“…ปี 2540 ระดับหนี้เสียเป็น 50% ของสินเชื่อทั้งหมด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีมาตรการในเชิงรุก บทเรียนจากตอนนั้นทำให้เรามีการทำมาตรการป้องกันในเชิงรุก ที่สำคัญคือ ต้องเร่งให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพและได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เป็นมาตรการที่ ธปท. ออกมาตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น การสำรองของสถาบันการเงินก็จะน้อยลง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้…”
หมายเหตุ : รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพิ่มเติม หลังการแถลงมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติมในช่วงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.63 ดังนี้
@การเสริมสร้างเงินกองทุนเพื่อรองรับความเสี่ยงจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนา
ถาม : เงินกองทุนฯ ที่มีตอนนี้ สามารถรองรับ NPLs ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ขนาดไหน และมีความแข็งแกร่งพอจะรองรับความไม่แน่นอน หรือวิกฤตข้างหน้าที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
ธปท. : ณ วันนี้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือ BIS ratio ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ร้อยละ 18.7 เป็นระดับที่ค่อนข้างสูง และน่าจะเพียงพอรองรับได้ในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่เรียนว่าในภาวะที่เกิดความไม่แน่นอนในช่วงที่ผ่านมา การประเมินสถานการณ์ที่ ธปท. ใช้ประเมินกองทุนก็อยู่ในสมมติฐานก่อนเกิดโควิด 19 สิ่งที่ต้องการเห็นต่อจากนี้คือ การประเมินเงินกองทุนภายใต้ภาวะโควิด 19 เพื่อจะดูว่ามีเงินกองทุนพอรองรับความไม่แน่นอนนั้นมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งมีเงินกองทุนที่เปรียบเหมือนภูมิคุ้มกัน ยิ่งมีเงินกองทุนมาก ก็เหมือนมีการฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกันให้สถาบันการเงินมาก ยิ่งทำให้สถาบันการเงินมีความเข้มแข็งเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายหลังโควิด 19 และรองรับความไม่แน่นอน มีระดับเงินกองทุนที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้น และผู้ฝากเงิน เป็นแนวทางในระยะยาวของสถาบันการเงิน ระดับเงินกองทุนเป็นหัวใจสำคัญในการปล่อยสินเชื่อในอนาคต ถ้ามีระดับเงินกองทุนมาก ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นด้วย รวมทั้งการป้องกันที่เกิดจากความไม่แน่นอน เช่น การกันสำรองเพิ่มขึ้นจากหนี้
ที่ผ่านมา ธปท. มุ่งเน้นทำมาตรการป้องกันมากกว่าแก้ไข ถ้ามีการป้องกัน (pre-emptive) ไว้ล่วงหน้าจะเป็นการช่วยสถาบันการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว
ถาม : จากประกาศห้ามจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลทำให้หุ้นธนาคารร่วงหนักมาก ธปท. มองเรื่องนี้ว่าอย่างไร
ธปท. : ต้องพยายามอธิบายให้นักลงทุนและผู้ฝากเงินทราบว่า หนังสือเวียนฉบับนี้มุ่งหวังให้เสริมสร้างสภาพคล่องและเงินกองทุนให้ธนาคารในระยะยาว จะเป็นผลดีต่อสถาบันการเงินให้เติบโตอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งขึ้นต่อความไม่แน่นอนจากโควิด 19
ถ้านักลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าจุดประสงค์ของ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยเห็นภาพว่าถ้าออกเป็นนโยบายกลาง มีทิศทางเดียวกัน แทนที่สถาบันการเงินจะทำเรื่องนี้โดยดำเนินนโยบายของแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดคำถามถึงความแตกต่างกันในการดำเนินนโยบาย
