มหัศจรรย์กัญชายาไทยยาฝรั่งที่ต้องใช้อย่างมีสติและปัญญา

321

#มหัศจรรย์กัญชายาไทยยาฝรั่งที่ต้องใช้อย่างมีสติและปัญญา

การจู่โจมของไวรัสซาร์สโควี-2 ต่อมนุษยชาติทั่วโลกทั้งเขตร้อน เขตหนาว ทั้งประเทศรวยประเทศจนถ้วนหน้ากัน ทำให้หลายเรื่องดูเหมือนเงียบหายไป

กัญชาเป็นยาเสพติด(ยส.5) ที่กฎหมายอนุญาตให้นำมาใช้เป็นยาทางการแพทย์ได้ ข้อดีก็เยอะ ข้อด้อยก็แยะ ต้องนำมาใช้อย่าง “รู้จัก” และ “รู้ทัน” ถ้าใช้ถูกก็มีประโยชน์มหาศาล ถ้าใช้ผิดก็มีโทษมหันต์
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้เคยแสดงธรรมสอนญาติธรรมไว้ว่า “ผู้มีภาวนาเป็นหลักใจจะทำอะไรชอบใช้ความคิดอ่านเสมอ”

“ผู้มี”ธรรม นำใจ ในโลกหล้า
“ภาวนา” นิ่งรู้ ดูเหตุผล
“เป็นหลักใจ” ใช้คิด พินิจตน
“จะทำ”ลน ลุกลี้ ไม่มีทาง
“อะไร” เหตุ เลศนัย อะไรผล
“ชอบใช้” ยล ยินฟัง หวังสะสาง
“ความคิดอ่าน” ญาณเห็น จิตเป็นกลาง
“เสมอ” วาง เว้นชั่ว กลัวบาปกรรม

กัญชาเป็นพืชแสนวิเศษสุดมหัศจรรย์มีสารสำคัญในตัวหลายอย่างที่มีประโยชน์ ทั้งที่พิสูจน์ด้วยงานวิจัยและยังไม่ได้พิสูจน์

กัญชาชนิด “Cannabis sativa” ที่ปลูกกันอยู่มีราว 700 สายพันธ์ แต่ละต้นมีสารในตัวราว 500 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ ราว 108 ชนิด และกลุ่มเทอร์ปีน ราว 140 ชนิด
แต่มีสารสำคัญเด่นๆ 2 ชนิดคือทีเอชซี (THC) ที่ทำให้เสพติด กับซีบีดี (CBD) ที่ไม่เสพติดและมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์

กัญชายังมีลูกพี่ลูกน้องที่ชื่อ กัญชง (Hemp) ชื่อว่า “Cannabis Indica” ดูหน้าตาสองพืชนี้อาจแยกยาก แยกชัดเจนทางกฎหมายด้วยปริมาณ THC และสัดส่วนของ THC:CBD
ช่วงหลังๆนี้กัญชากัญชงมีการผสมข้ามพันธุ์กันไปกันมา ปรับรูปเปลี่ยนร่าง เกิดลูกก่อหลานออกมามากมายหลายสายพันธุ์ย่อยกว่า 15,000 สายพันธุ์ย่อย

จากอดีตถึงปัจจุบันกัญชา(+กัญชง) นำมาใช้ประโยชน์ 4 ด้านคือ ใช้รักษาโรคทางการแพทย์ ใช้ทางสันทนาการ ใช้ทางพิธีกรรม และ ใช้ทางเส้นใย
กัญชาใช้ทางยาได้ดี แต่กัญชงให้เส้นใยที่ดีกว่าหรือบางพันธุ์ให้น้ำมันโอเมก้าในเมล็ดสูง หรือ ให้สารซีบีดี (CBD) สูง

ผมเคยสอบถามคนไทยเชื้อสายม้งที่ปลูกกัญชง บอกว่า ไม่มีใครเอากัญชงมาสูบ เพราะ จะปวดหัวไม่เพลิดเพลินเจริญใจเหมือนสูบกัญชา เคยมีคนเอาไปใส่อาหาร ปรากฎว่า ท้องเสียเกือบตาย ไม่อร่อยเหมือนใส่กัญชา
กัญชา เป็นพืชที่ปรับตัวเก่ง กินเก่ง ดูดสารเก็บในตัวเยอะ มวลหมู่แมลงชอบ เมื่อปลูกจำนวนมากมักจะต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อรา หากกระบวนการปลูกกัญชาไม่มีการควบคุม จึงตรวจพบการปนเปื้อนตกค้างของโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อรา หรือตรวจเจอเชื้อรา/สารพิษจากเชื้อราได้ง่าย

