ต้องใช้อำนาจเข้มงวด-ป้อง จนท.รัฐถูกฟ้อง! เบื้องหลัง ครม.บิ๊กตู่ ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

22

เปิดเบื้องหลัง! ครม.บิ๊กตู่ ขยายเวลายืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯออกไปอีก 1-31 ก.ค. 63 เผยรับลูกข้อเสนอ สมช. ป้องกัน จนท.รัฐถูกฟ้องได้ แถมการผ่อนคลายเป็นกิจกรรมความเสี่ยงสูง ต้องมีอำนาจตามกฎหมายเพื่อกำกับดูแลเชิงรุกอย่างเข้มงวด

จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ก.ค. 2563 ตามที่คณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติ โดยระบุสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า เมื่อได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ปรากฏว่ามีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง จึงมีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯออกไปอีกคราวหนึ่งนั้น (อ่านประกอบ : แพร่ประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึง31ก.ค.-ผ่อนปรนเฟส 5 อนุญาตบุคคลเข้าไทย)

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในคราวประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป โดยสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีข้อเสนอแนะตอนหนึ่งว่า ประโยชน์ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะช่วยคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องหรือถูกดำเนินคดีฐานจากการกระทำผิดสัญญาสัมปทานกับภาคเอกชน เช่น กรณีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งมีสัญญากำหนดเงื่อนไขรูปแบบการให้บริการ จำนวนรอบเที่ยวเดินรถ และจำนวนของผู้โดยสาร เป็นต้น

สมช. ระบุด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในภาพรวมทั่วโลกยังคงมีอยู่อย่างรุนแรงในหลายภูมิภาค และมีคนไทยจากต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการผ่อนคลายภายในประเทศระยะที่ 5 ที่จะมีการดำเนินการต่อไป ถือเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาดของโรค จึงมีความจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายในการออกมาตรการกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐในเชิงรุกอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมมิให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในประเทศระลอกที่ 2

สำหรับเหตุผลของ สมช. เรื่องความจำเป็นเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อกำหนดมาตรการเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เช่น การควบคุมการดำเนินทางเข้า-ออกประเทศ การจัดทำระบบติดตามตัว การกักตัว และการเฝ้าระวังบุคคลต้องสงสัย การกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถบังคับใช้ได้อย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรม/กิจการที่เกี่ยวข้อง และจะต้องมีระบบการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ในลักษณะรวมศูนย์ที่ปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการบูรณาการกำลังทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร เข้าร่วมปฏิบัติงานได้อย่างเพียงพอตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการสถานบันเทิง สถานที่แข่งกีฬา แหล่งท่องเที่ยว และสถานที่อื่น ๆ อีกทั้งจะมีวันหยุดราชการต่อเนื่องหลายวัน ที่อาจส่งผลให้มีการเดินทางและมีการประกอบกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างหนาแน่น จึงเป็นการเลี่ยงที่จะต้องมีการตรวจตราและเฝ้าระวังอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ (ดูเอกสารประกอบ)

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90165-isranews-214.html

- Advertisement -