นวพร เรืองสกุล : ปู๊น ปู๊น รถไฟมาแล้ว

69

บทความพิเศษ โดย นวพร เรืองสกุล ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๓

“…ผลพลอยได้สำหรับประเทศ: เมื่อวิถีใหม่ของรถไฟติดตลาด โรงแรมระหว่างทาง ร้านอาหารและร้านค้าระหว่างทาง ล้วนได้ประโยชน์ด้วยทั้งสิ้น ถ้าทุกคนรักษาคำพูด รักษาสัญญา รักษาคุณภาพ การแจกงานบริการออกไปเป็นการจ้างเหมาต่อจะเกิดขึ้นได้มาก ถึงเวลานั้น ทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน รายได้จะขยายวงออกไปอย่างทั่วถึงทุกเมืองที่รถไฟจอด เหมือนครั้งในอดีตที่เมืองและชุมชนเกิดขึ้นมาเพราะมีรถไฟไปถึง…”

วันหนึ่งที่โควิด-19 กำลังอาละวาด จนเครื่องบินต้องจอดนิ่งสนิททั่วโลก และปัญหาของการบินไทยเป็นข่าวครึกโครม ปัญหาการตกงานดังอึงคนึง ดิฉันกับอดีตเพื่อนร่วมงานที่ฝ่าวิกฤตปี 2540 มาด้วยกันตั้งคำถามว่า “ถ้าตอนนี้อายุ 50 ต้นๆ จะมีงานแบบไหนโผล่มาให้เลือกบ้าง“

มือวาดการ์ตูนประกอบบทความให้ บอกว่าเขาปลอดภัยแล้ว อาชีพสร้างซอฟต์แวร์เพื่อให้งานง่าย เอกสารน้อย ไปรอด ตอนนี้งานเต็มมือ เสียอย่างเดียวหาพนักงานยากมากที่สุด

“จะไปเป็น DD การบินไทย” ดิฉันเสนอตัวเอง คนฟังรู้ว่าพูดเล่นเพราะพ้นวัยทำงานมาแล้ว

ผู้ร่วมสนทนาหน้านิ่วคิ้วขมวดพยายามคิดว่าทำไม ดิฉันก็เลยขยายความ “งานแรกคือเจรจาร่วมมือขอเอาบริการทุกชั้นของการบินไทยไปใส่ตู้โดยสารรถไฟ เทพบุตร นางฟ้า และสายการผลิตอาหาร มีงานทำและมีรายได้อย่างแน่นอน เจอบริการชั้นธุรกิจและชั้น 1 ของสายการบิน รถไฟจะหรูเริ่ดขึ้นมาทันที ไม่ดีหรือ”

สำหรับดิฉัน การเดินทางโดยรถไฟคือคำตอบสำหรับการเดินทางไกลที่ต้องขนผู้โดยสารจำนวนมาก แทนเครื่องบินในยามที่มีความกังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องผู้โดยสาร และยังจะเป็นวิธีเดินทางที่ดีแม้เมื่อไม่มีโรคระบาดแล้ว …ถ้าเราสามารถสร้างวิถีใหม่ของการเดินรถไฟโดยสารได้ ให้ระบบราง​เป็นเส้นเลือดใหญ่ของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางบกดังที่ใช้อยู่ในญี่ปุ่นและยุโรปหลายประเทศ เพราะประหยัดและได้ประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้รถและใช้ถนน

ไอเดียกระฉูด แปลกใหม่ และเป็นไปได้ คือทำขบวนรถไฟสไตล์เลโก แต่ดาวการเขียนหนังสือและดาววาด info graphic หลบมุมไปไหนไม่รู้ กว่าจะได้ข้อเขียนก็ล่วงเลยมาเป็นเดือน

อดีต

ปี พ.ศ. 2552 เขียนเรื่องปัญหาของ ร.ฟ.ท. ลงในนิตยสารสกุลไทย สรุปว่า “จะทำให้รถไฟกลับเป็นที่นิยมใหม่ใช้ ต้องหันมารื้อฟื้นความคิดเรื่องการใช้ระบบรางเป็นแกนหลักของการคมนาคมขนส่ง รถไฟสามารถพลิกโฉมเป็นรถไฟสมัยใหม่ทัดเทียมนานาประเทศได้ เมื่อมีการแก้วัฒนธรรมในองค์กร แก้ระบบงาน และมีเงินลงทุน”