หากควบคุมกระบวนการปลูกไม่ดี เมื่อส่งขายเพื่อทำยา ก็จะตรวจไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถนำไปใช้หรือไม่สามารถขายได้ ผู้ซื้อไม่รับซื้อ ถ้าปลูกจำนวนมากแล้วเจอแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ปลูก

การนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์จึงต้องควบคุมการผลิตวัตถุดิบกัญชาตั้งแต่การปลูก จนถึงการผลิต เพื่อให้ปลอดภัยจากโลหะหนัก สารกำจัดศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อรา และตัวเชื้อราหรือสารพิษจากเชื้อราซึ่งจะถือเป็นระดับผลิตยา( Medical grade) เพื่อส่งขายในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้าตรวจไม่ผ่านเขาก็จะไม่รับซื้อ

การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจวิเคราะห์กัญชาของกลางให้องค์การเภสัชกรรม พบว่า ทั้งกัญชาวัตถุดิบ และสารสกัดกัญชาจากวัตถุดิบดังกล่าว ทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนสารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนักทุกตัวอย่าง

ส่วนการตรวจกัญชาของกลางที่ทาง ปปส.เตรียมไว้ให้หน่วยงานต่างๆที่ขอใช้ จำนวน 22 ตัน โดยสุ่มตัวอย่าง 38 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ตามมาตรฐานตำรายาสมุนไพรไทย(Thai Herbal pharmacopiae; THP)
ที่ตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 33 ชนิด และโลหะหนัก 4 ชนิด (ปรอท สารหนู แคดเมียม ตะกั่ว) พบว่า ไม่ผ่าน 37 ตัวอย่าง ผ่าน 1 ตัวอย่าง (พบแคดเมียมในปริมาณไม่เกินค่ามาตรฐาน) แต่ถ้าคิดตามมาตรฐานประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องสารตกค้างในอาหารตามค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ (Maximum residual limit; MRL) ต้องตรวจ 62 ชนิด พบว่า ไม่ผ่านทั้ง 38 ตัวอย่าง เนื่องจากเป็นการใช้มาทำยา จึงใช้มาตรฐานตามTHP ที่ตรวจผ่าน 1 ตัวอย่าง คิดปริมาณที่ใช้ได้ 7 กก. (จาก 22 ตัน)

การนำกัญชามาใช้เป็นยาในทางแผนปัจจุบัน จะใช้น้ำมันกัญชาสกัด ซึ่งปริมาณสารสำคัญที่ได้ ขึ้นอยู่กับกัญชาวัตถุดิบ และเทคนิคการสกัดส่วนใหญ่จะได้สารทีเอชซี (THC) ราว 1-10 % แล้วนำมาผสมสารอื่นให้เจือจางจนมีความเข้มข้นราว 1-5% ส่วนใหญ่มักผสมกับน้ำมันมะพร้าว

การปลูกกัญชาเพื่อสกัดสารสำคัญมาทำน้ำมันกัญชา จึงเน้นการปลูกพืชกัญชาสายพันธ์ที่ให้สารทีเอชซี (THC) สูง เมื่อปลูกถึงฤดูเก็บเกี่ยวคือ ออกดอกแล้ว ก็เก็บดอกไปใช้ ส่วนต้นใบราก ก็เอาไปทำลายทิ้งที่องค์การเภสัชกรรม ทำโครงการปลูกและศึกษาวิจัย จึงปลูกแบบภายในอาคารปิด ใช้พันธุ์ต่างประเทศ ที่ทราบชนิดสายพันธุ์ชัดเจน ปริมาณสารสำคัญชัดเจน เพราะนำเอามาสกัดจะได้ปริมาณสารสำคัญสูง และปลอดจากสารกำจัดศัตรูพืชและโลหะหนักปนเปื้อนและนิยมใช้ดอกมาทำสารสกัด ไม่ใช้ใบกับต้นเพราะมีสารสำคัญน้อยกว่า การสกัดสารจากสมุนไพร มีทั้งการสกัดหยาบ (Crude extraction)สกัดกึ่งบริสุทธิ์ (Semi-purified extraction) สกัดบริสุทธิ์ (Standard Purified extraction)และสกัดบริสุทธิ์มาตรฐาน (Purified extraction) ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ทางยาว่าต้องการสรรพคุณใด ถ้าต้องการกลุ่มสารกว้างๆก็สกัดหยาบ ถ้าต้องการระบุสารสำคัญชัดเจนแต่หลายชนิดผสมกันอยู่ก็สกัดกึ่งบริสุทธิ์ แต่ถ้าต้องการสารเดี่ยวๆโดยไม่มีสารอื่นๆปะปนอยู่เช่น THC หรือ CBD ก็สกัดบริสุทธิ์
แต่ถ้าต้องใช้สารมาตรฐานเพื่อการตรวจวิเคราะห์ก็ต้องสกัดสารบริสุทธิ์มาตรฐานมาใช้

การนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์แผนไทย มีอยู่ในตำรับยามาแต่โบราณ มีความแตกต่างกันแต่ละตำรับในแง่ของเครื่องยาผสมตัวอื่นๆ และปริมาณที่ใช้

ส่วนของกัญชาที่ใช้แต่ละตำรับก็แตกต่างกันไปใช้ใบบ้าง ดอกบ้าง ก้านบ้าง แต่ส่วนใหญ่มักระบุแค่คำว่า “กัญชา” โดยมิได้ระบุส่วนที่ใช้ต้องไม่สับสนกับเครื่องยาที่ระบุเป็น “กัญชาเทศ” ที่มิได้หมายถึงกัญชาสายพันธุ์ต่างประเทศ แต่เป็นพืชอีกชนิดหนึ่งคนละวงศ์ตระกูลกัน เท่าที่ดูในตำราอายุรเวทศึกษา 56 ตำรับ และตำรายาเกล็ด 119 รายการ มีใช้ดอกแค่ 1 ตำรับ ใช้ก้าน 1 ตำรับ ใช้ใบ 24 ตำรับ ที่เหลือมิได้ระบุส่วน ใช้คำว่า “กัญชา” เฉยๆ มีใช้กัญชาเทศ 2 ตำรับเข้าใจว่า ส่วนใหญ่แพทย์แผนโบราณใช้ส่วนของใบเป็นหลัก เป็นใบช่วงกลางหนุ่มกลางแก่ หรือไม่อ่อนไม่แก่ เรียกว่าใบเพสลาด (อ่านว่า เพสะหลาด) และมีกลิ่นฉุนเฉพาะสำหรับแต่ละโรค และใช้พันธุ์ไทยหรือพันธุ์พื้นบ้านภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยรู้ว่า กัญชาเป็นสมุนไพรรสเมาเบื่อ ก่อนใช้จะต้องฆ่าฤทธิ์ก่อน การเก็บกัญชาต้องเก็บก่อน 8โมงเช้า ให้จับดูที่ต้น ถ้ามันเหนียวติดมือ ก็ใช้ได้ กลิ่นหอม นำมาแขวนในที่ร่ม
จากนั้นเอามาคั่วฆ่าฤทธิ์ ใส่กะทะแล้วใช้มือขยำๆจนมือเราร้อนทนไม่ได้ก็พอ บางตำรับ แช่เหล้าขาว35 ดีกรีก่อนคั่ว แห้ง อบแห้ง การแช่แล้วแต่ตำรับยา

