‘การบินไทย’ เตรียมประกาศโครงสร้างองค์การ-เงินเดือน-สิทธิประโยชน์พนักงานอัตราใหม่ ในเดือนก.พ.64 เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ พร้อมเปิดโครงการเสียสละฯ ‘MSP C’ ขณะที่ 15 บริษัทสนใจร่วมลงทุนศูนย์ซ่อมฯ ‘ดอนเมือง-อู่ตะเภา’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.ที่ผ่านมา ร.ท.ณทชัย จันทร์สุดา รักษาการ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (DI) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับพนักงานการบินไทยผ่านช่องทางออนไลน์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า คาดว่าการจัดโครงสร้างองค์ใหม่ของบริษัท การบินไทย จะมีความชัดเจนในเดือนก.พ.2564 ขณะที่โครงสร้างใหม่ดังกล่าวจะสอดคล้องกับธุรกิจของการบินไทยในอนาคต
“ตอนนี้คณะที่ปรึกษาฯได้จัดทำโครงสร้างใหม่ได้พอสมควรแล้ว ตอนนี้เราลงมาถึงระดับ N (-2) คือระดับ VP (ผู้อำนวยการใหญ่) ซึ่งชื่อใหม่อาจไม่ใช้ VP และ EVP (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) แล้ว โดยทีมที่ทำกำลังไปคุยกับแต่ละหน่วยจะมีการควบรวม หรือปรับลด เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจในอนาคตของบริษัทฯอย่างไร คาดว่าเดือนก.พ.ปีหน้า พนักงานจะได้เห็นโครงสร้างใหม่ของทั้งบริษัทฯ” ร.ท.ณทชัยกล่าว
ร.ท.ณทชัย ระบุว่า หลังจากมีการประกาศโครงสร้างองค์ใหม่แล้ว บริษัทฯจะมีการประกาศโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP) อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้ที่มีโครงการ MSP A และ LW20 ไปแล้ว โดยเรียกว่าโครงการ MSP C ทั้งนี้ เพื่อให้พนักงานตัดสินใจอีกครั้งว่า หลังจากได้เห็นโครงสร้างองค์กร เงินเดือนและสิทธิประโยชน์ต่างๆในอัตราใหม่แล้ว พนักงานบางส่วนที่เหลืออายุการทำงานอีกไม่มากอาจตัดสินใจเข้าโครงการ
“พอโครงสร้างเราออกแล้ว สิทธิประโยชน์พนักงานทราบแล้ว และผลตอบแทนอันใหม่ออกแล้ว เราจะมีโครงการ MSP C ให้พนักงานได้เลือกอีกครั้งว่า เมื่อท่านเห็นทุกอย่างแล้ว บางท่านอาจจะขอออกไปอยู่ข้างนอกดีกว่า เนื่องจากดูแล้วเหลือเวลาทำงานอีกเล็กน้อย และผลตอบแทนในโครงการ MSP C จะค่อนข้างใกล้เคียงกับ MSP A ซึ่งเมื่อท่านเห็นแล้วอาจเปลี่ยนใจมาเข้า MSP C ก็ได้ ขอให้อดใจ กำลังจะออกเร็วๆนี้” ร.ท.ณทชัยกล่าว
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดโครงสร้างองค์เป็นเพียงกระบวนการ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องพิจารณาก่อนว่าแนวโน้มธุรกิจข้างหน้าเป็นอย่างไร กลยุทธ์และแผนเป็นอย่างไร จึงจะออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่สอดกับการแผน ซึ่งเรื่องนี้พนักงานไม่ต้องกังวลอะไร หากเป็นคนเก่ง ดี สามารถทำงานได้ดี ปรับตัวได้ ยืนยันว่าไม่ตกงานแน่นอน
“หลังจากที่แผนฟื้นฟูฯผ่านและมีผู้บริหารแผน ไม่ต้องกังวลเลย ขอให้ทำงานเต็มที่ วันนี้ช่วยโครงการ Together We Can 2 (โครงการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน) ให้ได้ 100% อีกประมาณ 3-4 เดือนเอง… แล้วไม่ต้องไปกังวลว่าโครงสร้างใหม่จะเป็นอย่างไร ฐานเงินเดือนจะเป็นอย่างไร สวัสดิการจะเป็นอย่างไร เพราะเวลาเราปรับ เราจะปรับให้เหมาะสมกับตลาดและกลยุทธ์ แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังว่ากลยุทธ์คืออะไร โครงสร้างเป็นอย่างไร” นายชาญศิลป์กล่าว
ปัจจุบันบริษัท การบินไทย มีพนักงาน 19,372 คน ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ MSP A จำนวน 1,862 คน , ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการลาระยะยาว (LW20) 2,620 คน และได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ (LW20 & MSP A) จำนวน 338 คน ขณะที่ประมาณเดือนมี.ค.2564 บริษัทฯจะประกาศโครงการ MSP B โดยให้พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ LW 20 สมัครเข้าร่วมโครงการ MSP B ได้ ซึ่งจะได้รับเงินชดเชยมากกว่าโครงการ MSP A
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ส่งหนังสือไปยังบริษัทที่มีศักยภาพทั้งในและต่างประเทศ รวม 23 แห่ง เพื่อเชิญชวนและสอบถามว่า มีความสนใจเข้าร่วมลงทุนกับบริษัท การบินไทย ในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ได้แก่ ธุรกิจซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy Maintenance) ที่สนามบินดอนเมือง และโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา หรือไม่นั้น
ล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ บริษัท 15 แห่ง แจ้งว่าสนใจจะเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานของบริษัท การบินไทย และมีการขอข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ST Engineering Aerospace System Pte. Ltd. (สิงคโปร์) ,SIA engineering company (สิงคโปร์) ,Hong Kong Aircraft Engineering Company Limited (HAECO) (ฮ่องกง) ,Taikoo (xiamen) Aircraft Engineering Co.Ltd. (จีน) ,Lufthansa Technik AG (เยอรมนี)
Thai Aerospace Industries Company Limited (TAI) ,Air France-KLM (ฝรั่งเศส-เนเธอร์แลนด์) ,Thai Air Asia (ไทย) , บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘บางกอกแอร์เวย์’ (ไทย) , Vietjet Air (เวียดนาม) และบริษัท AAS Auto Services Co.,LTD (ไทย) เป็นต้น
ส่วนกลุ่มนักลงทุนในประเทศ เช่น กลุ่ม King power และบริษัท ไทย เบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ไทยเบฟ’ ระบุว่า ไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจนี้ ส่วนบริษัทที่อยู่ในกลุ่มเจ้าของที่ดิน คือ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ยังไม่ได้การส่งหนังสือตอบกลับมาว่า สนใจจะเข้าร่วมลงทุนหรือไม่