“…กระบวนการทำงานตามภาพข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นการทำงานที่มีพัฒนาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะการเปิดรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการในฐานะกลไกการพัฒนาของรัฐต่อการร่วมกันกำหนดสถานะของปัญหาจากข้อมูลการเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทยภาคใต้ ซึ่งชี้ชัดว่าเศรษฐกิจของภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร แนวโน้มการคาดการณ์อนาคตและข้อเสนอบนฐานการพัฒนาที่เป็นข้อต่อ หรือ จุดเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ รวมถึง มิติการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งทางสังคม การศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและที่สำคัญที่สุดในครั้งนั้น คือ การเห็นร่วมกันว่าจะพัฒนาภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การกินดี อยู่ดี ได้อย่างไร บนเงื่อนไขที่ทับซ้อนกันระหว่างปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง คุณภาพชีวิตและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่จะต้องเดินคู่ขนานกันไป…”
ตามที่ปรากฏบทความออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 หัวข้อ “5 คำถามต่อเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา” (https://www.isranews.org/article/isranews-article/93484-jana.html) มี ดร. เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นผู้เขียนบทความ และส่วนหนึ่งของบทความได้มีการกล่าวถึง การกล่าวอ้างถึงผลประโยชน์ของโครงการต่อส่วนรวมดังกล่าว โดยปราศจากข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนข้อสรุปข้างต้น ทำให้เกิดคำถามที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่
ประการแรก เหตุใดคณะรัฐมนตรีจึงมีมติ “เห็นชอบ” ในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการที่ตามมา เช่น การปรับปรุงผังการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ 3 ตำบล โดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการต่อส่วนรวมที่ชัดเจนก่อน
ประการที่สอง โครงการจะทำให้เกิดการจ้างงาน 100,000 ตำแหน่งจริงหรือไม่ และจะเกิดประโยชน์แก่แรงงานในพื้นที่จริงหรือไม่
ประการที่สาม นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีความจำเป็นจริงหรือไม่
ประการที่สี่ โครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร
และประการสุดท้าย โครงการสร้างสันติสุขได้จริงหรือ (รายละเอียดของบทความข้างต้น สืบค้นได้จาก https://tdri.or.th/2020/10/chana-industrial-estate/)
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยรับผิดชอบการดำเนินการเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มแรก ขอขอบพระคุณที่ท่านได้กรุณาให้ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะทำให้โครงการมีความรอบคอบและเกิดสัมฤทธิ์ผลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะความพยายามในการสร้างเศรษฐกิจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีการเจริญเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่ปัญหาการย้ายถิ่นฐานประชากรเพื่อไปประกอบยังภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย/ในประเทศมาเลเซีย/ประเทศอื่น ๆ ซึ่งถือว่า “เป็นการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าของพื้นที่” ไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง เรื่องดังกล่าว ส่งผลให้การทำหน้าที่ของครอบครัวของประชาชนในพื้นที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากบุคคลในครอบครัวที่อยู่ในวัยแรงงานจำเป็นจะต้องเดินทางไปทำงานเพื่อหารายได้ช่วยเหลือจุนเจือครอบครัว หลายครั้งต้องถูกจับกุมในข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ ไม่มีใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ เช่นที่ปรากฎตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์หลายต่อหลายครั้ง ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากตลาดแรงงานในพื้นที่ไม่ได้มีมากเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐเขตติดต่อในประเทศมาเลเซียกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในขณะที่ เศรษฐฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีลำดับจังหวัดที่ประชาชนมีรายได้ครัวเรือนต่ำสุด ติดอันดับ 1-10 แทบทุกปี และบางปีก็ได้รับการจัดลำดับ “รายได้ครัวเรือนต่ำที่สุดในประเทศ” ติดต่อกัน ซึ่งทั้งปวงล้วนเป็นผลกระทบจากปัญหาการว่างงาน ขาดโอกาสการขึ้งงานเนื่องจากข้อจำกัดตลาดแรงงานในพื้นที่ที่มีค่อนข้างจำกัดมาก สำทับด้วยปัญหารายได้ของอนุภูมิภาคที่พึ่งพาสินค้าเกษตรหลักของพื้นที่ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน รวมไปถึง ภาคการประมง เป็นต้น หดตัวลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง เกี่ยวเนื่องไปถึงผลกระทบจากรายได้ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่หดตัวลงจนติดลบและยังไม่มีทางออกใดใดเพื่อจะเป็นการแก้ไข หรือ การบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ กอปรกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล เป็นพื้นที่ที่กระทบต่อเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ผลกระทบด้านความมั่นคงเท่านั้น มิติด้านสังคมก็เป็นปัญหาไม่แพ้กัน นอกเหนือจากปัญหาการว่างงานและการเคลื่อนย้ายแรงงานตามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงมีปัญหาทางด้านการศึกษา (การเรียนทางสายศาสนาและไม่สามารถเข้าสู่งานอาชีพได้) ปัญหาการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น ท้องที่ และปัญหาสุขภาพและสาธารณสุข รวมไปถึง อนามัยแม่และเด็กที่ถือเป็นปัญหาพื้นฐานของประชาชน ดังเช่น ปัญหาสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก ปัญหาการเสียชีวิตของเด็กจากโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการให้วัคซีน ปัญหาภาวะทุพโภชนาในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก ปัญหาของโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และปัญหาโรคติดต่ออื่น ๆ อาทิ โรคเรื้อน เป็นต้น โดยพบว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงประสบปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการขยายตัวของปัญหาในวงกว้างมากขึ้น
