ใช้โมเดลเดียวกัน จัดซื้อรถบัสทหาร 323 ล. อ้างสืบราคากลาง 6 ราย กลุ่มเดิมอีกแล้ว

160

โมเดลเดียวกรณีจัดซื้อลอต 52 คัน 233.4 ล้าน ! รถบัสปรับอากาศแบบที่ 7 ปีงบฯ 62 – 20 คัน 90 ล้าน ขส.ทบ. เอกสารสืบราคากลางอ้างแหล่งที่มาจากเอกชน 6 ราย บ.อิทธิพรฯกับพวกมีชื่อด้วย – ปริศนา 72 คัน 323.2 ล้าน แยกจัดซื้อ 2 ครั้ง

การจัดซื้อรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ปรับอากาศ แบบที่ 7 ปีงบประมาณ 2562 จำนวน 20 คัน ราคา 89.8 ล้านบาท จากวงเงิน 90 ล้านบาท กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) โดยบริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด เป็นคู่สัญญา เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2562 (สัญญาเลขที่ 51/2562) ตามที่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานก่อนหน้านี้

ล่าสุดพบว่า กระบวนการจัดทำราคากลางไม่มีความแตกต่างกับกรณีจัดซื้อจำนวน 52 คัน ราคา 233,480,000 บาท ที่บริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด เป็นผู้ชนะและ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562 (สัญญาเลขที่ 39/256)

ทั้งนี้พบว่า กรณีจัดซื้อ 20 คันในวงเงิน 90 ล้านบาท ขส.ทบ.อ้างแหล่งที่มาราคากลาง (ราคาอ้างอิง) อ้างว่า ดำเนินการสืบราคาจากผู้มีอาชีพขาย ณ วันที่ 29 มิ.ย.2561 จำนวน 6 ราย คือ

1. บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด

2.บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด

3.บริษัท ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ จำกัด

4.บริษัท เพาว์เวอร์พลัส คอร์ปอเรชัน จำกัด

5.บริษัท เอส.เอ.ออโต้บอดี้ เซอร์วิส จำกัด

6.ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท (ดูเอกสาร)

ซึ่งการสืบราคากลางในการจัดซื้อจำนวน 20 คันโดยอ้างเอกชน 6 รายดังกล่าว เหมือนกับกรณีการจัดซื้อ จำนวน 52 คัน เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2562 (ดูเอกสาร)

เห็นได้ว่า การจัดซื้อ จำนวน 20 คัน และ 52 คัน (รวม 72 คัน ราคา 323,280,000 บาท จากวงเงิน 324 ล้านบาท) เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ,กระบวนการจัดซื้อ , สืบราคากลางจากเอกชน และผู้เสนอราคา เหมือนกัน

นอกจากเงื่อนปมดังกล่าว เหตุใดจึงแบ่งการจัดซื้อเป็น 2 ครั้ง ? (เหมือนกรณีการจัดซื้อปีงบฯ 2563 จำนวน 2 ครั้ง 112 คัน)

สำหรับข้อมูลเงื่อนปมของเอกชนทั้ง 6 รายที่ถูกอ้างอิงว่าเป็นแหล่งที่มานั้น สำนักข่าวอิศรารายงานแล้วว่า

1.เอกชน 3 ราย ได้แก่ บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด ,ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท และ บริษัท ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ จำกัด มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน อาทิ ผู้รับมอบอำนาจในการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเป็นบุคคลคนเดียวกัน

2.เอกชน 3 รายดังกล่าว ได้แก่ บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.ไอ.พี.ออโต้พาร์ท และ บริษัท ยูนิเทค แอสโซซิเอทส์ จำกัด ต่อมาถูกอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางในการ จัดซื้อรถยนต์โดยสารแบบที่ 7 (แบบเดียวกัน) ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2 สัญญา 112 คัน 504 ล้านบาทด้วยเช่นกัน

3. ขณะที่ เอกชนอีก 3 ราย คือ บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอส.เอ.ออโต้บอดี้ เซอร์วิส จำกัด และบริษัท เพาว์เวอร์พลัส คอร์ปอเรชัน จำกัด ต่อมาในปีงบประมาณ 2563 มีชื่อในกระบวนการจัดทำคุณลักษณะเฉพาะ (สเปก) ในการประกวดราคาจัดซื้อ จำนวน 2 สัญญา 112 คัน 504 ล้านบาท โดยบริษัท อิทธิพรอิมปอร์ต จำกัด เป็นตัวแทน ยี่ห้อ HINO รุ่น RK8JSLA ,บริษัท เพาว์เวอร์ พลัส คอร์ปอเรชัน จำกัด ตัวแทน ยี่ห้อ DAEWOO ,บริษัท เอส.เอ.ออโต้บอดี้ เซอร์วิส จำกัด ตัวแทนยี่ห้อ ธงตง

4. รายบริษัท เพาว์เวอร์ พลัส คอร์ปอเรชัน จำกัด ถูกตั้งคำถามว่า มีศักยภาพ และ เป็นตัวแทนยี่ห้อจริงหรือไม่ เนื่องจาก จดทะเบียนวันที่ 13 มี.ค. 2558 ทุน 1 ล้านบาท เป็นทาวน์เฮาส์ที่พักอาศัย ไม่ใช่ร้านขายอะไหล่ เมื่อตรวจสอบงบการเงินพบมีรายได้ปีละ 1,600 บาท

ส่วนบริษัท เอส.เอ.ออโต้บอดี้ เซอร์วิส จำกัด ที่ตั้งเป็นอู่ซ่อมยานพาหนะของทหาร

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/93841-report-24.html

- Advertisement -