‘ประหยัด พวงจำปา’ รองเลขาฯ ป.ป.ช. เดินหน้าฟ้องกลับ ‘พล.ต.อ.วัชรพล-สุภา-อสส.’ กล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตาม ม.157 เหตุกระบวนการไต่สวนคดียื่นบัญชีเท็จทำไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ม.158 ประกอบ ม.43
จากกรณีอัยการสูงสุด (อสส.) มีคำสั่งฟ้องนายประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดนายประหยัด จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ วงเงินรวม 227,393,103 บาท โดย อสส.รับดำเนินการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 มาตรา 158 มาตรา 43 มาตรา 81 มาตรา 167 และมาตรา 188 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ก่อนหน้าที่ อสส. จะมีคำสั่งฟ้องนายประหยัด คดีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จนั้น ในเดือน ต.ค. 2563 นายประหยัดยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้เพิกถอนมติการชี้มูล อย่างไรก็ดีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันมติเดิม นายประหยัด จึงฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และนายวงศ์สกุล กิตติพรหมพงศ์ อสส. ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวหาว่ากระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
กรณีนี้นายประหยัด กล่าวอ้างว่า กระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการโดยมิชอบ เนื่องจากในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 158 นั้น หากพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 42 ประกอบมาตรา 43 โดยอนุโลม คือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน หากพบว่ามีการกระทำผิดต้องส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้แก่อัยการสูงสุด (อสส.) ดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
นายประหยัด อ้างอีกว่า กระบวนการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายหลังชี้มูลความผิดแล้ว มีการส่งสำนวนให้แก่ อสส. เพื่อฟ้องศาลฎีกาฯเลย ไม่ผ่านประธานวุฒิสภาก่อน ดังนั้นจึงเป็นกระบวนการที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั่นจึงนำไปสู่การฟ้อง พล.ต.อ.วัชรพล น.ส.สุภา และนายวงศ์สกุล ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายประหยัด พวงจำปา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินอันเป็นเท็จ วงเงินรวม 227,393,103 บาท และส่งสำนวนให้แก่ อสส. อย่างไรก็ดีนายประหยัด ได้แถลงข่าวชี้แจงในวันเดียวกัน ยืนยันว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของภรรยา และทำการยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมไปแล้ว ดังนั้นการดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้ง และดำเนินการไม่ชอบหลายประการ ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ตน ส่วนข่าวที่พาดพิงว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับบางคดีนั้น คดีเหล่านั้นยังไม่มีข้อยุติ
สำหรับ พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 มาตรา 42 ระบุว่า ให้กรรมการมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อประธานวุฒิสภา โดยให้นำความในหมวด 5 การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มาตรา 105-113 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม โดยให้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นอำนาจของประธานวุฒิสภา ให้ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อนเสนอประธานวุฒิสภาพิจารณา
ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการตรวจสอบบัญชีตามวรรคหนึ่ง และให้นำความในมาตรา 34 มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของประธานวุฒิสภาในกรณีนี้ด้วยอนุโลม
คู่สมรสตามวรรคหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 102 วรรคสองมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
มาตรา 43 ในกรณีที่ปรากฎว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการที่กรรมการผู้ใดจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อประธานวุฒิสภา หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สิน ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป ทั้งนี้ให้นำความในมาตรา 73 และมาตรา 81 มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม
ส่วนมาตรา 158 ระบุว่า ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการกองขึ้นไป ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน พนักงานไต่สวน หัวหน้าพนักงานไต่สวน และพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งและหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งทรัพย์สินที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน ในการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล และเป็นการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดระเบียบมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีและหนี้สินเป็นการเฉพาะได้
ให้นำความในมาตรา 43 มาใช้บังคับกับการดำเนินคดีกับบุคคลตามวรรคหนึ่งด้วยโดยอนุโลม
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายประหยัด จาก https://thaipublica.org/
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94320-isranews-708.html