ถาม : นักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้นกลุ่มธนาคาร เมื่อข่าวออกไปก็มีผลกระทบต่อกลุ่มนี้ จะอธิบายอย่างไร
ธปท. : นักลงทุนต่างชาติน่าจะได้เห็นมาแล้วจากการออกมาตรการโดยธนาคารกลางในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น EU, UK, Australia, Canada และ New Zealand นักลงทุนต่างชาติจึงไม่น่าจะแปลกใจกับนโยบายนี้ และคงเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องของการตอบโจทย์ในระยะยาว
ถาม : ธปท. มีความกังวลหรือไม่ว่า ถ้าคนไม่เข้าใจมาตรการนี้ จะมีการแห่ถอนเงินจากธนาคารหรือเปล่า
ธปท. : ไม่กังวล เพราะหากมีการสื่อสารมากพอให้ผู้ฝากเงินและผู้ลงทุนเข้าใจจุดประสงค์ของนโยบาย วันนี้ฐานะการดำเนินงานของสถาบันการเงินก็ยังมีความเข้มแข็งอยู่ เพียงแต่ ธปท. อยากเห็นรูปแบบ แนวทาง และแผนงานของสถาบันการเงิน โดยให้วางแผนเรื่องเงินกองทุนล่วงหน้า 2 – 3 ปี
ถาม : ได้ประเมินระดับ NPLs สิ้นปีนี้แล้วหรือยัง BIS จะเป็นเท่าไหร่ และจะมีการให้สถาบันการเงินทำ Stress Test ภายใต้เงื่อนไขใหม่หรือไม่
ธปท. : ก่อนหน้านี้ได้ให้สถาบันการเงินทำ Stress Test ก่อนปลายปี 2562 ที่ไม่มีโควิด 19 แต่ตอนนี้ให้สถาบันการเงินทำ Stress Test และประเมินเงินกองทุน ภายใต้โควิด 19 จะออกมาภายในเดือนหน้า จะเห็นภาพชัดขึ้นว่า NPLs เป็นเท่าไหร่ BIS ratio จะเป็นเท่าไหร่ ที่สำคัญคือสถาบันการเงินและ ธปท. ต้องทำมาตรการในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
ถาม : ถ้าสถานการณ์โควิด 19 ไม่ดีขึ้น มีโอกาสงดการจ่ายปันผลทั้งปีหรือเปล่า
ธปท. : ยังตอบไม่ได้เพราะตอนนี้ที่เราเห็นชัดคือ เงินปันผลระหว่างกาลเป็นการจ่ายนอกรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่ได้รอคำนวณผลประกอบการทั้งปี สิ่งเห็นชัดคือ อย่าเพิ่งจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาล แต่ควรมาประเมินกองทุนก่อนว่าเป็นอย่างไร และคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เราให้ความสำคัญกับฐานะการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ ไม่เพียงเฉพาะผู้ลงทุน แต่เงินฝากของประชาชนก็เป็นสิ่งที่เราต้องดูแล
ถาม : มองว่า NPLs จะมากกว่าวิกฤตปี 2540 หรือเปล่า
ธปท. : แตกต่างกัน เพราะปี 2540 เกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค มีเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ ตลาดอสังหาฯ โตเกินระดับเศรษฐกิจ ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดกระจายในวงกว้าง ไม่ได้เกิดจากเศรษฐกิจมหภาคหรือเงินทุนที่มาจากต่างประเทศ
แต่เราได้รับบทเรียนมาจากปี 2540 จะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ลุกลามไปจนแก้ไขไม่ได้ ปี 2540 ระดับหนี้เสียเป็น 50% ของสินเชื่อทั้งหมด เพราะว่าขณะนั้นไม่มีมาตรการในเชิงรุก บทเรียนจากตอนนั้นทำให้เรามีการทำมาตรการป้องกันในเชิงรุก ที่สำคัญคือ ต้องเร่งให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่มีศักยภาพและได้รับผลกระทบจากโควิด 19 เป็นมาตรการที่ ธปท. ออกมาตั้งแต่ต้นปี คาดว่าจะทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้กลับมาสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น การสำรองของสถาบันการเงินก็จะน้อยลง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับทั้งสถาบันการเงินและลูกหนี้
