“…เราต้องหยุดเสียเวลาไปกับการคุยเรื่องไม่สร้างสรรค์ เราต้องหยุด ไม่ปล่อยให้เกมการเมือง ที่ไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง มาดึงรั้งการก้าวเดินไปข้างหน้าของประเทศโดยไม่จำเป็น เป้าหมายข้างหน้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองของประเทศรอเราอยู่ เส้นทางนี้ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน…”
เป็นที่ชัดเจนสำหรับพรรคพลังประชารัฐว่าหัวหน้าพรรคคนต่อไปชื่อ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรค
โดยวันที่ 23 มิ.ย.นี้ ‘พล.อ.ประวิตร’ จะเดินทางเข้าพรรค ตอบรับคำเชิญอย่างเป็นทางการ ก่อนผ่านกระบวนการลงมติในการประชุมใหญ่ 27 มิ.ย.นี้
ส่วนเลขาธิการพรรค ไม่น่าจะผิดโผไปจากชื่อ ‘อนุชา นาคาศัย’ ส.ส.ชัยนาท พปชร. ส่วนชื่อ ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.คลัง รับบทบาทผู้อำนวยการพรรค
ขณะที่โครงสร้างกรรมการบริหารพรรค อาจมีไม่ถึง 34 คนตามเดิม แม้จะเพิ่มเติม ‘รองหัวหน้า’ กระจายอำนาจครอบคลุมถึงทุกภูมิภาค แต่ทุกสายบังคับบัญชายังขึ้นตรงกับ ‘พล.อ.ประวิตร’ แต่เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้สถานะ ‘4 กุมาร’ ได้แก่ ‘อุตตม สาวนายน’ หัวหน้าพรรคและรมว.คลัง , ‘สุวิทย์ เมษินทรีย์’ รองหัวหน้าพรรค และ รมว.การอุดมศึกษาฯ , ‘สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์’ เลขาฯพรรคและ รมว.พลังงาน และ ‘กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ขึ้นตรงกับ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรีโดยตรง
รายชื่อทั้งหมดนี้ยังไม่มีคำยืนยันอย่างเป็นทางการว่าตำแหน่งในพรรค-ในรัฐบาลจากนี้จะเป็นอย่างไร
แม้ความเคลื่อนไหวจากพรรคพลังประชารัฐ จะปรากฏเป็นภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่สวนทางภาพของการปรับคณะรัฐมนตรี ‘ครม.ประยุทธ์ 2/2’ ที่ปรากฏเป็นเพียงภาพเลือนรางจางๆ เท่านั้น
และที่ชัดเจนมีเพียงแค่ ‘ความเคลื่อนไหว’ ตั้งแต่ในพรรคแกนนำ ตลอดจนพรรคร่วมรัฐบาลทั้งรายเล็ก-รายใหญ่
พรรคเล็ก-พรรค 1 เสียง รวม 11 พรรค ที่เข้าร่วมซีกรัฐบาลตั้งแต่ต้น มีความเคลื่อนไหวอย่างน้อย 2 พรรคที่จะดำเนินการ ‘เลิกพรรค’ เพื่อเข้าร่วมสังกัด ‘พลังประชารัฐ’ อย่างเป็นทางการ
ประกอบด้วย ‘พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ – พรรคพลังชาติไทย’ และ ‘พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนง – พรรคประชานิยม’
‘พล.ต.ทรงกลด’ ยืนยันว่า ถ้า พล.อ.ประวิตรเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ ความเคลื่อนไหวนี้อาจเกิดขึ้นจริง เพราะเคยมีการหารือกันแล้วในระดับกรรมการบริหารพรรค และวิธีการเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมีคนเคยทำมาแล้ว
ขณะเดียวกันมีกลุ่มพรรคเล็กบางส่วน เริ่มจุดพลุ-เคลื่อนไหวร่วมทวงเก้าอี้รัฐมนตรี โดยมีรายงานว่า มีการลงชื่อสนับสนุนให้ ‘มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์’ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งต่อไป
อย่างไรก็ตาม ‘นพ.ระวี มาศฉมาดล’ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ระบุ มีอย่างน้อย 4 จาก 11 พรรคเล็ก ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุน ‘มงคลกิตติ์’ และไม่มีความคิดที่จะไปต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งนี้
ส่วนพรรคพลังท้องถิ่นไทมี 5 ส.ส.ในซีกรัฐบาล โดย ‘ชื่นชอบ คงอุดม’ โฆษกพรรค ส่งสัญญาณ ‘เด็กดี’ พรรคพร้อมทำหน้าที่รัฐมนตรี หากได้รับมอบหมาย แต่ไม่เคยร้องแรกแห่กระเชิงขอตำแหน่ง
