สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดอบรมผู้บริหารองค์กรไทย-จีน ภายใต้หลักสูตรผู้บริหารธุรกิจไทย-จีน รุ่นที่ 1(Business Leadership of Thai & China) หรือ บทจ. รุ่นที่ 1 โดยมี นายกฤดา กฤติยาโชติปกรณ์ ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์ภาษี กรมสรรพากร ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ ‘ภาษี การค้าการลงทุนที่ต้องศึกษา’ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ
หลักสูตรดังกล่าวจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ภายใต้ความร่วมมือจากหอการค้าไทย-จีน และสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย โดยมีรายการจับจ้องมองจีน และ China Media Group เป็นผู้ร่วมสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับจีนและไทยในหลากหลายมิติ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน การต่อยอดทางธุรกิจ และสานสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-จีน
ระหว่างการบรรยายข้างต้น ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 6 ของการจัดอบรม ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย-จีน รวมถึงแจกแจงผลการเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากรปีที่ผ่านมาและประมาณการจัดเก็บภาษีสรรพากรปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นายกฤดากล่าวว่าร้อยละ 70 ของรายได้ทั้งประเทศมาจากการเก็บภาษีของกรมสรรพากร และการแก้ปัญหา Pain Points ของสถานประกอบการคือมุ่งสู่เป้าหมาย “ช่องว่างทางภาษีเป็นศูนย์” หรือ Zero Tax Gap ในปี 2570 ด้วยนโยบาย One profile – One portal ที่หันมาใช้อิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยให้การเก็บภาษีมีความเรียบง่ายและไร้รอยต่อ โดยเชื่อมโยงข้อมูลการเก็บภาษีแต่ละประเภทที่กระจายอยู่ในระบบต่างๆ เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเดียวกัน
สำหรับกรณีการเข้ามาของ Temu หรือ แพลตฟอร์มซื้อ-ขายครบวงจรสัญชาติจีน นายกฤดาให้ความเห็นว่าตนเคยลองสั่งของผ่าน Temu ตอนเพิ่งเข้าไทย พบว่าของส่วนใหญ่เป็นของไม่มีแบรนด์ ที่ไม่มีบริการหลังการขาย และการเข้ามาของแพลตฟอร์มนี้ทำให้ผู้ประกอบการของไทยบางรายเสียเปรียบ ทางกรมสรรพากรเองก็มีการพิจารณาว่าควรทำอย่างไรเพื่อให้ความยุติธรรมให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้ โดยผู้บริโภคควรพิจารณาทั้งเรื่องมาตรฐานสินค้า มาตรฐานอุตสาหกรรมและเครื่องหมาย อย. ก่อนการซื้อ พร้อมกล่าวว่า ส่วนตัวแล้วมองว่าสินค้าข้ามพรมแดนควรเสียภาษี แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน 200% อย่างที่บางประเทศทำ เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้