ถาม : อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ร้อยละ 18.7 สามารถรองรับ NPL 50% ของสินเชื่อทั้งระบบได้หรือไม่
ธปท. : ณ วันนี้ระดับเงินกองทุน BIS Ratio อยู่ที่ 18.7 ประกอบกับการเร่งดำเนินมาตรการที่ ธปท. และธนาคารต่าง ๆ ได้เห็นร่วมกันในเรื่อง มาตรการเชิงป้องกัน (pre-emptive) จะเป็นสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์อย่างปี 2540 เชื่อว่าเราจะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยดี
ถาม : ปัจจุบันมี NPLs ถึงครึ่งหนึ่งหรือเปล่า
ธปท. : ปัจจุบัน NPLs ไม่ถึงครึ่ง และหวังว่าการทำมาตรการเชิงรุกจะไม่ทำให้เงินกองทุนไปถึงจุดนั้น แต่อย่างที่พูดถึงในหนังสือเวียนฉบับนี้คือ ต้องมีการประเมิน Stress Test ว่าลูกหนี้แต่ละธนาคารจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน
เราคงไม่ปล่อยให้ NPLs ไปถึงร้อยละ 50 ปัจจุบันแนวทางนโยบายของเราเป็นการป้องกัน ถ้าเงินกองทุนลดลงไประดับหนึ่ง เราจะมีมาตรการดูแลเป็นระดับไป ไม่ปล่อยลงไปต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วค่อยกลับมาแก้ไข เรื่องการกันสำรองก็เช่นกัน ถ้าเห็นว่าลูกหนี้มีปัญหาก็จะหารือกับสถาบันการเงินเรื่องการตั้งกันสำรองล่วงหน้า ไม่ปล่อยให้เป็นหนี้เสียแล้วจึงกันสำรอง ซึ่งจะกระทบต่อกำไรและเงินกองทุนของธนาคาร
ถาม : สถานการณ์ตอนนี้ทำให้คนเข้าถึงสินเชื่อยากกว่าเดิม
ธปท. : สถานการณ์ขณะนี้พบว่า ระดับเงินกองทุนฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 18.7% นี้ สถาบันการเงินยังสามารถปล่อยสินเชื่อได้ แต่การดำเนินงานของสถาบันการเงิน คือ การนำเอาเงินฝากของประชาชนไปปล่อยสินเชื่อ จึงต้องมั่นใจว่าลูกหนี้ที่จะนำสินเชื่อไปปล่อยต้องเป็นสินเชื่อที่มีศักยภาพอยู่ ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หลังช่วงโควิด 19 ธุรกิจของธนาคารพาณิชย์คือการปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น ถ้าลูกหนี้มีศักยภาพ ธนาคารก็ปล่อยสินเชื่อให้
ถาม : ทางการจะเข้าไปดูแลหรือเปล่า
ธปท. : คงยังไม่ถึงกับทางการเข้าไปดูแล คงต้องหารือร่วมกันว่าจะมีวิธีเพิ่มเงินกองทุนได้อย่างไร มีแผน 2 – 3 ปีข้างหน้าว่าจะดำเนินการอย่างไร ถ้า Stress Test ออกมาต่ำกว่าที่ตั้งไว้จะมีแผนเสริมสร้างเงินกองทุนอย่างไร ไม่อยากให้มีการดำเนินการทางกฎหมายหรือสร้างกฎเกณฑ์ ในช่วงแรกจึงเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ การให้นโยบายเรื่องการระดมเงินกองทุนที่ชัดเจนขึ้น
ถาม : สถาบันการเงินจะส่งแผนให้เมื่อใด
ธปท. : ประมาณปลายเดือนหน้า ส่วนเรื่องสมมติฐานก็มีการหารือกันอยู่ สมมติฐานแต่ละธนาคารต้องตั้งขึ้นมาเองเพราะมีความเสี่ยงและลักษณะของลูกหนี้ที่แตกต่างกัน ภายในสิ้นเดือนหน้าคาดว่าคงจะเห็นภาพของ Stress Test หลังจากนั้นคงต้องมาคุยกันว่าจะมีแผนบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างไร
@มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพิ่มเติม ระยะที่ 2
ถาม : ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่เราเห็นว่าด้อยลงอยู่ในกลุ่มไหน เท่าที่ดูมีแต่มาตรการช่วยเหลือรายย่อยเป็นหลัก ส่วนของลูกหนี้รายใหญ่มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมหรือไม่