ปัญหาข้างต้น ล้วนมีผลความเชื่อมโยงมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่กระทบจากเหตุการณ์ความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นรากเหง้าของปัญหาที่ยังคงมีอยู่จริงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เชื่อมโยงกันอยู่อย่างแนบชิดและส่งผลกระทบต่อกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นการมองสภาพปัญหาแบบองค์รวมและต้องสร้างกลไกการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ทั้งมิติงานด้านการพัฒนาและมิติงานด้านความมั่นคงบนฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนต่อประเด็นข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยข้างต้น ศอ.บต. ขอเรียนชี้แจงเป็นรายประเด็นตามข้อมูลการทำงานที่เกิดขึ้นจริง ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่หนึ่ง
ศอ.บต. ขอเรียนชี้แจงว่า การขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เริ่มจากการเสนอรูปแบบการพัฒนาใหม่ที่กำหนดสถานะให้อำเภอใดอำเภอหนึ่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นศูนย์กลางการพัฒนาของพื้นที่ เพื่อให้เมืองต้นแบบได้รับ การพัฒนาจนสามารถเจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองหลักในเมืองข้างเคียง การทำงานร่วมกันในเวลานั้น มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน (ระดับส่วนกลาง ภูมิภาคและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้) และภาคประชาชนร่วมกันพัฒนาแนวคิดและข้อเสนอของโครงการขึ้น จนนำไปสู่การประชุมของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559 มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (สมัยนั้น) เป็นประธานที่ประชุมฯ มีคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามโครงสร้าง กรอ. เข้าร่วมประชุมฯ พร้อมกัน ณ ศาลากลาง จังหวัดนราธิวาส นำไปสู่การเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 มติคณะรัฐมนตรีในครั้งนั้นได้มอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ชื่อเดิม/สศช.) ร่วมกับ ศอ.บต. และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดทำรายละเอียดของโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามลำดับ
ตามแผนปฏิบัติการแนบท้ายเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีข้างต้น กำหนดสถานะการพัฒนาเมืองต้นแบบ ไว้ในระยะแรก 3 เมือง ประกอบด้วย อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กำหนดให้เป็น “เมืองต้นแบบการพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน” อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กำหนดให้เป็น “เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมผสมผสาน” และอำเภอสุไหงโกลก กำหนดให้เป็น “เมืองการค้าชายแดนระหว่างประเทศ” โดยมีอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นเมืองต้นแบบคู่ขนานการพัฒนาที่เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับทั้ง 3 เมืองต้นแบบเพื่อให้เมืองจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นศูนย์กลางในระดับอนุภูมิภาคใต้ตอนล่าง
ต่อมาคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 จึงมีมติเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามแผนปฏิบัติการที่เสนอพร้อมกับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมนี้ ได้กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามที่นายกรัฐมนตรี มอบหมาย เป็นประธานอนุกรรมการ มี ศอ.บต. เป็นฝ่ายเลขานุการ และมีองค์ประกอบการทำงานของหลายภาคส่วนในอนุกรรมการทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ได้มีการรายงานผลการดำเนินการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบฯ ให้กับคณะรัฐมนตรี รับทราบอย่างต่อเนื่องพร้อมกับรายงานปัญหา อุปสรรคและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้การทำงานทุกเรื่องสามารถเดินหน้าต่อไปได้อันจะทำให้โครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามที่เสนอคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน การจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณานั้น เริ่มต้นอย่างจริงจัง เมื่อเดือน มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ตามลำดับการดำเนินการบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลากหลายช่องทางการสื่อสารและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ดังต่อไปนี้
ภาพ 1 กระบวนการทำงานและระยะเวลาภายใต้การขับเคลื่อนงานเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เมืองต้นแบบที่ 4 เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
กระบวนการทำงานตามภาพข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นการทำงานที่มีพัฒนาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเฉพาะการเปิดรับฟังความคิดเห็นของส่วนราชการในฐานะกลไกการพัฒนาของรัฐต่อการร่วมกันกำหนดสถานะของปัญหาจากข้อมูลการเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทยภาคใต้ ซึ่งชี้ชัดว่าเศรษฐกิจของภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร แนวโน้มการคาดการณ์อนาคตและข้อเสนอบนฐานการพัฒนาที่เป็นข้อต่อ หรือ จุดเชื่อมโยงไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ รวมถึง มิติการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งทางสังคม การศึกษา ทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและที่สำคัญที่สุดในครั้งนั้น คือ การเห็นร่วมกันว่าจะพัฒนาภาคใต้และจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่การกินดี อยู่ดี ได้อย่างไร บนเงื่อนไขที่ทับซ้อนกันระหว่างปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง คุณภาพชีวิตและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่จะต้องเดินคู่ขนานกันไป รวมทั้ง การคาดการณ์สถิติตัวเลขหลังการพัฒนาพื้นที่ รวมไปกับการประเมินสภาวะการณ์ต่าง ๆ ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นไปสู่การพัฒนาในมิติอื่น ๆ รอบด้านตามแนวทางอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเรื่องดังกล่าว ก็ได้มีการนำเสนอในเวทีภาคประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผ่าน กลไกการทำงานโดยประชาชนในพื้นที่ที่เป็นตัวหลักสำคัญการทำงานเรื่องนี้
