‘4 นักเศรษฐศาสตร์’ ประเมินภาพเศรษฐกิจปี 64 ยังมีความเสี่ยงสูง-กำลังซื้อยังไม่ฟื้น เชื่อรัฐบาลไม่ถังแตก แต่ต้องใช้เงินให้ตรง หลังหนี้สาธารณะต่อจีพีดีใกล้แตะ 60% ของจีดีพี ด้าน ‘พิพัฒน์’ ห่วงแรงงาน 5 ล้านคนขาดรายได้ ฉุดกำลังซื้อซบยาว ขณะที่ ‘อมรเทพ’ มองส่งออกปีหน้าโต 5% แต่ให้ระวังความเสี่ยงสงครามการค้า หลัง ‘ทรัมป์-ไบเดน’ มีนโยบายสกัดจีนเติบโต
เมื่อวันที่ 8 ต.ค. สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเศรษฐกิจประจำปี TEA Annual Forum 2020 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมีหัวข้อว่า ‘อยู่เป็น อยู่รอด ผ่านโควิดไปด้วยกัน-STAYING ALIVE IN COVID WORLD’
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ ‘แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2564’ ว่า ปีนี้หลายฝ่ายมองว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 7.5-9% ซึ่งเป็นการหดตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ส่วนเศรษฐกิจไทยปีหน้าส่วนใหญ่ประมาณการว่าจะเติบโต 2.5-3% เท่านั้น เนื่องจากมีการประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ 6-9 ล้านคน เทียบกับปี 2562 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน
“ปีนี้ติดลบ 7-8% แล้วปีหน้าบวก 7-8% ได้หรือไม่ ภาพที่เราเห็น คือ ค่อนข้างยาก และจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นกลับขึ้น โดยมีปัญหาอันหนึ่ง คือ ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของจีดีพี แต่ในปี 2563 นักท่องเที่ยวหายไปเลย จากต้นปีที่มีนักท่องเที่ยว 6.7 ล้านคน คำถาม คือ แล้วปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวมากี่คน ซึ่งวันนี้หลายคนมองว่าปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยว 6-9 ล้านคน ซึ่งแตกต่างจากปี 2562 ที่มาเกือบ 40 ล้านคน การท่องเที่ยวจึงเป็นตัวดึง และส่วนใหญ่ก็มองเศรษฐกิจปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 2% ครึ่งถึงใกล้ 3% กว่าๆ” ดร.พิพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย คือ ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลยในปีหน้า เพราะวัคซีนยังไม่มี ยังไม่มีการเดินทาง และไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเดือนละไม่กี่พันคน ก็จะทำให้เศรษฐกิจปีหน้าอาจไม่เติบโตเลยก็ได้ ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจึงมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง
ดร.พิพัฒน์ ยังกล่าวว่า แม้ว่าไทยจะเป็นไม่กี่ประเทศที่ควบคุมโควิดได้ดีมาก และที่ผ่านมาจะเห็นว่าการบริโภคในประเทศค่อยๆฟื้นตัวก็ตาม แต่จะพบว่าตัวเลขการบริโภคยังลุ่มๆดอนๆ โดยตัวเลขล่าสุดที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วชี้ให้เห็นว่าการบริโภคกลับไปติดลบอีกครั้ง และเมื่อมองไปยังปีหน้า การที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าศักยภาพค่อนข้างมาก เพราะดีมานด์ที่เคยมี 100 แต่เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา ดีมานด์ไม่มีทางกลับไปถึง 100 แน่ จึงมีความเสี่ยงที่จะมีธุรกิจเลิกกิจการต่อเนื่อง โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวกับภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งจะไปกระทบการจ้างงาน
“ถ้าเราดูตัวเลขล่าสุดของทางการจะพบว่าอัตราว่างงานอยู่ที่ 2% เท่านั้นเอง แต่เราเห็นตัวเลขที่น่าสนใจ คือ มีงานทำ แต่ไม่ได้ทำงาน รวมถึงคนที่ทำงานไม่ถึง 35 ชั่วโมง เอา 3 ตัวนี้มาบวกกันพบว่าตัวเลขจะอยู่ที่ 11 ล้านคน เมื่อเทียบกับก่อนโควิดตัวเลขตรงนี้อยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน เท่ากับว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดอยู่ที่อย่างน้อย 5 ล้านคน และถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะกระทบต่อความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ กระทบต่อรายได้ในอนาคต และจะกระทบต่อเนื่องถึงการบริโภคตามมาอีก” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงนโยบายภาครัฐในการลงทุนเพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ว่า วันนี้ประเด็นไม่ได้อยู่ว่ามีเงินหรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าจะนำเงินไปใช้ในเรื่องใด เพราะตอนนี้เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะแล้ว โดยก่อนเกิดโควิด หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 42% ของจีดีพี แต่สิ้นปีนี้น่าจะใกล้ 50% ของจีดีพีแล้ว ส่วนปลายปีหน้าจะไปแตะเกือบ 60% ของจีดีพี ซึ่งหลายคนบอกว่าหนี้สาธารณะจะถึง 60% ของจีพีดีแล้ว รัฐบาลจะกู้เงินได้อีกหรือไม่ ถังจะแตกหรือเปล่า แต่ก็มีข้อดี คือ ตอนนี้อัตราดอกเบี้ยถูกลงมาก ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินลดลงไปมาก
“ถ้าเรารู้ว่าการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบจะช่วยเศรษฐกิจได้จริง หรือเอาไปใช้แล้วมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ก็จะทำให้ปัญหาลดลงไปมาก แต่ต้องขอ 3 เรื่อง คือ 1.ถ้าเอาเงินไปใช้ต้องทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นในอนาคต ไม่ใช่การเอาไปลงทุนในของที่ไม่ได้เพิ่มจีดีพี หรือมีการรั่วไหลเยอะ 2.เมื่อใช้แล้วก็อย่าให้อัตราดอกเบี้ยขึ้น โดยจะต้องสร้างความมั่นใจให้ตลาดได้ว่า เรายังมีวินัยการคลังอยู่ และ3.เราใช้เงินวันนี้ แต่เราต้องวางแผนที่จะใช้คืนในวันข้างหน้าด้วย ซึ่งการจ่ายคืนจะต้องมีแผนในการปฏิรูปภาครัฐให้มีรายจ่ายน้อยลง หรือมีแผนในการเพิ่มรายได้ในอนาคต” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ผลศึกษาของทีดีไออาร์พบว่า 65% ของรายได้ของเกษตรกร มาจากรายได้นอกภาคเกษตร เช่น ลูกหลานทำงานในเมืองและส่งเงินกลับให้ หรือเมื่อว่างจากการทำไร่ทำนาก็เข้าไปทำงานในเมือง แต่เมื่อไม่มีงานและรายได้จากนอกภาคเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงมาก ส่วนปีหน้ายังไม่แน่ใจว่าภัยแล้งจะจบหรือไม่ แต่รายได้ที่มาจากนอกภาคเกษตรยังไม่น่าจะฟื้น
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า การส่งออกไทยทั้งปี 2563 จะติดลบแน่นอน แต่หลังจากการส่งออกหดตัวแรงในไตรมาส 2/2563 แล้ว จะพบว่าในเดือนถัดๆมาการส่งออกหดตัวน้อยลง โดยบางเดือนหดตัว 20% และล่าสุดเดือนก.ย.2563 การส่งออกหดตัวเหลือ 7-8% ซึ่งสะท้อนว่ากำลังซื้อจากต่างประเทศไม่ได้ย่ำแย่สุดๆ และการส่งออกไทยมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสินค้าเกษตรที่มีการฟื้นตัวก่อน ส่วนกลุ่มยานยนต์อาจฟื้นตัวช้าอยู่
“เราจะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนปีหน้า แม้ว่าตลาดโลกยังไม่เปิดเต็มที่ และการฟื้นตัวจะไม่ใช่ตัววี (V) แต่การฟื้นตัวของการส่งออกจะเห็นได้ก่อน เนื่องจากทั่วโลกมีการอัดนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน ซึ่งสนับสนุนการส่งออกของเราได้ แต่มีตัวที่ต้องระวัง คือ การดีเบตของคุณทรัมป์ และคุณไบเดน เพราะเราได้เห็นภาพนโยบายต่างประเทศในด้านการส่งออกว่า แต่ละคนมีการต่อต้านจีนเหมือนกัน ไม่ว่าทรัมป์ หรือไบเดนจะมาเป็นประธานาธิบดี ซึ่งไม่ต้องการให้จีนเติบใหญ่ ดังนั้น การที่เราส่งออกสินค้าไปจีนจะโดนผลกระทบเช่นกัน” ดร.อมรเทพกล่าว
ส่วนแนวโน้มการส่งออกไทยปีหน้า ดร.อมรเทพ กล่าวว่า จะเติบโตเป็นบวกได้แต่จะไม่เกิน 5% ซึ่งการส่งออกที่เติบโตดังกล่าวมาจากฐานในปี 2563 ที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวจะกระจุกอยู่ในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอาหาร และสินค้าบางกลุ่ม เป็นต้น โดยคาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564
ดร.ชนินทร์ มโนภินิเวส นักเศรษฐศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ธนาคารโลก กล่าวว่า ภาครัฐยังมีกำลังเพียงพอที่จะผลักดันการลงทุนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่ภาครัฐต้องมองเกมให้ออก และปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การลงทุนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
“ภาครัฐเป็นเหมือนนายทวาร ซึ่งเราจะเห็นว่าเมื่อกำลังหลายเครื่องยนต์เริ่มถดถอยลง แต่ภาครัฐก็ยังมีกำลังอยู่ เพราะที่ผ่านมาภาครัฐค่อนข้างคอนเซอร์เวทีฟ จึงเป็นข่าวดี แล้วถามว่ารัฐจะใช้กำลังไปทำอะไรดี ก็อย่างที่บอกการที่ภาครัฐเป็นนายทวารนั้น ภาครัฐต้องมองเกมให้ออก เปลี่ยนยุทธศาสตร์ให้ทัน โดยต้องมองไปว่า เราจะลงทุนด้านไหนเพื่อปรับยุทธศาสตร์ โดยฉวยโอกาสตรงนี้ว่าจะปรับตรงไหนได้บ้าง ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับโควิด และส่วนไม่เกี่ยวกับโควิด เพราะโลกของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ” ดร.ชนินทร์กล่าว
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/92617-TEA-Annual-Forum-2020-Economist.html