รณดล : ลูกหนี้รายใหญ่ยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก อาจเป็นเพราะเค้ามีสภาพคล่องอาจมีเรื่องของการบริหารจัดการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ในระยะที่ดีอยู่ ส่วน SMEs เอง พรบ. Softloan ที่เรามีการยกดอกยกต้น 6 เดือนจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 ก็ทำให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังมีฐานะจัดชั้นปกติอยู่ แต่เราไม่ได้นิ่งนอนใจ สถานการณ์เหล่านั้นต้องดูให้ชัดในเรื่องของ Stress Test ลูกหนี้กลุ่มนี้หลังจากพักต้นพักดอกเบี้ยครบกำหนด 6 เดือนแล้ว แต่ละ สง. ก็ต้องไปคุยกับลูกหนี้เป็นรายตัว ซึ่งอันนี้เราได้มีการหารือกับฝ่ายจัดการของ สง. ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ถาม : แนวโน้มที่เห็นว่าลูกหนี้มีความสามารถลดลงมาก ส่วนไหนที่เรากังวลมากที่สุด
รณดล : Sector ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น การท่องเที่ยว ค้าส่งค้าปลีก ที่ก่อนหน้านั้นมาตรการล็อกดาวน์ก็ทำให้กิจการค้าส่งค้าปลีกได้รับผลกระทบพอสมควร
แต่อย่างที่เรียนไว้ เรื่องผลกระทบต้องประเมินเป็นรายวัน เมื่อมีการผ่อนคลายลงก็ทำให้กิจการบางกิจการก็เริ่มมีสภาพคล่องดีขึ้น แต่อาจมีเรื่องระบาดระยะที่สอง หรือมีมาตรการอื่นเข้ามา เราก็ไม่ได้ไว้วางใจ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็คงต้องดูศักยภาพของเค้าด้วย เพราะเรื่องของลูกหนี้ไม่ใช่เรื่องของโควิด 19 อย่างเดียว ก่อนหน้าโควิด 19 ก็มีเรื่องของผลกระทบอาจเกิดจาก New Normal ต่าง ๆ เรื่องของดิจิทัล และอื่น ๆ ที่มาเกี่ยวข้องกับการแข่งขันของลูกหนี้ด้วย เพราะฉะนั้นการประเมินต้องดูอย่างใกล้ชิด
ถาม : เราเร่งรัดให้ปรับโครงสร้างหนี้ตลอด แต่ลูกหนี้ยังบอกว่ายังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ เขาไม่สามารถปรับโครงสร้างหนี้ ธปท. ได้คุยกับแบงก์หรือไม่ให้แบงก์พยายามมากขึ้น เหมือนอย่างซอฟต์โลน
รณดล : ในหนังสือเวียนที่เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่สอง เราได้เขียนชัดเจนในเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ที่เราคิดว่าอาจจะมีกำลังไม่ไหว ก็คือในเรื่องของการดำเนินการในเรื่องของการปรับ การยืดเวลาผ่อนชำระ ทำให้งวดการจ่ายสอดรับรายได้ ดังนั้นเพื่อให้เป็นรูปธรรม เราให้ สง. มีการรายงานเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อ ธปท. ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ว่ามีลูกหนี้เข้ามาดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับ สง. มากแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็นและจับต้องได้
ถาม : ตอนนี้มีการหารือกับแบงก์พาณิชย์ที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม มีกำหนดเวลาออกเมื่อไหร่ และรูปแบบที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ปกติ จะออกมารูปแบบไหน
ธัญญนิตย์ : ในหนังสือเวียนของเรามี 2 เรื่อง ที่พูดชัดๆ เรื่องแรก การลดดอกเบี้ยทั้งกระดาน อีกเรื่อง คือ ผู้ประกอบธุรกิจต้องพิจารณาว่าลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระดี สง. จะต้องมีสิ่งตอบแทนให้ลูกหนี้ดีด้วย เพื่อกระตุ้นให้เค้าเป็นลูกหนี้ดีต่อไป
เช่น อาจจะมี incentive ในเรื่องของลดดอกเบี้ย อันนี้เราไม่ได้กำหนด แต่ สง. ต้องไปพิจารณาหารางวัลให้กับลูกหนี้ดีเหล่านี้ ตามความเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย หรือ cashback ซึ่งเราได้มีการหารือกับผู้ประกอบธุรกิจ แต่อาจเป็นไปได้ว่าเขาไม่ได้ประกาศเป็นการทั่วไป แต่มีการพิจารณาตามความเหมาะสมของการชำระหนี้ของลูกหนี้
ถาม : แสดงว่าขึ้นอยู่กับแต่ละแบงก์ ไม่ใช่แพคเกจใหญ่จาก ธปท.
