ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิพากษายืน ยกคำร้องคดีรองนายก อบต.ท่าพล ยื่นเท็จ – ขาดอายุความแล้ว

146

ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน ยกคำร้อง รองนายก อบต. ท่าพล จ.เพชรบูรณ์ ยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ป.ป.ช. 3 ครั้ง ขาดอายุความแล้ว สั่งลงโทษทางการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่ได้

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ผู้ร้อง นายบรรเจิด กองสังข์ ผู้ถูกกล่าวหา สืบเนื่องมาจาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษายกคําร้องนายบรรเจิด กองสังข์ รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) ท่าพล (วาระที่ 1 ) อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จต่อ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้อุทธรณ์คัดค้าน คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือดํารงตําแหน่งใดในพรรค การเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 กับให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาเฉพาะกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 ผลปรากกฏว่า ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์พิพากษายืน รายละเอียดดังนี้

ผู้ร้องอุทธรณ์คัดค้าน คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองลงวันที่ 11 เดือน กันยายน พุทธศักราช 2562

องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับวันที่ 13 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2563

ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่ง ทรัพย์สินและหนี้สินนั้น กรณีเข้ารับตําแหน่ง พ้นจากตําแหน่ง และพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลา หนึ่งปี ในตําแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลท่าพล (วาระที่ 1 ) อําเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอให้ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือดํารงตําแหน่งใดในพรรค การเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 กับให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาเฉพาะกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119

ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษายกคําร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

พิเคราะห์คําร้องประกอบเอกสารท้ายคําร้อง และคําให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่ง รองนายกองค์การบริหารส่วนตําบลท่าพล(วาระที่1) อําเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมา วันที่ 26 สิงหาคม 2554 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสาร ประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตําแหน่ง (วาระที่ 1) โดยไม่แสดงรายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาเพชรบูรณ์ 1 บัญชี วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตําแหน่ง (วาระที่ 1) โดยไม่แสดงรายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาเพชรบูรณ์ 1 บัญชี และหนี้กู้ยืมกองทุนหมู่บ้านป่าม่วง 1 รายการ ของผู้ถูกกล่าวหา และวันที่ 1 สิงหาคม 2556 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตําแหน่งมาแล้วเป็นเวลาหนึ่งปี (วาระที่ 1) โดยไม่แสดงรายการทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาได้แก่ บัญชีเงินฝากธนาคารออมสิน สาขาเพชรบูรณ์ และบัญชีธนาคารออมสิน สาขาตลาดท่าพล และ หนี้กู้ยืมกองทุนหมู่บ้านป่าม่วง 1 รายการ และที่ดิน 1 แปลง ของคู่สมรส

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า เมื่อคดีขาดอายุความทางอาญาจะนํามาตรการบังคับทางการเมืองมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้หรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่าการห้ามดํารง ตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนั้น เป็นหลักการตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มุ่งเน้นมาตรการบังคับทางการเมืองเป็นหลัก เป็นมาตรการพิเศษแยกจากมาตรการทางอาญา จึงมิใช่เป็นเพียงโทษอุปกรณ์หรือโทษข้างเคียงของ โทษทางอาญา และโทษทางการเมืองไม่ใช่การลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 กรณี จึงไม่อาจนําเอาบทบัญญัติเรื่องอายุความมาใช้บังคับกับมาตรการทางการเมืองได้ คดีของผู้ร้องจึง ไม่มีอายุความ ขอให้กลับคําวินิจฉัยและบังคับใช้มาตรการทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 นั้น เห็นว่า การ ห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 ซึ่งผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้นํามาบังคับแก่คดีนี้ ถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองอันเป็น การจํากัดสิทธิของบุคคลในการแสดงออกในฐานะพลเมืองของรัฐอันสืบเนื่องมาจากการกระทํา ความผิดทางอาญา โดยศาลจะมีอํานาจบังคับใช้มาตรการดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อเป็นกรณีที่ศาลได้ วินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้นั้นจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบภายใน เวลาที่กฎหมายกําหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบซึ่งเป็นความผิดอาญา จึงเห็นได้โดยชัด แจ้งว่าโทษทางอาญาและมาตรการบังคับทางการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นผลจากการวินิจฉัย พฤติการณ์หรือการกระทําในคราวเดียวกันที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเห็นได้ว่ากฎหมายมิได้มี วัตถุประสงค์จะให้มาตรการบังคับทางการเมืองนี้เป็นมาตรการหลักที่แยกจากโทษทางอาญาตามที่ ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งหากจะถือว่ามาตรการบังคับทางการเมืองไม่มีอายุความดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์แล้ว ก็อาจจะทําให้ระยะเวลาล่วงเลยไปจนยากที่จะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดได้ตรงต่อความเป็นจริง อีกทั้งการจํากัดสิทธิดังกล่าวเป็นมาตรการเชิงป้องกันการทุจริตจึงต้องบังคับโดยเร็ว มิฉะนั้นหากผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งนั้นไปเกินกว่าห้าปีแล้ว การที่จะบังคับมาตรการจํากัดสิทธิ ทางการเมืองด้วยการห้ามดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีนับแต่วันที่พ้นจากตําแหน่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 วรรคสอง ย่อมเป็นอันไร้ผลโดยสิ้นเชิง ซึ่งไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย ดังนี้ มาตรการจํากัดสิทธิทางการเมืองดังกล่าวแม้มิใช่โทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ก็ย่อมต้องอยู่ภายใต้หลักทั่วไปของคดีอาญารวมถึงอยู่ในบังคับ อายุความทางอาญา แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะให้การรับสารภาพ แต่เมื่อคดีส่วนอาญาศาลวินิจฉัยว่าขาดอายุความ โดยไม่มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดตามคําร้อง การที่ผู้ร้องขอให้ศาล ใช้มาตรการบังคับทางการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 34 แก่ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นการขอให้ศาลวินิจฉัย พฤติการณ์หรือการกระทําอันเดียวกันกับที่ต้องนํามาวินิจฉัยในส่วนความรับผิดในทางอาญาที่ขาดอายุความซึ่งสิทธินําคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้ว จึงไม่อาจนํามาตรการบังคับทางการเมืองมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกคำร้องมานั้น องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห้นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน (คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 6/2563 วันที่ 1 ก.ย.2563)

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/92592-news-168.html

- Advertisement -