ดังนั้น กรณีการจัดทำข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอเรื่อง การขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าอแห่งอนาคต” นั้น จึงเป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามแผนปฏิบัติการเดิมมิใช่การอนุมัติเป็นหลักการแบบลอยมาเข้าคณะรัฐมนตรีตามที่ภาคประชาสังคมนำเสนอข้อมูลต่อสื่อมวลชน ในขณะเดียวกัน หากเปิดมติคระรัฐมนตรีข้างต้น ก็จะพบว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเป็นเพียงหลักการไว้เท่านั้น ส่วนการดำเนินการตามมติ จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และนำความเห็นของส่วนราชการไปเพื่อดำเนินการด้วย กรณีของการศึกษาต้นทุนและผลประโยชน์ของโครงการต่อส่วนรวมนั้นตามที่มีการเสนอนั้น ก็จะต้องไปดำเนินการภายหลังที่คณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบเป็นหลักการไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นกระบวนการปกติที่สากลประเทศได้ดำเนินการกันมา ดังเช่นในขณะนี้การพัฒนาตามข้อเสนอทั้ง ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือพาณิชย์เพื่อการขนส่งและการท่องเที่ยว ศูนย์กลางพลังงาน สวนอุตสาหกรรมเป้าหมายและ Smart City อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้และสอดคล้องกับกฎหมายที่กำกับการศึกษาว่าการพัฒนาเรื่องใดต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report: EIA) และเรื่องใดต้องการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health impact Assessment: EHIA) โดยผลการศึกษาเป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และ ศอ.บต. ก็ต้องทำหน้าที่รายงานผลความก้าวหน้า ปัญหาและอุปสรรคให้กรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ กพต. และคณะรัฐมนตรี ทราบอย่างต่อเนื่องและพิจารณาในบางประเด็นที่จำเป็นจะต้องเร่งรัดแก้ไขเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยสูงสุด
ทั้งนี้ ในความเห็นแนบท้ายของส่วนราชการ นั้น ระบุชัดเจนว่า “ควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์โครงการเมืองต้นแบบฯ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ตั้งแต่ระยะเริ่มโครงการเมืองต้นแบบฯ” ซึ่งก็เป็นการทำงานส่วนแรกตามที่ ศอ.บต. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบต้องไปดำเนินการเป็นการเบื้องต้นตามอำนาจในพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน มิได้เป็นอย่างอื่น
ประเด็นที่สอง
ศอ.บต. ขอเรียนชี้แจงว่า โครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าอแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ให้ความสำคัญกับการพัฒนาของภาคเอกชนเป็นหลักเนื่องจากความพร้อมและศักยภาพที่เป็นต้นทุนของภาคเอกชน โดยมีหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่บริหารจัดการและอำนวยความสะดวกตามกฎหมาย (ที่มิใช่การเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนตามที่มีการกล่าวหา) เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกกล่มเป้าหมาย
ทั้งนี้ การทำงานหลายปีที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของการเป็นพื้นที่ความมั่นคง นั้นคือ ขาดนักลงทุนภาคเอกชนเข้าไปร่วมพัฒนาพื้นที่ ไม่ใช่เพียงเพราะเหตุของการขาดความไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์และความปลอดภัยของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขาดการพัฒนาแบบมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนโดยเฉพาะการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในระดับมหภาค ทำให้ทิศทางการพัฒนาไม่มีความชัดเจน รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่จะทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวเนื่องสามารถไปด้วยกันได้ ครอบคลุมกลุ่มประชากร ทั้งในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ มัธยมศึกษา หรือ ต่ำกว่า รวมไปถึง กลุ่มประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ เพื่อให้ดอกาสกับคนทุกกลุ่ม ทุกวัยเข้าสู่การทำงานเพื่อให้มีอาชีพและมีรายได้ที่สามารถจุนเจือช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้
ดังนั้น การจ้างงานในที่นี้ตามที่มีการกล่าวถึง จำนวน 100,000 อัตรา เป็นการรายงานทางการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ตามที่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าหากเกิดการลงทุนในภาคการผลิตของอุตสาหกรรมในพื้นที่ของโครงการเมืองต้นแบบฯ คาดการณ์ว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมรายใหญ่ ประมาณ 50 ราย การลงทุนดังกล่าว จะทำให้เกิดการจ้างงานโดยตรงในโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ ประมาณ 25,000 คน ตัวเลขจำนวนนี้ไม่รวมการจ้างงานที่จะเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่โครงการ เช่น เมื่อเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากยางพารา อุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมผลิตสินค้าจากปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง ฯลฯ อุตสาหกรรมเหล่านี้จะทำให้เกิดความต้องการวัตถุดิบที่ต้องใช้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตในห่วงโซ่ เช่น ภาคการประมง ภาคเกษตรกรรม และโดยที่ ศอ.บต. ได้มีการประชุมหารือร่วมกับสภาเกษตรกรทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเกี่ยวโยงการทำงานภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคการเกษตรที่มีจำนวนสมาชิกสภาเกษตรกว่าล้านคนที่จะได้ประโยชน์จากการทำการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากการขาดตลาดรองรับซึ่งเป็นทิศทางการทำงานที่ควรจะส่งเสริมให้เกิดขึ้นจริงจัง เป็นรูปธรรมภายใต้แนวทางการตลาดนำการผลิต รวมถึง ภาคบริการจะต้องขยายกำลังการผลิตเป็นจัดหาวัตถุดิบมาป้อนให้แก่อุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการ ความเชื่อมโยงเหล่านี้ จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดการจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้นได้เป็นจำนวนมากมายหลายเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบเฉพาะกับการจ้างงานโดยตรงของอุตสาหกรรมในพื้นที่โครงการ ตัวเลขการคาดการณ์การจ้างงานโดยรวมที่จะเกิดขึ้นตลาดห่วงโซ่อุตสาหกรรมจำนวนประมาณ 100,000 รายนั้น เป็นการคาดการณ์ตามสถานการณ์กลางๆ บนข้อสมมติฐานที่ผู้ศึกษาได้กำหนดไว้แต่เชื่อมั่นว่า ทุกส่วนราชการภายใต้แนวทางการพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนจะทำให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนทั่วไป สามารถได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างเท่าเทียม เป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประเด็นที่สาม