ธัญญนิตย์ : เราให้เป็นนโยบายไป แต่เราไม่ได้ไปกำหนดตายตัวเป็น rule based เพราะบางทีโครงสร้างของลูกหนี้ แบงก์จะรู้ดีที่สุด ประวัติการชำระหนี้เขาจะวัดว่ากี่ปี ๆ เขาจะให้ incentive ที่แตกต่างกันได้ เพราะฉะนั้นให้เขาไปพิจารณาเอง เพื่อรักษาลูกหนี้ดีไม่ให้เป็นลูกหนี้ที่เสีย
รณดล : อันหนึ่งที่สำคัญที่ ผก.2 (ธัญญนิตย์) พูดถึง คือ ลูกหนี้ดีในช่วงก่อนหน้านั้นอาจจะมีเข้าใจความคลาดเคลื่อนว่า การเลื่อนดอกเลื่อนต้นก็คือไม่ต้องชำระหนี้ ก็เลยมาเลือกทางเลือกเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงดอกเบี้ยเหล่านั้นเมื่อครบกำหนดการช่วยเหลือก็จะเดินต่อก็มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นถ้าเป็นลูกหนี้ปกติเราก็พูดและตอกย้ำเสมอว่าก็ควรมาชำระตามงวด และตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผก. 2 (ธัญญนิตย์) ได้พูดไว้แล้วว่า ควรมีแนวทางที่จะให้แรงจูงใจหรือผลตอบแทนอื่น ๆ ที่ให้ลูกหนี้ปกติกลุ่มนี้คืนไปด้วย
ธัญญนิตย์ : ขอเรียนเพิ่มเติม จากการที่หารือกับผู้ประกอบธุรกิจในมาตรการแรก ลูกหนี้ที่สามารถจ่ายได้เขาไม่มาเข้ามาตรการเพราะลูกหนี้เขามองว่าสถานการณ์โควิด จะยาวนานแค่ไหน อาจจะมีเฟสสองหรือไม่ ไม่มีใครคาดเดาได้ สิ่งที่ลูกหนี้กลัวคือต้องการรักษาเครดิตให้ดีไว้
ดังนั้น ถ้ามีแรงจ่ายได้ตามปกติเขาจะจ่าย เพราะเค้ามุ่งหวังว่า โอกาสข้างหน้าเผื่อเขาต้องการวงเงินเพิ่มหรือสิทธิพิเศษเพิ่ม ถ้าเขาเป็นลูกหนี้ที่ดีเขาจะขอวงเงินได้ง่าย อันนี้ผู้ประกอบการหลายรายให้ข้อคิดเห็น โดยบริษัท non-bank แห่งหนึ่งที่ดีลกับลูกหนี้รากหญ้า ให้ข้อสังเกตว่าประชาชนรากหญ้าที่ได้รับเงินเยียวยามาก็นำเงินเยียวยามาชำระหนี้ เพราะเขาต้องการรักษาเครดิตของเขาไว้ให้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีเพื่อรองรับวงเงินหรือสิ่งที่จะขอจากแบงก์หรือบริษัทในอนาคต
ถาม : เรามีการประเมินไว้หรือไม่ว่ามาตรการระยะที่ 2 ที่ขยายมา จะมีการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากมาตรการขั้นต่ำจากมาตรการแรกได้มากน้อยแค่ไหน
รณดล : ณ วันนี้เรามีการช่วยเหลือระยะแรก 13 ล้านราย คาดหวังว่าไม่ควรจะต่ำกว่านั้น แต่ขณะเดียวกันลูกหนี้บางกลุ่มก็อาจจะได้รับความช่วยเหลือไปพอสมควรแล้วก็คงไม่ขอระยะที่สอง แต่มีลูกหนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากระยะแรก ก็คงมาขอความช่วยเหลือระยะที่สอง
