‘นักวิชาการ-ผู้ส่งออกข้าว’ ประเมินโครงการประกันรายได้ชาวนา ปีการผลิต 63/64 จะใช้เงินไม่สูงกว่าปีที่แล้ว แต่ห่วงหากใช้นโยบายประกันรายได้เป็นเวลานานเกินไป จะเป็นเหมือนการจับชาวนา ‘ขังอยู่กับที่’ ไม่กระตุ้นให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า ส่งผลให้ภาครัฐมีภาระต่อเนื่องทุกปี
รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 หลังคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) มีมติเห็นชอบ และเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเร็วๆนี้ โดยประเมินว่า โครงการประกันรายได้ชาวนา ปีการผลิต 2563/64 รัฐบาลน่าจะใช้เงินชดเชยใกล้เคียงกับปีการผลิตที่แล้ว
“ผมคิดว่าเม็ดเงินที่ใช้น่าจะอยู่ในไซส์พอๆกับปีที่แล้ว เพราะคาดว่าราคาข้าวเปลือกเจ้าที่ชาวนาจะขายได้จะอยู่ที่ 7,600-7,700 บาทต่อตัน หรือดีสุดอาจจะขึ้นไปที่ 8,000 บาทต่อตัน เมื่อรัฐบาลประกันรายได้ 1 หมื่นบาทต่อตัน ก็จะจ่ายส่วนต่างตันละ 2,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวนั้น ซัพพลายมีจำกัดอยู่แล้ว ตลาดจะเคลียร์ตัวของมันเอง เพราะฉะนั้น การจ่ายเงินชดเชยส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเปลือกเจ้าในนาพื้นที่ชลประทาน” รศ.ดร.สมพร กล่าว
อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมพร มองว่า การที่รัฐบาลมีโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งครอบคลุมพืชหลายชนิด เช่น ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน แม้รัฐบาลจะเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการ แต่ปัญหาของโครงการประกันรายได้ คือ รัฐบาลยกระดับราคาพืชบางชนิดให้สูงกว่าตลาดโลกมากเกินไป เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาในตลาดโลกอยู่ที่ 4-5 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลกำหนดราคาประกันรายได้สูงถึง 8.5 บาทต่อกิโลกรัม
หรือแม้กระทั่งการปลูกข้าว ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนการผลิตข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม และพม่า เมื่อต้นทุนการผลิตข้าวไทยแข่งขันไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องมาจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะหากไทยยังมุ่งเน้นส่งออกข้าวให้ได้ในปริมาณมากๆ โดยการลดราคาข้าวลงมาแข่งแล้ว จะทำให้รัฐบาลจะมีภาระจ่ายส่วนต่างราคาข้าวทุกตันที่ส่งออกไป ดังนั้น รัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนชาวนาให้ปลูกพืชอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า
“การทำโครงการประกันรายได้ ทำปีสองปีน่ะได้ แต่ถ้าทำระยะยาว จะทำให้โครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรหยุดนิ่ง เกษตรกรไม่ปรับตัว อย่างข้าวต้นทุนเราสูง แข่งขันไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่รัฐบาล คือ การจับชาวนาขังอยู่กับที่ ให้เขาปลูกพืชเดิมๆ เพื่อให้ได้เงินประกันตันละหมื่นต้นๆ ดังนั้น รัฐบาลควรมีลูกเล่นอย่างอื่น ทำให้เกษตรกรปรับตัวและปรับโครงสร้างการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินเหมือนกัน เช่น การชดเชยเพื่อจูงใจให้เขาไปปลูกพืชอื่นๆที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า” รศ.ดร.สมพรกล่าว
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาข้าวเปลือกเจ้าปีการผลิต 2563/64 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 8,000-8,500 บาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิน่าจะอยู่ที่ 1.5-1.6 หมื่นบาทต่อตัน จึงคาดว่าโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิตนี้ รัฐบาลน่าจะใช้เงินชดเชยให้กับชาวนาใกล้เคียงกับปีการผลิตที่แล้ว หรือปีการผลิต 2562/63 แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามว่าผลผลิตข้าวเปลือกปีการผลิตนี้จะเป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในปีการผลิต 2562/63 รัฐบาลสนับสนุนงบฯเพื่อช่วยเหลือชาวนาโดยตรงคิดเป็นเม็ดเงิน 73,435 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 กรอบวงเงิน 21,495 ล้านบาท 2.โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยสนับสนุนต้นทุนการผลิต ไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้ชาวนา 4.31 ล้านครัวเรือน กรอบวงเงิน 25,482 ล้านบาท
และ3.โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ปีการผลิต 2562/63 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวเฉพาะชาวนารายย่อย อัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ให้กับชาวนา 4.57 ล้านครัวเรือน กรอบวงเงิน 26,458 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบฯอีก 2,572 ล้านบาท สำหรับชดเชยดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโดยสถาบันเกษตรกร โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ซึ่งเป็นโครงการคู่ขนานกับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และโครงการช่วยเหลือต้นทุนการผลิต
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/90692-rice-policy-Income-insurance-63.html