การพิจารณาว่า “สวนอุตสาหกรรมจะนะ” ในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีความจำเป็นจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ของภาคใต้ ซึ่งจากข้อมูลที่เกริ่นนำไว้ข้างต้นจะเป็นได้ว่าภาคใต้โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจหรือปัญหาความยากจนมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมและคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน กอปรกับพื้นที่ขาดตัวต่อการทำงานในรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจดังกล่าวนั้น จำเป็นจะต้องเริ่มจากปัจจัยทางเศรษฐกิจคือ “ต้องมีการลงทุนเพิ่ม” เพราะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดรายได้ แต่การลงทุนเพิ่มจะเกิดขึ้นได้นั้นผู้ประกอบการจะพิจารณาว่าภูมิภาคใดหรือพื้นที่ใดจะมีความเหมาะสม โดยจะพิจารณาทั้งในส่วนของความเหมาะสมเชิงพื้นที่ ความพร้อมของสาธารณูปโภค ความพอเพียงของวัตถุดิบ แรงงาน รวมทั้ง ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจอื่น ๆ ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้ย่อมเป็นภารกิจที่ภาครัฐจะต้องจัดเตรียมไว้ให้ (เน้นย้ำว่าไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชน) และต้องยอมรับว่าหากไม่มีความพร้อมของเงื่อนไขต่าง ๆ ข้างต้น การลงทุนเพิ่มก็จะไม่เกิดขึ้นและก็จะไม่สามารถสร้างงานอาชีพและรายได้ให้เกิดขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายถึง ปัญหาทางเศรษฐกิจของภาคใต้ซึ่งเป็นสาเหตุหลักและนำไปสู่การเกิดขึ้นของปัญหาด้านอื่น ๆ ตามมาอีกหลายประการ ก็จะไม่สามารถได้รับการแก้ไข ดังนั้น หากภาครัฐมีเป้าหมายชัดเจนที่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของภาคใต้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็จะไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีความจำเป็น และโครงการเมืองต้นแบบฯ ก็เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรม และประการที่สำคัญคือเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน ทำให้ไม่เป็นการสร้างภาระการจัดหางบประมาณเป็นจำนวนมากให้กับภาครัฐแต่อย่างใด
ในส่วนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมในพื้นที่จังหวัดสงขลานั้นเป็นสิ่งที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพื้นที่อุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าโครงการนิคมอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ (จะเกิดขึ้นใหม่) ที่ดำเนินการโดยภาครัฐนั้นจะได้รับการตอบสนองจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้อยกว่าโครงการพื้นที่อุตสาหกรรมที่ดำเนินการและบริหารงานโดยภาคเอกชน เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ประกอบการอุตสาหกรรมที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาที่ดำเนินการโดยภาครัฐนั้นถือเป็นพื้นที่จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบการพื้นที่การพัฒนาของโครงการเมืองต้นแบบฯ เป้าหมายกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมของโครงการเมืองต้นแบบฯ ก็มุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ซึ่งไม่ทับซ้อนกับกลุ่มเป้าหมายของโครงการนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม (และไม่ใช่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีการกล่าวอ้างว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่อุตสาหกรรม) ในขณะเดียวกัน หากมีการแข่งขันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การลงทุนของภาคเอกชนเรื่องนี้ ก็จะเป็นเงื่อนไขและปัจจัยผลักดันให้โครงการพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมของภาครัฐต้องปรับตัว พัฒนาการดำเนินงานและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นย่อมเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวมมิใช่เป็นผลเชิงลบแต่ประการใด
สำหรับประเด็นข้อห่วงใยเกี่ยวกับการสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีจากอุตสาหกรรมที่เข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่โครงการ การพิจารณาในทางวิชาการโดยเฉพาะในทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์นั้นควรจะพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างมีโครงการกับไม่มีโครงการ เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นอุตสาหกรรมที่เข้ามาใหม่ มิใช่อุตสาหกรรมที่ย้ายโรงงานมาจากพื้นที่อื่น ดังนั้น หากไม่มีการพัฒนาโครงการรัฐก็จะไม่มีฐานการเก็บภาษีตั้งแต่เดิมอยู่แล้ว จึงไม่สามารถกล่าวอ้างได้ว่าการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีแก่อุตสาหกรรมที่จะเข้ามาตั้งในพื้นที่โครงการทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าว
รัฐบาลส่งเริมการลงทุนโดย BOI เป็นนโยบายชัดเจนที่รัฐบาลกำหนดมาโดยเฉพาะให้แก่ผู้ลงทุนในเขตสี่จังหวัดนี้เดิมอยู่แล้ว โครงการจะนะ เกิดขึ้นในพื้นที่เดิมตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐ การผลิตสินค้าในพื้นที่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีโรงเรือน ตามกฎหมาย ไม่ได้รับการยกเว้นในส่วนนี้ มูลค่าภาษีที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามสัดส่วนการลงทุนของเอกชนที่จะเข้ามาในพื้นที่ และมีส่วนที่ท้องถิ่นสามารถนำมาบริหารเองได้อยู่แล้ว ภาษีที่เข้าส่วนท้องถิ่นมีมูลค่าเกินพันล้านบาทต่อปี จะช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสามตำบลที่เป็นที่ตั้งของโครงการอย่างแน่นอน
ประเด็นที่สี่
ต่อคำถามที่ว่าโครงการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร ในเบื้องต้นนั้นจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการพัฒนาในหลายๆ ด้าน มิใช่เกิดจากการพัฒนาเพียงด้านใดด้านหนึ่ง อาทิ
• การพัฒนาทุนมนุษย์หรือ Human Capital ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่มิอาจปฏิเสธได้ ภาครัฐจำเป็นต้องวางแผนพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการศึกษาอบรม การฝึกฝนทักษะในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีทักษะหรือเป็น Skilled Labor มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
• การพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้มีสุขภาพอนามัยที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย ลดโอกาสเกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัย และได้รับบริการด้านสุขภาพอนามัยที่ดี
• การพัฒนาด้านกฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่บังคับใช้ในสังคม ให้สามารถตอบสนองความเป็นอยู่ในสังคมอย่างสงบเรียบร้อย
• การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เป็นฐานการผลิตและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น
• การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมไปยังภาคการผลิต ผ่าน เศรษฐกิจฐานราก ไม่ใช่เพียงเรื่องการเกษตรกรรม ยังรวมถึง งานบริการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งธุรกิจที่พักอาศัย โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่รอบข้าง ครอบคลุมถึง จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ ธุรกิจการศึกษาที่สามารถพัฒนาได้อย่างหลากหลายเพื่อให้เท่าเทียมกับประเทศมาเลเซียที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์สังคมคล้ายคลึงกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังขาดการพัฒนาอีกหลายเท่าตัว เฉพาะบริเวณข้างเคียงรัฐติดชายแดนประเทศไทย ก็มีการพัฒนาพื้นที่ Northern Corridor Economic Region ที่รัฐเคดาะห์ และ East Coast Economic Region ไปพร้อมกันด้วยแล้ว
• การพัฒนาโครงสร้างพื้นต่าง ๆ เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง
• การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาและปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่มนุษย์ได้ตลอดไป
จะเห็นได้ว่าการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบฯ เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับอนุภูมิภาคที่ขาดการพัฒนา หรือ เติมเต็มจากภาครัฐตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมไปถึง เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอันเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะมิติการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขการว่างงานและการอพยพเพื่อไปประกอบอาชีพแรงงานในภูมิภาคอื่นของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง ดังนั้น เมื่อมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ชักนำให้มีการเข้ามาลงทุนในพื้นที่โครงการ ย่อมจะทำให้เกิดการจ้างงาน อาชีพและการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนที่เป็นการจ้างงานโดยตรงและในส่วนที่เป็นผลจากความเชื่อมโยงทางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เหล่านี้จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนที่เป็นอยู่ในพื้นที่ได้ การบริหารจัดการการศึกษาที่บ่งบอกว่าจบแล้วจะทำงานอะไร ตลาดแรงงานคือใคร ขณะเดียวกันหากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ทำการพัฒนาในส่วนของบทบาทหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพครบระบบการทำงานที่เชื่อมโยงถึงกันตามหลักการห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาด้านกฎหมาย การกระจายอำนาจการบริหาร การริเริ่มและพัฒนาโครงการในระดับอนุภูมิภาค การจัดสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาสังคมที่ดีควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลของการพัฒนาที่เกี่ยวโยงการทำงานพัฒนาในหลายมิติคู่ขนานกันไปนั้น ก็จะทำให้สามารถไปสู่ผลลัพธ์การยกระดับคุณภาพชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ได้ในที่สุด แต่หากมีกลไก หรือ องคาพยพใด ๆ ไม่สามารถพัฒนาในส่วนใดส่วนหนึ่งได้ก็จะทำให้การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ เพียงข้อมูลว่าวันนี้ ประเทศไทยส่งตู้คอนเทรนเนอร์เพื่อไปขึ้นเรือขนส่งผ่านทางท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย ปีละไม่น้อยกว่า 6 แสนตู้คอนเทรนเนอร์ หากมีการพัฒนาตามเป้าหมายที่เกิดขึ้น จะทำให้รายได้ที่เคยสูญเสียไปตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คืนกลับสู่ประเทศไทยและก่อเกิดอาชีพ รวมไปถึง การพัฒนาใหม่ ๆ ที่ทำให้ประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนสามารถเดินต่องานอาชีพไปได้มากกว่าการละถิ่นฐานไปค้าแรงงานในต่างภูมิภาค หรือ ต่างประเทศอย่างในปัจจุบัน ดังนั้น หากไม่มีการพัฒนาใดใดเลย จะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงในชีวิตมนุษย์และสังคมซึ่งเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนนี้ มีการให้ข้อมูลในหลากหลายเวทีในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งในต่างประเทศ ว่าจะต้องมีการจ้างคนเข้าไปอาศัยในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง แต่เนื่องจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีพัฒนาที่ไม่ไปถึงนั้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนก็ควรจะเร่งร่วมมือแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง ครบถ้วนทั้งระบบ (มิใช่แก้เฉพาะส่วน ๆ จนทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงการทำงานได้) ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่ประโยชน์และความสุขของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนของจังหวัดชายแดนภาคใต้จากเงื่อนไขการขาดการดูแลของรัฐบาลและการไม่พัฒนาใดใดเลยในพื้นที่ตามที่ประชาชนโดยส่วนใหญ่เสนอการแก้ไขปัญหาให้กับรัฐบาลในหลายโอกาส รวมทั้งในข้อเสนอการวิจัยในหลาย ๆ เล่มเกี่วกับข้อเสนอการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจนและการขาดแหล่งงานและอาชีพ
ประเด็นที่ห้า (ข้อสุดท้าย)
โครงการสร้างสันติสุขได้จริงหรือ? เป็นที่ยอมรับกันว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ปัจจัยด้านการเมือง ปัจจัยเกี่ยวกับเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้ง ปัจจัยจากการแทรกแซงของต่างชาติ ดังนั้น การพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบฯ ซึ่งมีเป้าหมายหลักที่จะทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ย่อมสามารถแก้ไขเฉพาะส่วนปัญหาทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลักที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ในระดับหนึ่ง เป็นการลดสาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งการทำงานของรัฐในฐานะที่เป็นผู้บริหารและอำนวยการนั้น ก็จะสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังมิติการพัฒนาอื่น ๆ แบบคู่ขนานกันไปพร้อมกันด้วย แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ได้รับการแก้ไขได้ทั้งหมด ซึ่งคำถามในทางกลับกันหากไม่มีการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบฯ มีความหวัง หรือ แนวทางในการพัฒนายกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้และจะช่วยลดสาเหตุของความไม่สงบสุขที่เกิดขึ้นได้อย่างไรบ้างที่สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้?