วิเรขา (สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) : ลูกหนี้ที่เคยได้รับไปมาตรการแรกถ้าเขายังมีปัญหามีผลกระทบอยู่ก็สามารถต่อมาตรการได้ ก็จะมีกลุ่มของลูกหนี้ 13 ล้านบัญชีไปรวมอยู่ด้วยแล้ว ถ้าเป็นลูกหนี้ที่คิดว่าเจออุปสรรคค่อนข้างเยอะหรือบางธุรกิจที่ยังไม่เปิดล็อกดาวน์ขึ้นมา เขาก็สามารถเสนอช่วยเหลือลูกหนี้ได้ในวงกว้าง แบงก์ก็เสนอการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้เลย แต่ในการประมาณการว่าจะเท่าไหร่ต้องดูสถานการณ์ไปสักระยะหนึ่ง
รณดล : มาตรการไม่ว่าจะเป็นมาตรการระยะที่หนึ่งหรือระยะที่สองเป็นเรื่องของมาตรการเยียวยาว เป็นมาตรการชั่วคราวที่จะตอบโจทย์ของผลกระทบของโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดสภาพคล่องของลูกหนี้ ในระยะต่อไปสิ่งที่ทางแบงก์ชาติ และ สง. เห็นร่วมกันว่าต้องหามาตรการฟื้นฟู การเสริมรายได้ให้กับลูกหนี้ ซึ่งอันนี้ก็อาจเป็นการต้องย้อนกลับไปเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างให้กับลูกหนี้
ดังนั้น ลูกหนี้กลุ่มนี้อาจจะจำเป็นต้องดูแลวิธีการให้งวดการชำระเงินสอดรับกับรายได้ของลูกหนี้หลังโควิด 19 ไม่เช่นนั้นลูกหนี้กลุ่มนี้อาจจะไปไม่ได้ ในเรื่องของการฟื้นฟูลูกหนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลต่อไปหลังจากมาตรการเยียวยาจบไป
ถาม : มาตรการสินเชื่อเช่าซื้อและสินเชื่อบ้านที่เลื่อนไปได้อีก 3 เดือน คือ เลื่อนจากที่เฟสแรกที่จะจบในเดือน ต.ค. 63 ลูกหนี้บางรายที่ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือที่ยังประสบปัญหาสามารถได้รับขยายเวลาไปอีกสามเดือนหลังจากครบกำหนด ต.ค. 63 ใช่หรือไม่
ธัญญนิตย์ : ใช่ค่ะ มาตรการนี้รองรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้เก่าที่ได้รับสิทธิในมาตรการแรกไปแล้ว และกำลังจะครบกำหนดก็มาต่อได้ หรือลูกหนี้ที่ไม่เคยเข้ามาตรการก็มาเข้ามาตรการนี้ได้ รองรับได้หมด
รณดล : ระยะแรกสินเชื่อเช่าซื้อเป็นเรื่องจำกัดวงเงินไว้ แต่ในระยะที่สองเราไม่ได้จำกัดไว้ว่าต้องเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินเท่าใด เราขยายไปครอบคลุมทุกคน และขอย้ำว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการขั้นต่ำที่เห็นร่วมกัน แต่ สง. บางแห่งก็ให้มาตรการช่วยเหลือที่สูงกว่ามาตรการขั้นต่ำที่เรากำหนดไว้ บาง สง. เรื่องของเพดานดอกเบี้ยที่เรากำหนดไว้ เข้าใจว่ามี สง. บางแห่งที่ให้กู้ยืมด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าขั้นต่ำ อันนี้เป็นสิ่งที่ สง. แต่ละแห่งจะทำได้