รถไฟมีมีทรัพย์สินที่ดินของตนเองและให้เช่ามากเกินพอ กระทั่งมีผู้บุกรุกหลายแห่งโดยไม่ทันรู้ไม่ทันไล่ แต่ปัญหาก็มี เช่น มีรัฐบาลเป็นลูกหนี้ค้างชำระหลายรายการ มีภาระในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดด้วยตนเอง (ทางหลวงใช้งบประมาณแผ่นดิน) และขาดทุนจากการสร้างทางตามนโยบาย (คือไปในที่ไม่มีผู้โดยสาร เป็นแฟชั่นทำนองเดียวกับสร้างมหาวิทยาลัยทุกหย่อมหญ้า) กับราคาค่าโดยสารรถชั้น 3 ที่ถูกกว่ารถเมล์

นักวิชาการเคยเสนอระบบ PSO ต่อคณะกรรมการกำกับรัฐวิสาหกิจสำหรับการให้บริการเชิงสังคมตามนโยบาย ทำให้ได้เงินชดเชยจากรัฐเมื่อต้นทุนการทำงานตามนโยบายสูงกว่ารายได้ที่เรียกเก็บได้ โดยมีการตกลงผลงานกันล่วงหน้า​ โดยจะใช้แทนการให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจรับภาระขาดทุนไปปนๆ อยู่ในบัญชีผลประกอบการรวม เรื่องนี้แก้หรือยัง ไม่รู้

ในครั้งนั้นสรุปว่า “ปัญหาอาจจะหมักหมมและหนักหนา แต่ทางออกย่อมมี และเมื่อเห็นทางออกหากตั้งใจมุ่งมั่นเดินทางฟันฝ่า ย่อมผ่านพ้นปัญหาได้”

ทางออกก่อนถึงวันนี้

จาก พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2563 รัฐบาลได้มุ่งมั่นเดินทางฟันฝ่า มีพัฒนาการที่เกิดขึ้น คือ

(1) 15 เมษายน พ.ศ. 2562 ตั้งกรมการขนส่งทางราง เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงคมนาคม และในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้น ย้ายบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเดินรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอีกครั้ง คราวนี้ให้เป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย สังกัดกระทรวงคมนาคม บริษัทนี้รับผิดชอบเกี่ยวกับการเดินรถและซ่อมบำรุง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง

(1) รัฐบาลเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบทางคู่ โดยหวังจะให้การขนส่งระบบรางเป็นการขนส่งหลัก (main line) และผลักดันให้การขนส่งทางถนนเป็นระบบสนับสนุน (feeder) ป้อนสินค้าและผู้โดยสารเข้าระบบราง

เงินลงทุนแทบจะหมดปัญหาไปแล้ว ก็ถึงเวลาหันมาปรับแก้กระบวนการคิด การทำงาน และระบบงานเพื่อพลิกโฉมรถไฟเข้าสู่สมัยใหม่

ภาพประกอบคราวนี้มาจากการเดินทางกับรถไฟเจ็ดดาวที่เกาะคิวชิว ประเทศญี่ปุ่น

ขบวนรถไฟสไตล์เลโก

ไวรัสโคโรน่าที่กำลังระบาดทั่วโลกเวลานี้ สายการบินทั่วโลกเจอวิกฤต แต่กลับเป็นโอกาสทองของรถไฟ เพราะทางคู่ที่รัฐบาลลงทุนไว้กำลังทยอยเสร็จ การเดินทางโดยรถไฟ สะดวกได้ ตรงเวลาได้ สบายได้ และจัด physical distance ได้ง่าย เนื่องจากผู้โดยสารไม่ต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดแบบนั่งเครื่องบิน เป็นอันว่ามีทั้งสินทรัพย์ใหม่เอี่ยม และคู่แข่งหายไปจากตลาดด้วยในเวลาใกล้ๆ กัน จึงอยู่ที่ว่าการรถไฟและกระทรวงคมนาคมจะฉวยโอกาสทองที่หาได้ยากยิ่งนี้ได้เพียงใด

