ยกฟ้องอดีต รองเลขาฯ กสทช.!ศาลชี้ไม่มีเจตนาทุจริตกรณีจ่ายโบนัสพนักงาน

22

ศาลคดีอาญาทุจริตฯยกฟ้อง อดีตรองเลขาธิการ กสทช. ‘ประเสริฐ อภิปุญญา’กรณีจ่ายโบนัสพนักงาน ชี้ไม่มีเจตนาทุจริต-เป็นอำนาจของประธานกรรมการ เผยเคยถูก คสช.ใช้เป็นข้ออ้างสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2563 ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องนาย ประเสริฐ อภิปุญญา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.) ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการเบิกจ่ายโบนัสให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฯ รักษาการผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นายประเสริฐ จำเลย ไม่มีเจตนาทุจริต การเสนอจ่ายค่าตอบแทนพิเศษหรือโบนัสให้แก่พนักงานของ กสทช.เป็นคำสั่งของศ.ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กสทช. ในสมัยนั้น และการอนุมัติไม่ใช่อำนาจของเลขาธิการ กสทช. หรือรองเลขาธิการ กสทช. นอกจากนายนั้น นายประเสริฐไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับค่าตอบแทนพิเศษหรือโบนัส

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายประเสริฐว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และต่อมาอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้าที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะชี้มูลดังกล่าว มีคำสั่งคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2558 สั่งให้ระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราว นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมินการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

อย่างไรก็ดีนายประเสริฐทำหนังสือชี้แจงขอความเป็นธรรม สรุปได้ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว เป็นการเข้าใจผิดและข้อมูลคลาดเคลื่อนเนื่องจากกรณีการสอบสวนทางวินัยและการปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการเบิกจ่ายโบนัสให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน กสทช. ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฯ รักษาการผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคลนั้น เป็นการดำเนินการภายใต้คำสั่งของ ศ.ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กสทช. ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นการสั่งการให้เสนอขออนุมัติหลักการให้กับพนักงานและผู้ปฏิบัติงานทั้งสำนักงาน รวม 831 คน และการสั่งการในวันนั้น รักษาการเลขาธิการ ได้แก่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ นายทศพร เกตุอดิศร นายพิทยาพล จันทนสาโร รักษาการตามระเบียบไม่ได้อยู่ในสำนักงาน กสทช. ทำให้ตนต้องเสนอเรื่องให้ ศ.ดร.ประสิทธิ์ เป็นผู้ลงนาม เนื่องจากเป็นเรื่องของส่วนรวม มิใช่เป็นเรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ประธานได้รับทราบรายละเอียดและเป็นผู้วินิจฉัยตามอำนาจให้ความเห็นชอบให้จ่ายได้ โดยนายประเสริฐฯ มีหน้าที่เป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลนำเสนอตามคำสั่งเพื่อการวินิจฉัยสั่งการ เมื่อประธานวินิจฉัยการเบิกจ่ายตามระเบียบ ซึ่งรวมพนักงานของสำนักงาน กสทช. ที่ลาศึกษาต่อภายในประเทศจำนวน 2 ราย ที่คณะกรรมการสั่งการให้มาปฏิบัติงานเป็นคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 2100MHz และรองเลขาธิการฯอีกคนหนึ่ง (นายทศพรฯ) เป็นผู้สั่งจ่าย

ส่วนประเด็นปัญหาเป็นเรื่องของการดำเนินการตามคำสั่งของประธาน กทช. เกี่ยวกับการนำเสนอเอกสารและการตีความคุณสมบัติอันเป็นอำนาจของคณะกรรมการและประธาน กทช. และต่อมาพนักงานทั้งสองรายได้แสดงความบริสุทธิ์ใจด้วยการคืนเงินดังกล่าวแล้ว

กรณีนี้ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือปลอมแปลงเอกสาร หรือประพฤติมิชอบที่ทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่มีการกระทำเป็นขบวนการ หรือเป็นการตรวจสอบที่ใช้เวลานานแต่ประการใด

นอกจากนั้นไม่มีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หากแต่เป็นการสอบที่มุ่งเน้นนายประเสริฐฯ แต่เพียงผู้เดียว มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการหลายครั้ง และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหา ไม่มีการนำความเห็นของประธาน กทช. ปฏิบัติหน้าที่ประธาน กสทช. มาประกอบการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง ทั้งที่การกำหนดกฎเกณฑ์และการวินิจฉัยปัญหาเป็นอำนาจของคณะกรรมการ กทช. รวมทั้งมีการดึงเวลาดำเนินการให้ล่าช้ายาวนานกว่า 3 ปี

ยืนยันว่าประเด็นการสอบวินัยที่ถูกส่งให้ คสช. เป็นเรื่องเกิดขึ้นเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการฯ ในปี พ.ศ.2555 เป็นเรื่องการวินิจฉัยคุณสมบัติของพนักงานจำนวนเพียง 2 ราย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบที่ทำให้เสียหายแก่ทางราชการหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

Cr: https://www.isranews.org/article/isranews/90407-isranews-242.html

- Advertisement -