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีรอยร้าวปรากฏคู่ขนานกับพรรคพลังประชารัฐมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ข่าวลือล่ารายชื่อกดดันให้หัวหน้าพรรคลาออก ตลอดจนการปรากฏตัวของ ส.ส. ร่วมวงกินข้าวกับ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ ที่ลาออกจากพรรค และรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน
ล่าสุด ปชป.เตรียมนัดประชุมกรรมการบริหารพรรค 29 มิ.ย.นี้ เพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ท่ามกลางการจับตามองว่า จะมีการหารือเรื่องปัญหาภายใน รวมถึงการปรับคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค
ส่วน ‘สารกระตุ้น’ ที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ คือการลาออกจากหัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ ‘ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล’ ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนชื่อบนเก้าอี้ รมว.แรงงาน
“พรรคทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ม.ร.ว.จัตุมงคลพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยแล้ว ส่งผลให้ทางกฎหมายไม่ได้อยู่ในวิสัยที่จะได้รับการพิจารณาเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคต่อไป ดังนั้นพรรคขอเสนอชื่อ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หากปรับคณะรัฐมนตรีในเร็ว ๆ นี้” นายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง รักษาการหัวหน้าพรรค รปช. แถลงชี้แจงการลาออกของ ม.ร.ว.จัตุมงคล เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งหมดล้วนแต่ ‘เร่งเร้า’ ให้นำไปสู่การปรับ ครม.ในเร็ววัน
แต่เมื่อย้อนดูท่าทีผู้นำรัฐบาลอย่าง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ย้ำหลายครั้งว่า ‘ปรับ ครม.’ และ ‘ปรับทัพ พปชร.’ เป็นคนละเรื่อง เป็นหนังคนละม้วน
“มันเหมือนละคร เหมือนดราม่าสักเรื่อง เหมือนดูละครก็ต้องย้อนมาดูตัวเหมือนกัน อย่าเพิ่งมาถามปรับ ครม.หรือยัง ถ้าปรับเมื่อไรเดี๋ยวบอกเอง บางทียังไม่ได้บอกก็จะปรับเอง เป็นการตัดสินใจของนายกฯแต่เพียงผู้เดียว และมีสัดส่วนของแต่ละพรรคอยู่แล้ว เป็นเรื่องของแต่ละพรรคก็ว่ากันมา”
“ผมยังไม่เห็นมีใครหลุดหรือไม่หลุด ใครจะหลุด ใครจะเข้า ผมยังไม่ได้ดู ผมเอางานวันนี้ให้ได้ก่อน ก็ทำไป คนที่อยู่ในตำแหน่งตอนนี้ก็ทำงานไป ทำให้ดีที่สุดก็แล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังประชุม ครม.เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ล่าสุด ‘ข่าวลือรอบใหม่’ สะพัดอีกครั้ง หลังมีรายงานข่าวว่า ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ส่งข้อความผ่านไลน์ถึง ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ยังไม่มีการปรับ ครม.ในช่วงนี้
หนึ่งในเหตุผลสำคัญ คือ ขอดำเนินการให้สภาผ่านความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้
ไม่นับรวมกับสัญญาณสำคัญ ผ่านถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการปรับรูปแบบรัฐบาล New Normal ดึงทุกภาคส่วนร่วมคิด ชวนประชาชนช่วยผลิตนโยบาย
“เราต้องหยุดเสียเวลาไปกับการคุยเรื่องไม่สร้างสรรค์ เราต้องหยุด ไม่ปล่อยให้เกมการเมือง ที่ไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง มาดึงรั้งการก้าวเดินไปข้างหน้าของประเทศโดยไม่จำเป็น เป้าหมายข้างหน้าที่มีความเจริญรุ่งเรืองของประเทศรอเราอยู่ เส้นทางนี้ไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลจนเกินไป ถ้าเราทุกคนร่วมมือกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา
เป็นความเคลื่อนไหวถึง ‘ครม.ประยุทธ์ 2/2’ ที่จนถึงวันนี้ภาพยังไม่ชัด-สัญญาณยังคลุมเครือ
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/89775-isranews-37.html