คมนาคม ถก ทูตญี่ปุ่นลุ้นจับคู่เดินทางระหว่างประเทศ

24

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเข้าพบในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า กระทรวงคมนาคมได้ขอให้ญี่ปุ่นช่วยพิจารณาในเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยไทยต้องการขอให้มีการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเป็นมาตรฐานสำคัญในการตรวจคัดกรองผู้ที่จะเดินทาง ทั้งต้นทางและปลายทาง มายังประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า และทราบรายละเอียดในข้อตกลงว่า จะใช้มาตรการใดบ้าง และสามารถเริ่มเปิดดำเนินการได้เมื่อไหร่

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นสำหรับการปลดล็อคดาวน์การเดินทางของนักลงทุนญี่ปุ่นมายังประเทศไทยนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพ ในการดำเนินการหากมีนักลงทุนประสงค์จะเดินทางมายังประเทศไทย แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุขกล่าวคือ สามารถเดินทางไปยังสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น (Private Quarantine) รวมถึงมีการซื้อประกันประมาณ 100,000 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ในกรณีที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นมาตรฐานในการเข้าประเทศไทยต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการโครงการพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่มี 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งมอบพื้นที่หลังจากมีการลงนามในสัญญากับเอกชนไปแล้ว ทั้งนี้ ยืนยันว่า การดำเนินการอยู่ในกรอบระยะเวลา และไม่มีปัญหาอุปสรรคใดๆ

2.โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ได้ลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา รวมไปถึงตามที่กระทรวงคมนาคมได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการขยายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพฯ–ชลบุรี–พัทยา ส่วนต่อขยายช่วงพัทยา–มาบตาพุดให้ไปถึงสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อระบบการเดินทางด้วย และ 3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจาต่อรองราคากับผู้รับจ้าง ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ส.ค. 2563

“การให้ข้อมูลการดำเนินการของ 3 โครงการสำคัญดังกล่าวนั้น เป็นการยืนยันกับญี่ปุ่นว่า ขณะนี้ในการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้แปรไปสู่การปฏิบัติจริง และคาดว่าจะมีการดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2568 จึงต้องการให้เอกอัครราชฑูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นำข้อมูลไปอธิบายแก่รัฐบาล และนักลงทุนญี่ปุ่น เพื่อที่จะได้ทราบความคืบหน้าการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ไปศึกษาเพื่อวางแผนในการออกกฎหมายในลักษณะเดียวกับพื้นที่ EEC เพิ่มในอีกพื้นที่ 4 พื้นที่เขตเศรษฐกิจ คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ โดยให้กระทรวงคมนาคมบูรณาการมอเตอร์เวย์กับรถไฟทางคู่ ที่จะมีการศึกษาออกแบบแผนแม่บทในปี 2564 และหากดำเนินการแล้วเสร็จ จะนำข้อมูลแจ้งทางญี่ปุ่นให้รับทราบต่อไป รวมถึงจะมีการดำเนินการศึกษาออกแบบพัฒนาในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและอ่าวไทย เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางคู่ ซึ่งท่าเรือดังกล่าวจะมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้า และผู้โดยสาร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อให้ผู้ลงทุนเห็นศักยภาพการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

นอกจากนี้ ในส่วนของการพัฒนาอุโมงค์เชื่อมต่อทางพิเศษ (ทางด่วน) นั้น ญี่ปุ่นได้ให้ข้อมูลว่า ญี่ปุ่นได้มีเทคโนโลยีใหม่ ที่หากนำมาใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ จึงได้ขอให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อทำการศึกษาต่อไป และจะมีการนำ Big Data มาใช้ในระบบราง ซึ่งในขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีในส่วนที่จะกระทบข้อมูลส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตามความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความล่าช้า เนื่องจากมีการปรับแบบ จึงได้สั่งการให้ศึกษาการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในส่วนของระบบงานที่เหลืออยู่ รวมถึงบริหารจัดการสถานีบางซื่อเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด และสามารถนำเงินจากรายได้ส่งคืน JICA เร็วที่สุด

Credit : https://www.thaipost.net/main/detail/71113

- Advertisement -