ครม.ไฟเขียวทุมงบ 6.1 หมื่นล้าน เดินหน้าโครงการประกันรายได้ ‘ชาวนา-ชาวสวนยาง’ พร้อมมาตรการคู่ขนานพยุงราคา ช่วยเหลือค่าบริหารจัดการไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร จ.ภูเก็ต ว่า ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 และมาตรการคู่ขนาน ซึ่งมีกรอบวงเงิน 51,248 ล้านบาท และเห็นชอบโครงการประกันรายได้ชาวสวนยาง ระยะที่ 2 ซึ่งมีกรอบวงเงิน 9,945 ล้านบาท รวมกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการประกันรายได้พืชทั้ง 2 ชนิดอยู่ที่ 61,193 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 และมาตรการคู่ขนาน 3 มาตรการ รวมถึงโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพชีวิตผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต ซึ่งครอบคลุมการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ จำนวน 4.56 ล้านครัวเรือน ประกอบด้วย
1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยกำหนดราคาประกันรายได้ข้าวเปลือก 5 ชนิด (ความชื้นต้องไม่เกิน 15%) คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน ,ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน ,ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน ,ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน
2.โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 1 พ.ย.2563-31 ธ.ค.2564
3.โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/64 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ ต.ค.2563-31 ธ.ค.2564
4.โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก วงเงิน 610 ล้านบาท ปีการผลิต 2563/64 ระยะเวลาโครงการ 1 ต.ค.2563-31 ต.ค.2565
5.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท
น.ส.รัชดา ยังระบุว่า ครม.มีมติอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่
ส่วนหลักเกณฑ์โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางระยะที่ 2 จะเหมือนกับโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ,น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกก. โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) ไม่เกิน 20 กก./ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ไม่เกิน 40 กก./ไร่/เดือน
สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนก.ย.2563-ก.ย.2564 (ประกันรายได้ตั้งแต่เดือนต.ค.2563-1 มี.ค.2564
“ราคายางยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในช่วงที่ผ่านมา ขยับเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป”น.ส.รัชดากล่าว
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/93230-gov-Income-insurance-Rice-Rubber.html