ถาม : มาตรการพักหนี้เดิมของบัตรเครดิตและพีโลนต์ยังมีอยู่หรือไม่ แม้ว่ามาตรการที่สองมีการลดดอกเบี้ยไปแล้วยังต้องควบคู่ไปกับการพักชำระหนี้ด้วยหรือไม่
ธัญญนิตย์ : มาตรการเดิมอาจจะมีการทยอยครบกำหนด ดังนั้นอาจจะมีการซ้อนกับมาตรการระยะที่สอง แม้ว่าระยะที่สองเราไม่มีพูดถึงการเรื่องพักหนี้ แต่ว่ามาตรการที่ออกมานี้เป็นมาตรการขั้นต่ำ ถ้าผู้ประกอบธุรกิจรายใดอยากทำมากกว่านี้ หรือเห็นว่าลูกหนี้บางกลุ่มไม่สามารถจริง ๆ ก็สามารถจัดได้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้ ณ 15 มิถุนายน 2563 ลูกหนี้รายย่อยเราช่วยเหลือไป 15 ล้านราย ยอดหนี้ 3.8 ล้านล้านบาท
ถาม : เรามีการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียแล้ว อย่างเช่น คลินิกแก้หนี้ที่มีอยู่รองรับลูกหนี้ที่เป็น NPL แล้วก่อน 1 มกราคม 2563 แต่คนที่เป็น NPL ใหม่ ๆ เรามีโอกาสเห็นการขยายมาตรการคลินิกแก้หนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับ NPL ใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้จากโควิด 19
ธัญญนิตย์ : ในมาตรการระยะที่สอง เราพูดถึงว่าก่อนจะไปคลินิกแก้หนี้ (SAM) สง. เองสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เลยไม่ว่าจะเป็น NPL แล้วหรือยังไม่เป็น NPL ก็ตาม โดยให้ใช้ลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้มาใช้เลย อันนี้ สง. ทำได้เองเลย อันนี้เราสนับสนุนตรงนี้ด้วย
อ่านประกอบ :
แจง 5 มาตรการขั้นต่ำช่วยลูกหนี้! ธปท.สั่งพักหนี้ ‘บ้าน-รถ’ อีก 3 เดือน-ลดค่างวด-ชะลอยึดทรัพย์
ส่งผลดีผู้ถือหุ้น! สมาคมธนาคารฯหนุน ธปท. ‘งดปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน’-ยันเงินกองทุนแกร่ง
สร้างกันชน-รักษาภูมิคุ้มกันศก.! ‘วิรไท’ แจงเหตุขอแบงก์ ‘งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน’
ช่วยลูกหนี้ระยะสอง! ธปท.ประกาศลดดบ. ‘บัตรเครดิต-พีโลน’ 2-4% พ่วงขยายวงเงินเป็น 2 เท่า
งดจ่ายปันผลระหว่างกาล-ซื้อหุ้นคืน! ธปท.ให้แบงก์ รักษา ‘เงินกองทุน’ รองรับความเสี่ยง 1-3 ปี
ห่วงธุรกิจไปไม่รอด-เมินปล่อยกู้! 2 สมาคมฯท้วงธปท.ลดเพดานดบ. ‘พีโลน-จำนำทะเบียนรถ’
รับรู้รายได้ ดบ.ปกติ! เผยวิธีบันทึกงบฯ‘สถาบันการเงิน’ช่วงพักชำระหนี้-ทำให้ฐานะอ่อนแอ
cr: https://www.isranews.org/article/isranews-article/89803-bot-bank-covid-fund.html