ที่ผ่านมายี่สิบปี รัฐบาลพยายามให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมเพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนสนใจที่จะมาลงทุนในภาคใต้ แต่ก็ประสบปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการต่อต้านจาก NGO เสมอมา เช่น ท่าเรือสงขลา 2 ท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล ก็ไม่สามารถดำเนินการได้มากว่าสิบปี เมื่อมีเอกชนสนใจเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการในพื้นที่อำเภอจะนะนี้ จะทำให้สามารถลดความขัดแย้งในอดีตได้หลายประการ
• รัฐไม่ต้องสร้างท่าเรือมูลค่าเกินหนึ่งหมื่นล้านที่มีแผนไว้ก่อนหน้านี้ จะทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพมากขึ้น คล้ายๆ ท่าเรือแหลมฉบังในอดีต
• การลงทุนของเอกชนในการพัฒนาท่าเรือไม่มีผลตอบแทนด้านรายได้มากพอ ดังนั้นเอกชนจึงต้องพัฒนาที่ดินรอบ ๆ ท่าเรือให้มีการสร้างสวนอุตสาหกรรมที่ให้มีผลตอบแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนท่าเรือ ทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
• ปัญหาเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าในภาคใต้ เนื่องจากภาคใต้มีการผลิตไฟฟ้าไม่พอต่อการใช้งานในพื้นที่จึงต้องนำไฟฟ้าจากภาคอื่นมาใช้อยู่แล้ว การมีสวนอุตสาหกรรมเป็นกิจกรรมที่ต้องการพลังไฟฟ้าสูงมาก จึงจำเป็นที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้ในสวนอุตสาหกรรมและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับนอกพื้นที่โครงการ ช่วยให้ภาคใต้สามารถลดการพึ่งพาแหล่งไฟฟ้าจากภาคกลางที่มีการสูญเสียจากสายส่งที่มีระยะทางไกลมาก
ในขณะเดียวกัน จำเป็นมากที่การพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ต้องส่งประโยชน์และความสุขไปยังพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยนำบทเรียนและแนวทางการทำงานที่เป็นประโยชน์มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้การบริหารจัดการของหน่วยงานและกลไกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาที่ประสานศักยภาพของทุกภาคส่วนมาร่วมมือกันพัฒนาอย่างเต็มที่ ดังเช่นการเตรียมการพัฒนาคู่ขนานกันไปเพื่อสร้างคน สร้างพื้นที่และการมีส่วนร่วมที่เป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยเป็นการสร้างภาพแห่งอนาคตใหม่ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนกว่า 2 ล้านคนในจังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดปัตตานี มีงานสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการไปก่อนการพัฒนาตามข้อเสนอของโครงการเมืองต้นแบบฯ ตามข้อเสนอแผนไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในเรื่องการดูแลทุกข์สุขของพี่น้องและการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนที่เป็นแนวทาง/กิจกรรมตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น 9 เรื่องของประชาชน ซึงถือเป็นนิมิตใหม่ของการออกแบบโดยประชาชนเพื่อประชาชนในการบริหารจัดการ่วมกับภาคีหุ้นส่วนการพัฒนาในพื้นที่ งานทั้ง 10 แนวทาง/กระบวนการ ได้แก่
1. กองทุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือการพัฒนาที่สำคัญโดยให้นำผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการทางธุรกิจของภาคเอกชนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาและภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมาใช้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพและการสร้างโอกาสในชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ทุนการศึกษาเล่าเรียน ทุนโครงการพัฒนาของชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุนโครงการพัฒนาพหุสังคมที่เข้มแข็ง ทุนส่งเสริมการพัฒนาสังคม ทุนส่งเสริมภาคประชาสังคม กลุ่มสตรีและกลุ่มเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาพื้นที่ และทุนสนับสนุนงานพัฒนาสาธารณสุขและสุขภาพอนามัย ทั้งนี้ การบริหารจัดการกองทุน ขอให้นำหลักการสานพลังประชารัฐของรัฐบาลมาเป็นแนวทางการบริหารจัดการร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญและดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม
2. ศึกษาแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งระบบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรองรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและงานอาชีพให้กับนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยร่วมกับสถาบันการศึกษาทุกแห่งในพื้นที่พัฒนาหลักสูตรรองรับการเตรียมคนเข้าสู่ระบบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมต่อไป รวมทั้ง ส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีและฐานข้อมูลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทุกมิติที่เกี่ยวข้อง
3. เชื่อมโยงความต้องการการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและการบริการในพื้นที่ โดยวิเคราะห์และทำข้อมูลร่วมกับภาคเกษตรกรรมทั้งระบบในพื้นที่เพื่อป้อนวัตถุดิบทางการผลิตเข้าสู้ระบบอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันและใช้งานวิจัย/งานวิชาการ/เทคโนโลยีและอื่น ๆ สนับสนุนการผลิตทางการเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และสร้างกระบวนการทำงานโดยภาคประชาชนเป็นส่วนหลักในการสนับสนุนการทำงานภาคเอกชนเพื่อให้ประโยชน์เกิดต่อประชาชนโดยสูงสุด
4. ยกระดับงานสาธารณสุขในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียงรองรับการขยายตัวของประชากรในพื้นที่ การบริการดูแลสุขภาพอย่างเป็นระบบและครบวงจร รวมทั้ง การจัดหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนในระดับหมู่บ้านและชุมชนรอบพื้นที่ และที่สำคัญ คือ การสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขในการให้ความรู้ ให้การช่วยเหลือและปฏิบัติงานเชิงรุกในการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพสูงสุด
5. ศึกษาและวางมาตรการแนวทางการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สมดุล ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะทุกทาง ยกระดับการดำเนินการพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green City บริหารจัดการบนฐานความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากร
6. เพิ่มศักยภาพของด่านการค้าชายแดนทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีแนวทางจะทำเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บนและเขตปลอดอากร รวมทั้ง ดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่ศุลกากรเต็มระบบ ประกอบด้วย ศุลกากรตรวจสินค้า การขนส่งคอนเทนเนอร์ ด่านอาหารและยา ด่านตรวจสัตว์น้า ด่านกักกันสัตว์ ด่านตรวจพืช ด่านป่าไม้และโรงพักสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ให้พิจารณากำหนดมาตรการการคลังและการเงินอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น รวมทั้ง การเชื่อมโยงการค้าชายแดนและการค้าระหว่างประเทศและการเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา และเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ของรัฐเคด้าห์ตอนบน (Northern Corridor Economic Region: NCER) และรัฐอื่นๆ ของประเทศมาเลเซีย เช่น เขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ของรัฐเประตะวันออก (Eastern Corridor Economic Region: ECER) เพื่อให้ยกระดับการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย หรือ Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT
7. การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและที่เกี่ยวเนื่อง โดยการจัดทำ “หมู่บ้านเปี่ยมสุข” ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อจัดหาที่พักอาศัยถาวรเพื่อชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ดังนั้น ใครเดือดร้อน รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ ก็จีข้อเสนอในเรื่องดังกล่าวเปิดเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้
8. การสร้าง/พัฒนากลไก-กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะภาคีหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมออกแบบแนวทางการดำเนินงานทุกขั้นตอน การเร่งรัดติดตามและประเมินผลความสำเร็จของโครงการ ฯ ทั้งในะระยะสั้น-กลาง-ยาว โดยเฉพาะความพยายามในการกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากราชการส่วนกลางไปยังราชการส่วนภูมิภาคตามนัยมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการกระจายอำนาจการบริหารตามที่ประชาชนหลายภาคส่วนเรียกร้องให้เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา โดยการกระจายอำนาจดังกล่าว ก็ได้มีการเตรียมการสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจนั้น ๆ มาร่วมบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน ผ่าน การศึกษาวิจัยที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ เพื่อให้อำนาจและการตัดสินใจการพัฒนาพื้นที่เป็นของประชาชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน และจะเป็นการป้องกันปัญหาในเชิงการบริหารราชการแผ่นดินที่ที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแผ่นดินในระดับส่วนกลาง ทำให้การอนุมัติ การอนุญาตกระจุกที่เมืองหลวงของประเทศไทย เป็นหลัก
9. “ธรรมนูญชุมชน” ซึ่งจะเป็นการทำงานสำคัญของทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างกฎและกติกาการพัฒนาบนฐานการร่วมคิด ร่วมทำและร่วมติดตาม เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติให้กับทุกฝ่ายดำเนินการไปบนพื้นฐานของการสานประโยชน์ร่วมกัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือ การตัดตวงผลประโยชน์และนำไปสู่การทำลายอัตลักษณ์ ทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึง ข้อกังวลอื่น ๆ ของประชาชนและพื้นที่ที่จะต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยมุ่งเน้นมิติการทำงานในเชิงการป้องกันเป็นเรื่องสำคัญสุด
10. การนำความจำเป็นและความต้องการของประชาชนไปสู่การปฏิบัติ โดยนำอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 มาบังคับใช้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ที่มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว แต่ไม่เคยนำมาตรานี้มาใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมต่อการพัฒนา ประโยชน์ของการนำเรื่องนี้มาบังคับใช้ในทางกฎหมาย ย่อมจะทำให้ความจำเป็นและความต้องการของประชาชนได้รับการหยิบยกสู่แผนการพัฒนาของกระทรวง/กรม/ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมีมติของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมติคระรัฐมนตรี รองรับให้ส่วนราชการสามารถดำเนินการได้ และกำหนดให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาตามกรอบแนวทางการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็วต่อไป
บทส่งท้ายและข้อเสนอไปยังผู้เกี่ยวข้อง
คำตอบข้างต้นเป็นรายละเอียดเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่มีการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตลอดระยะเวลาการทำงานปีเศษที่ผานมา สิ่งที่รัฐและประชาชนเพียงพยายามในการสร้างคำถามกลับในส่วนขององค์กร NGO แต่ยังไม่สามารถตอบได้ คือ การพัฒนาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาในอดีตจะทำให้ความเป็นอยู่ของเยาวชนรุ่นใหม่สามารถทำมาหากินต่อไปได้อย่างไร คนรุ่นใหม่จะประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตแบบที่รุ่นพ่อแม่ทำได้หรือไม่ รายได้ที่มาจากภาคการเกษตรและประมงจะเพียงพอต่อความต้องการเพื่อดำรงสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ไว้ได้หรือไม่ การแก้ไขปัญหาคนว่างงานปีละกว่า 50,000 คน นักเรียน นักศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองวุฒิการศึกษาจะเข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างไร อาทิ นักเรียน นักศึกษาไทยที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศและไม่ได้รับการรับรองวุฒิ มีการคาดการณ์จำนวนมากกว่า 2 แสนคน และมีแนวโน้มที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น การอพยพย้ายถิ่นฐานเพื่อการประกอบอาชีพของเยาวชนที่เดินทางไปประกอบอาชีพในต่างภูมิภาคของประเทศไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะสถานการณ์ใหม่ที่พบว่ามีความพยายามในการผลักดันแรงงานไทยที่เดินทางไปประกอบาชีพ ณ ประเทศมาเลเซีย อาทิ แรงงานต้มยำกุ้ง แรงงานประมง แรงงานสวนยางและสวนปาล์มตามข้อมูลที่มีว่าเข้าเมืองถูกกฎหมายกว่า เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ในอนาคตที่ประชากรในพื้นที่ต้องเป็นผู้แบกรับด้วยตัวเองทั้งสิ้น