ตอนนี้การรถไฟมีขบวนรถไฟพาเที่ยวอยู่แล้ว ซึ่งซื้อตั๋วเดี่ยวหรือเช่าเหมาโบกี้ก็ได้ แต่ยังต้องปรับปรุงโบกี้ให้ดีขึ้น เส้นทางให้หลากหลายขึ้น และมีโปรแกรมเสริมอีกมาก เพื่อให้ผู้โดยสารไม่ต้องกังวลจัดเตรียมการเดินทาง แต่ทางคู่กำลังจะใช้งานได้ รถไฟสามารถแล่นได้มากเที่ยวขึ้น ตรงเวลาขึ้น รถไฟฝ่ายเดียวจะรับมือกับการขยายบริการให้ทันได้หรือไม่

คนชอบเที่ยวขอเสนอวิถีใหม่ของการเดินรถเพื่อการท่องเที่ยว ที่ประหยัดงบลงทุนของการรถไฟและขยายตลาดนักท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนเสนอบริการการเดินทาง

ขอย้ำตรงนี้เลยว่า ไม่ควรเปิดประมูลเหมาเส้นทาง ไม่เปิดให้รายใหญ่รายหนึ่งรายใดเข้ามาลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก นโยบายหลักควรเป็นว่า การรถไฟเป็นโมโนโปลีในการเดินรถระบบราง แต่เรื่องอื่นๆ ให้เอกชนหลายๆ ราย เข้ามาแบ่งทำ หรือแข่งกันเองเพื่อเสนอบริการที่ดี ในทำนองแข่งกันดี ไม่ใช่แข่งแบบปัดแข้งปัดขากัน ซึ่งในที่สุดจะแพ้ทุกฝ่าย ไม่ก็ถูกกินรวบ

ฝ่ายรถไฟ: วางเส้นทางเดินรถ กำหนดตารางเดินรถที่ชัดเจน เดินรถได้ตรงเวลา มีลูกค้าสัมพันธ์ที่ดี ให้บริการแบบไม่ลำเอียง ไม่กีดกัน

: การรถไฟเป็นเจ้าของหัวรถจักรสำหรับลากขบวนรถ เปิดบริการให้ผู้อื่นนำโบกี้รถมาต่อพ่วงได้ โดยจองล่วงหน้า

: พนักงานมีคุณภาพหรือมีศักยภาพจะพัฒนาตน

รถไฟของเราต้องเป็นโมโนโปลีที่มีประสิทธิภาพให้ได้ แต่จะเป็นไปได้ องค์ประกอบสำคัญคือ “คน” และทัศนคติของทุกคนในองค์กรในทุกระดับ

ฝ่ายเอกชน: เป็นเจ้าของหรือผู้เช่าโบกี้ ซึ่งอาจจะทำโรงแรมในรถไฟ หรือว่าทำที่นั่งสบายที่นั่งบนเครื่องบิน

เจ้าของจะเป็นใครก็ได้ เช่น

– โรงแรมขนาดใหญ่ในหลายๆ จังหวัด (ร่วมมือกันหรือต่างคนต่างทำ) แต่งโบกี้สไตล์ของตัว ขายตั๋วเอง ดูแลเรื่องอาหารการกิน ที่พัก บริการทัวร์ในบริเวณใกล้เคียง และจัดกิจกรรมให้ลูกค้าเอง

– เศรษฐีหรือบริษัทที่มีเรือยอทช์ มีเครื่องบินส่วนตัว อาจจะอยากมีโบกี้รถไฟส่วนตัว สำหรับพักผ่อน สำหรับจัดประชุม สำหรับจัดปาร์ตี้ สำหรับอำนวยความสะดวกในการเดินทาง

– บริษัททัวร์ตั้งแต่ SME ถึงรายใหญ่ สามารถมีโบกี้ของตัวเองได้ จัดโปรแกรมนำเที่ยวของตัวเอง ดูแลขายตั๋ว และให้บริการต่างๆ เอง

