วงเสวนา นิติฯ มธ. ถกประเด็นกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล-ชี้หลักการเรื่องความอิสระ-ความเป็นกลาง ศาลต้องทำหน้าที่ได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกแทรกแซง-ระบุความผิดฐานดูหมิ่นศาลควรถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ด้วยความระมัดระวัง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาหัวข้อ “เสาหลักต้องเป็นหลักอันศักดิ์สิทธิ์ : บทบาทศาลท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน” ผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวสัณหวรรณ ศรีสด จากคณะกรรมการนิติศาสตร์สากล ICJ และนายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดยนายอานนท์ ชวาลาวัณย์
นายอานนท์ กล่าวว่า ตำแหน่งแห่งที่ของขบวนการประชาธิปไตยในไทย ในสถานการณ์การเมืองที่ผันผวนในปัจจุบัน มีการชุมนุมที่ต่อเนื่อง ทว่า องคาพยพต่างๆ ของรัฐ มักผลักให้คนที่มาชุมนุมไปสู่ศาล ด้วยเหตุนี้ จึงยากที่จะทำให้ศาลพ้นไปจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ดังนั้น กฎหมายความผิดว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาล ในเจตนารมณ์ของกฎหมายคือเพื่อให้การทำหน้าที่ของศาลดำเนินไปได้โดยไม่มีใครมาแทรกแซง สถาบันตุลาการจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อความเป็นไปของสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์การออกหมายจับ หมายค้น นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี กล่าวว่า บทบาทของศาลในหลายคดี อาจถูกตั้งคำถามจากคนที่เป็นเสรีนิยมว่า ศาลมองประเด็นทางการเมืองอย่างไร กฎหมายละเมิดอำนาจศาลมีที่มาที่ไปอย่างไร ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่าตามหลักการแล้ว ไทยใช้กฎหมายความผิดว่าด้วยการละเมิดอำนาจศาลเท่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ ซึ่งกฎหมายว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลมีอยู่ในทุกประเทศ ไม่ว่าในประเทศเสรีประชาธิปไตย อาทิเช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือสหรัฐอเมริกา จุดเริ่มต้น มีหลักการมาจากการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาขององค์กรตุลาการ มีหน้าที่สำคัญหลักๆ สองประการคือการค้นหาความจริงของคดีที่เกิดขึ้นมาสู่ศาล หน้าที่ที่สองคือการกำหนดอัตราโทษหรือมาตรการ การลงโทษ เมื่อศาลตัดสินแล้วว่าคนๆ นี้ผิดจริง ศาลจึงเปรียบเสมือนประธานในที่ประชุม และย่อมส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อทำให้ความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้น เหล่านี้คือเครื่องมือที่มีให้ศาล
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี ยังกล่าวอีกว่า หลักการเรื่องความอิสระและความเป็นกลางของศาลนั้น ศาลต้องทำหน้าที่ได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกแทรกแซง บางประเทศ การมีสื่อมวลชนไปทำข่าวศาล เขียนข่าวถึงข้อเท็จจริงบางอย่างเพื่อนำเสนอ ก็จะมีกฎหมายควบคุมไว้ว่าทำไม่ได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ศาลสามารถเป็นกลางและเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงได้ หลายๆ ประเทศ จึงมีกฎหมายลักษณะนี้อยู่ โดยจุดเริ่มต้นมาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common law) ในที่นี้ หมายถึงเป็นระบบที่ผู้พิพากษามีบทบาทสำคัญมาก จากการวางหลักกฎหมาย ขณะที่บทบาทของผู้พิพากษาในประเทศกลุ่มคอมมอนลอว์ ค่อนข้างสำคัญ เพราะเปรียบเสมือนคุ้มครองผู้พิพากษาในการทำหน้าที่ด้วย กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของอังกฤษ จึงอาจหมายรวมถึงเกียรติยศ ชื่อเสียงของศาล ในอังกฤษ จึงมีพฤติกรรมการละเมิดศาลที่มีขอบเขตค่อนข้างกว้าง กฎหมายอังกฤษถือว่าการละเมิดศาลเกิดขึ้นได้ทั้งภายในศาลและภายนอกศาล หรือภายนอกห้องพิจารณาคดี กรณีที่เป็นภายนอกศาลก็จะเป็นความผิดต่อเมื่อการละเมิดนั้นส่งผลสัมพันธ์กับการพิจารณาคดี ส่วนภายในศาลชัดเจนอยู่แล้วว่าย่อมส่งผลต่อภายนอกศาล ซึ่งก็ต้องมาตีความ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี กล่าวด้วยว่า สหรัฐอเมริกาก็รับรูปแบบดังกล่าวมาจากอังกฤษ แต่สหรัฐฯ เน้นไปที่การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในศาล ดังนั้น แม้สหรัฐอเมริกาจะรับรูปแบบจากอังกฤษ แต่มีความต่างกัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ แม้สองประเทศนี้จะเป็นคอมมอนลอว์ แต่กรณีของอังกฤษ ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลคือไม่ต้องฟ้อง ถ้าเกิดการละเมิดอำนาจศาล หรือน่าจะเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลก็จะเริ่มเปิดกระบวนการพิจารณาได้เลย ถือเป็นกระบวนการพิเศษในทางอาญา เป็นกระบวนการพิจารณาคดีโดยรวบรัด เนื่องจากต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ปัจจุบัน ในประเทศไทย ความผิดฐานดูหมิ่นศาล หรือละเมิดอำนาจศาลอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 และ 31 โดยบทบัญญัตินี้ทำหน้าที่คุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีของศาลแต่ละแห่ง ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ขณะที่กฎหมายระหว่างประเทศจะวางหลักการสำคัญไว้ กล่าวคือ ประการแรก จำกัดไม่ให้คนพูดหรือแสดงความเห็นและมีการขยายความออกไป ทว่า หลักการคือศาลย่อมสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ซึ่งผู้วิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่ควรถูกพิจารณาคดีทางอาญา
ผศ.สาวตรี กล่าวอีกว่า ความผิดฐานดูหมิ่นศาลมักถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง ต้องบาลานซ์ (balance) คุณต้องไม่เซนส์ซิทีฟ ( Sencesitive ) จนเกินไป ขณะเดียวกันผู้พิพากษาควรถูกวิจารณ์โดยสาธารณะได้ ศาลไม่ควรที่จะตอบโต้ในลักษณะที่จะไปฟ้องคดีหมิ่น
“ในเครือจักรภพ ( Commonwealth of Nations ) เน้นย้ำว่า ผู้พิพากษาเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันรัฐ ต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าสาธารณชนทั่วไป ถ้าสรุปแนวทางของสหประชาชาติและสหภาพยุโรปเองก็เน้นย้ำว่า ในกรณีที่เราใช้กฎหมายฐานดูหมิ่นศาลและละเมิดอำนาจศาล ต้องใช้เพื่อความเป็นกลาง ต้องถ่วงดุลด้วยสิทธิของสาธารณชนทั่วไป คือ ไม่ใช่ห้ามโดยเด็ดขาด แต่ต้องตีความว่าอย่างไรคือความพอดี ส่วนในประเทศไทย ความผิดฐานดูหมิ่นศาล อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 ผู้ใดขัดขวางการพิจารณาคดี ถือว่ามีความผิดชัดเจนและมีโทษทางอาญา”
นักวิชาการรายนี้ กล่าวทิ้งท้ายว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31 ได้ระบุฐานความผิดละเมิดอำนาจศาลว่า ผู้ใดกระทำการอย่างใด ๆ ดังกล่าวต่อไปนี้ ให้ถือว่ากระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล (1) ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อน อันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล” ซึ่งนับเป็นการตีความกฎหมายที่กว้างมาก อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษาต้องมีอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือถูกแทรกแซง บทบาทศาลก็เช่นเดียวกัน ต้องทำให้ศาลมีอิสระ องค์กรภายนอกจะไปแทรกแซงไม่ได้
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/92584-Tammasart02.html