ในความเห็นของ ศอ.บต. และส่วนราชการที่ร่วมดำเนินการ เห็นว่าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ย่อมจะมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถือเป็นเรื่องปกติในสังคมปัจจุบัน การสนับสนุนหรือ การคัดค้านจะต้องมาจากการพิจารณาบนข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งหากพิจารณาในเชิงลึกแล้วจะพบว่า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของท่าเรือสงขลาที่ใกล้ที่สุดก็ไม่ได้ส่งผลให้การประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้านเสียหายใด ๆ โรงไฟฟ้าที่จะสร้างใหม่ก็มีการใช้ก๊าซเหมือนกับโรงไฟฟ้าจะนะในพื้นที่ ที่แทบจะไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมใด ๆ กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้า สวนอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นก็มีความคล้ายกับสวนอุตสาหกรรมโรจนะที่จังหวัดอยุธยา หรือ นิคมอุตสาหกรรมอมตะที่จังหวัดชลบุรี เป็นตัวอย่างโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ดีในเขตอุตสาหกรรมของตนเอง มีข้อร้องเรียนน้อยมาก การเสนอข้อมูลว่าสวนอุตสาหกรรมจะทำลายระบบนิเวศชายฝั่งจนทำให้ทะเลจะนะล่มสลายนั้นเป็นการวาดภาพผลกระทบเกินจริง
ที่สำคัญประชาชนในพื้นที่โครงการเมืองต้นแบบฯ เกินร้อยละ 80 ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและเห็นอนาคตของลูกหลานของตัวเองนับจากนี้เป็นต้นไป ถึงขนาดมีการรวมตัวและจัดตั้งเป็นกลุ่มสามคมกันอย่างหลากหลายเพื่อรองรับการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น กรณีข้อเสนอที่ให้ความสำคัญต่อการคัดค้านของประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับ NGO ภายนอกที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะทำให้โครงการไปต่อไม่ได้อยู่แล้วแม้ว่าการดำเนินโครงการจะดำเนินไปตามครรลองของกฎหมาย ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report: EIA) และเรื่องใดต้องการศึกษาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health impact Assessment: EHIA) ก็ล้วนแล้วแต่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอน ตามกระบวนการที่รัฐกำหนด โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นพื้นฐานสำคัญของการทำงานอยู่แล้ว ดังนั้น การรับฟังความเห็นของฝ่ายคัดค้านด้านเดียว หรือ การยอมให้มีการยกเลิกโครงการจากกลุ่มคนจำนวนน้อยที่คัดค้านทุกโครงการที่จะเกิดขึ้น เป็นบทเรียนที่ไม่มีนักลงทุนมาลงทุนในภาคใต้ตลอดเวลายี่สิบที่ผ่านมา และอาจจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกยี่สิบข้างหน้า ภาคใต้จะเป็นพื้นที่ทีมีการขยายตัวต่ำกว่าภาคอื่น ๆ ทั้งที่มีศักยภาพด้านพื้นที่ติดทะเล และพื้นที่ใกล้หรือติดกับประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาสูงกว่าภาคใต้ในทุก ๆ ด้าน แล้วจะตอบ “ปัญหาด้านความมั่นคงของมนุษย์และสังคม” ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรมนุษย์อย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อย่างไร โดยเฉพาะคำถามหลักที่ถามว่า “จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ คงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยได้อย่างไรในอนาคต” ทั้ง 2 เรื่อง ล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่อาจแยกออกจากกันได้ จำเป็นจะต้องขับเคลื่อนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน ซึ่งทั้งหมดทั้งปวง ขึ้นอยู่กับการบริหารและการรพัฒนาที่สมเหตุสมผลบนฐานความต้องการของประชาชนโดยส่วนใหญ่ของพื้นที่ที่มีข้อเสนอการพัฒนาร่วมกัน โดยมีประชาชนเป็นผู้เลือกกำหนดชะตาอนาคตของตัวเองใช่หรือไม่ และเมื่อประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นว่าเกิดประโยชน์แล้ว เพราะอะไรจึงไม่มีสิทธิกำหนดการบริหารและการพัฒนาของตนเอง เป็นคำถามที่ต้องการเสนอในอีกมุมมองของรัฐที่ต้องการให้ประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศได้รับรู้ เข้าใจและคาดหวังจะให้ความร่วมมือในระยะต่อไปด้วย เพราะเรื่องนี้ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น ยังเป็นผลประโยชน์ของคนในชาติที่จะได้รับร่วมกันจากการพัฒนาอนุภูมิภาคแต่ละแห่งให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียม เป็นธรรมบนหลักการของการมีส่วนร่วม
ในด้านความมั่นคง ก็เชื่อมั่นว่าหากได้ดำเนินการพัฒนาได้อย่างเต็มระบบ ครบถ้วนและสมบูรณ์แล้ว จะทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสุข สงบ ประชาชนมีความกินดี อยู่ดี มีความสุข หลังจากที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 แต่ยังไม่มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงมหภาคอย่างแท้จริง เนื่องจากนักอุตสาหกรรมและนักลงทุนขาดความมั่นใจในเสถียรภาพของพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ ร่วมกับขาดการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็น อาทิ ไฟฟ้า น้ำประปาการคุ้มครองและให้สิทธิประโยชน์ในเขตจังหวัดชายแดนซึ่งไม่มีความสงบซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดทั้งภายในและตลาดโลกได้ ฉะนั้น หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้ ก็จะทำให้อนุภูมิภาคใต้ชายแดน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะศูนย์กลางของภูมิภาคยิ่งใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นความหวังของประเทศและประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เศรษฐกิจฐานราก ประเพณีและวัฒนธรรม สุขอนามัยและงานสาธารณสุข การท่องเที่ยว การกระจายอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินไปยังพื้นที่ การมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ที่ทั้งหมดทั้งปวงตามที่กล่าวถึง จะเชื่อมโยงการพัฒนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อการพัฒนาพื้นที่และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-article/93588-south.html