พักหยุดที่ไหน สถานีไหน กำหนดกันล่วงหน้า มีทางเลือกหลากหลายสไตล์เลโก (คือต่อได้ทุกรูปแบบสุดแต่จินตนาการและความสามารถในการจับต่อ) เช่น เราอาจจะซื้อบริการโบกี้ของโรงแรมโอเรียนเต็ล ไปกลับเชียงใหม่ แวะเที่ยวนครสวรรค์ ลำปาง ค้างคืนในโรงแรม แล้วไปเชียงใหม่ ส่วนขากลับนอนรวดเดียวกลับกรุงเทพฯ ก็ได้ เป็นโปรแกรมรวมคล้ายกับที่มี package ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่ขึ้นรถไฟทำได้ทั้งปี และย้ายจังหวัด ย้ายเส้นทางไปได้เรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่า การต่อพ่วงไม่ต้องเริ่มจากกรุงเทพฯเสมอไป คนจังหวัดอื่นก็อาจจะต่อพ่วงจากต้นทางในจังหวัดของตนที่อยู่บนเส้นทางรถไฟก็ได้ และทุกคนก็ไม่ต้องไปจุดหมายปลายทางเดียวกันทั้งหมด จะแวะจังหวัดไหนก็ปลดการต่อพ่วงที่จังหวัดนั้น

รายได้ของรถไฟ: ค่าบริการต่อพ่วงโบกี้กับหัวรถจักร

:ค่าเช่าหรือค่าบริการสถานีที่มีการแยกห้องพิเศษ หรือแยกบริเวณพิเศษ สำหรับให้เจ้าของโบกี้จัดกิจกรรม หรือรับประทานอาหาร

จัดแสดงนชานชาลาตอนกลางคืน เมื่อสถานีปิดแล้ว

: ค่าจอดโบกี้

ก. จอดเพื่อแรมคืน โดยมีผู้โดยสารนอนค้างในโบกี้เหมือนนอนโรงแรม สถานที่ต้องสะดวก ปลอดภัย สภาพแวดล้อมสวยงาม (ทำนองเดียวกับ trailer park หรือท่าเรือยอทช์ที่เข้ามาแวะชั่วคราว)

ข. เป็นอู่รับจอดโบกี้ระยะยาว มีบริการเก็บรักษา ทำความสะอาด ซ่อมบำรุงโบกี้ ฯลฯ (ทำนองเดียวกับท่าเรือยอทช์ ที่เช่าเก็บ หรือท่าอากาศยาน)

ผลพลอยได้สำหรับประเทศ: เมื่อวิถีใหม่ของรถไฟติดตลาด โรงแรมระหว่างทาง ร้านอาหารและร้านค้าระหว่างทาง ล้วนได้ประโยชน์ด้วยทั้งสิ้น ถ้าทุกคนรักษาคำพูด รักษาสัญญา รักษาคุณภาพ การแจกงานบริการออกไปเป็นการจ้างเหมาต่อจะเกิดขึ้นได้มาก ถึงเวลานั้น ทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน รายได้จะขยายวงออกไปอย่างทั่วถึงทุกเมืองที่รถไฟจอด เหมือนครั้งในอดีตที่เมืองและชุมชนเกิดขึ้นมาเพราะมีรถไฟไปถึง

ข้อเสนออาจจะแปลกและแหวกแนวจากที่เคยปฏิบัติมาในที่ไหนๆ แต่เป็นไปได้แน่นอน ถ้าผู้วางนโยบาย ผู้วางกรอบกติกา ผู้วางแผนปฏิบัติ และผู้ลงมือทำ ตั้งใจทำให้เกิด

เงื่อนไขสำคัญ:

1. ทีมทำ operation research และ scheduling รวมทั้งระบบ IT ต้องมีฝีมือดีมาก ดีเท่าไหร่ความยืดหยุ่นและรายได้ก็จะสูงตามไป

2. คนกำหนดราคาค่าบริการต่างๆ คิดเลขเป็น การตั้งราคาให้เหมาะสม ตรงกับตลาดที่ต้องการ โดยทุกฝ่ายอยู่ได้และโตไปด้วยกันได้ เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คิดถูกจนขาดทุนและน่าสงสัยว่ามีการเอื้อประโยชน์ หรือคิดแพงจนไม่มีใครสนใจทำให้เกิดบริการในคุณภาพที่ต้องการได้

เราจะพบกันบนรถไฟยุคใหม่ที่มีบริการระดับสี่ดาวขึ้นไปนะคะ

Credit : https://thaidialogue.wordpress.com/2020/07/26/here-comes-the-train-8530/

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-article/90693-nawapor.html

- Advertisement -