัดจ้างบริษัท โปรเฟสชั่นแนลฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ตนเองถือหุ้นอยู่มาตั้งแต่ปี 2547 และบริษัทได้เข้าทำสัญญาจัดจ้างโดยวิธีพิเศษดังกล่าว จึงเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐ มีเหตุอื่นใดนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครอง ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้นั้นจะทำการพิจารณาทางปกครองในเรื่องนั้นไม่ได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย ควรหยุดการพิจารณาเรื่องการจัดจ้างดังกล่าวไว้ก่อน และแจ้งให้คณบดีคณะแพทย์ ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ กรณีที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว แต่กลับมิได้กระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด กลับปกปิดข้อเท็จจริงและเสนอความเห็นในฐานะประธานกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้บริษัทที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นอันเข้าลักษณะมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีอำนาจจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ได้เข้าทำสัญญากับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลับศรีนครินทรวิโรฒ อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ส่งผลให้การพิจารณาทางปกครองดังกล่าวไม่เป็นกลาง และอาจส่งผลมิให้เกิดการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และยังเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 37, 39, 40 แล 42 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 อันเป็นความผิดทางวินัยอีกด้วย และอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 10 ,11 และมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
สี่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แจ้งให้สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี้นี้ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย รวมไปถึง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีนีั้ ให้ได้ข้อยุติภายใน 30 วัน ตลอดจนชะลอและทบทวนการนำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในรายของ รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล จนกว่าผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้ข้อสรุปอันเป็นที่ยุติ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีกหนึ่งวาระ ตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค.2563 เป็นต้นไป (ดูประกาศท้ายเรื่อง)
ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ที่ยังไม่มีคำชี้แจงเป็นทางการจากผู้เกี่ยวข้อง คือ สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ กับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงนันทนา ชุมช่วย รวมไปถึง รองศาสตราจารย์ ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ผลยุติเรียบร้อยเป็นทางการ ตามที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่?
อนึ่ง ผลการสอบสวนกรณีนี้ ยังอยู่แค่ในชั้นการตรวจสอบของสำนักงานงานผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้น ผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้ถูกชี้มูลความผิดทางอาญาจากหน่วยงานตรวจสอบ อาทิ สำนักงาน ป.ป.ช. แต่อย่างใด
Cr : https://www.isranews.org/article/investigative/investigate-procure/94430-investigative00-21.html