การเลือกกัญชามาใช้รักษาโรคตามตำรับยาไทย แพทย์แผนไทย (เวชกรรมไทย) ต้องวินิจฉัยสาเหตุของโรค (สมุฏฐานวินิจฉัย) ว่าเกิดความผิดปกติของธาตุ (อวัยวะ)กลุ่มใดในกลุ่มธาตุดินน้ำลมไฟ
กัญชาที่ปลูกในพื้นที่ดินดำใช้รักษาโรคจากธาตุดิน ปลูกในพื้นที่ดินแดงใช้รักษาโรคจากธาตุน้ำ ปลูกในพื้นที่ดินขาวใช้รักษาโรคจากธาตุลมถ้าปลูกกัญชาในดินป่าหรือหินกรวดทราย จะนำมาใช้รักษาโรคฝีสาร (ฝีภายใน)หรือมะเร็งต่างๆองค์ความรู้เหล่านี้สอดคล้องกับการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ การปลูกกัญชาแต่ละสายพันธุ์จะมีสูตรปุ๋ยดินที่แตกต่างกัน และให้ปริมาณสารมากน้อยที่แตกต่างกัน สัดส่วนผสมของสารแต่ละส่วนให้ผลการรักษาที่แตกต่างกัน (Entourage effect) Entourage effect คือ ผลของการที่สารประกอบอื่นๆ (เช่น สารในกลุ่มเทอร์ปีน และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ เป็นต้น)ในกัญชาที่ไม่ใช่แค่สารเคมีหลักๆ (กลุ่มสาร THC และ CBD)ช่วยเสริมฤทธิ์ให้ประสิทธิภาพของกัญชาออกฤทธิ์ได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในการรักษามากขึ้น แต่ปัญหาของเราตอนนี้คือ ยังไม่รู้ว่าพันธุ์ไทยที่แพทย์แผนโบราณเคยใช้กันนั้นคือ สายพันธุ์อะไร (Specy, Variety) กันแน่ และแต่ละสายพันธุ์เหมาะกับรักษาโรคหรือใช้ในตำรับใด ซึ่งจะแยกกันทางกลิ่นของดอกและใบ ความจริงที่เรารู้คือ กัญชาและสารสกัดกัญชาเป็นยาเสพติด (ประเภท 5) และใช้ประโยชน์เป็นยาทางการแพทย์ได้หลายโรคหลายอาการ ความลับของสารสกัดกัญชาก็คือ ไม่สามารถใช้สารสกัดบริสุทธิ์ตัวเดียวจากกัญชาหรือสังเคราะห์ออกมาใช้ได้ แต่ต้องเป็นสารสกัดที่มีสัดส่วนของสารระดับหนึ่งจึงจะรักษาโรคใดโรคหนึ่งได้ โดยสรรพคุณในการรักษาก็ใช้สัดส่วนนี้ไม่เหมือนกัน ทั้งสัดส่วนของกลุ่มแคนนานอยด์ต่อกลุ่มเทอร์ปีนส์ และสัดส่วนของสารทีเอชซีต่อซีบีดี (THC: CBD) ซึ่งต้องการการศึกษาวิจัยให้ชัด จะได้ประโยชน์ในการรักษาเฉพาะแต่ละโรคไป

ดังนั้น น้ำมันกัญชา 1 ขวดที่ได้มาจึงไม่ใช่ “ยาวิเศษที่รักษาได้ทุกโรค และทุกราย” แม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกันก็ตาม
ความลับของกัญชาในตำรับยาคือ ยังไม่ทราบสายพันธุ์ไทยที่ใช้ในยาแต่ละตำรับ ว่าใช้ต้นไหน ปลูกที่ไหน กลิ่นดอกแบบไหน ใช้รักษาโรคอะไร เพราะกลิ่นแบบหนึ่งก็รักษาโรคหนึ่ง จึงมิใช่ “ตำรับยากัญชารักษาทุกโรค” เช่นกัน
ดังนั้น เราต้องไม่ทิ้งโอกาส และไม่คว้าวิกฤติ การวางแผนที่รอบคอบ ศึกษาวิจัยให้ดีพอ จำแนกสายพันธุ์ให้ชัดเจน อันไหนเหมาะใช้ในตำรับยาไทย อันไหนเหมาะกับการเอามาทำสารสกัด เพิ่มความคงที่ของสายพันธุ์ที่จะส่งเสริมกระบวนการปลูกด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ได้ต้นอ่อนที่เหมือนเดิม ทนทาน โตเร็ว จัดทำรหัสพันธุกรรมกัญชา จัดทำมาตรฐานตำรายาสมุนไพรกัญชา ทำมาตรฐานตำรายาไทยกลุ่มสารสกัดกัญชาวางระบบมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์คุณภาพ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ของวัตถุดิบกัญชา สารสกัด ยาตำรับและผลิตภัณฑ์กัญชาที่สอดคล้องกับสากลเพื่อให้ส่งขายต่างประเทศได้ หากจะสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกขายต้องมีเป้าหมายและตลาดที่ชัดเจน เลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ จะได้ไม่เสียของและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

นพ.พิเชฐ บัญญัติ
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เลขาธิการสมาคมเวชกรรมไทย
๑๕/๖/๒๕๖๓

Credit : https://www.facebook.com/106600834215422/posts/169995984542573/?d=n

- Advertisement -