“…ปัจจุบันนายนิพนธ์ ถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบสมัยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา อีกเกือบ 10 คดี โดยอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นอยู่ ทั้งหมดคือคดีความเท่าที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ปรากฏชื่อของนายนิพนธ์ และนายนวพล 2 พี่น้อง ‘บุญญามณี’ หัวใจของ ‘บ้านใหญ่’ แห่งสงขลา ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา-จำเลย…”
ปฏิเสธได้ยากว่าตระกูล ‘บุญญามณี’ เป็นอีกหนึ่งตระกูลการเมืองระดับ ‘บ้านใหญ่’ มีบารมี-อิทธิพลทางความคิดในพื้นที่ จ.สงขลา มาอย่างช้านาน และ 2 พี่-น้อง นายนิพนธ์ บุญญามณี และนายนวพล บุญญามณี เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา มาแล้ว ขณะที่นายนิพนธ์ ก้าวหน้าถึงขั้นดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีนายนิพนธ์ และนายนวพล ถูกร้องเรียนกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา หลายกรณีด้วยกัน บางกรณีอยู่ระหว่างตรวจสอบขององค์กรอิสระ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) บางกรณีถูกส่งฟ้องศาล และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
มีคดีอะไรน่าสนใจบ้าง? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมให้ทราบ ดังนี้
กรณีนายนวพล บุญญามณี
1.คดีสมยอมกันในการเสนอราคาตามโครงการจัดซื้อพันธุ์สัตว์น้ำ (กุ้งก้ามกราม) จำนวน 40 ล้านตัว งบประมาณ 10,000,000 บาท
กรณีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนว่า นายนวพล มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคาบางรายให้มีสิทธิทำสัญญาจัดซื้อพันธุ์กุ้งกับ อบจ.สงขลาหรือไม่ ก่อนที่มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดนายนวพล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และมีมูลเป็นการละเลยไม่ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่หรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือประพฤติตนฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 มาตรา 79
นายสามารถ บุญทอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักบริหารงานนโยบายและแผน 7 รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองส่งเสริมคุณภาพชีวิต องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (2) (4) และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
นอกจากนี้ ยังชี้มูลความผิด นายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง ผู้ประกอบการจำหน่ายพันธุ์สัตว์น้ำ ซึ่งเป็นคู่เทียบ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้มีสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐอันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ กระทําความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ หรือกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออํานวยแก่ผู้เข้าทําการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิสิทธิทําสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 และตามมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 7 ปี นายนวพล กับพวก ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตฯ
ส่วนนายธรณิศ เพ็ชรยิ่ง จำเลยในกลุ่มเอกชน ถูกศาลออกหมายจับ เนื่องจากหลบหนีไม่มารายงานตัวต่อศาล
2.คดีนำรถยนต์ราชการไปจำนำที่บ่อนการพนัน
คดีนี้พนักงานอัยการ จ.สงขลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนวพล บุญญามณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายก อบจ.สงขลา เป็นจำเลย คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยโจทก์ฟ้องว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุเมื่อปี 2545-2546 นายนวพล (จำเลย) เป็นรองนายก อบจ.สงขลา ได้ทำบันทึกขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ ของ อบจ.สงขลา ไปใช้ปฏิบัติราชการ 2 ครั้ง และขออนุญาตนำรถยนต์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ที่บ้านเลขที่ 503/3 ถ.นครนอก ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา นอกจากนี้จำเลย ผู้มีหน้าที่จัดการครอบครองดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวร่วมกับนายนรินทร์ สุขจันทร์ สมาชิกสภา อบจ.สงขลา เบียดบังรถยนต์ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต โดยนำไปจำนำเป็นเงินกู้ 5 แสนบาท ไว้แก่นางปวีณา นวลรัตน์ และไม่ประสงค์ไถ่ถอนเพื่อส่งคืนให้แก่ อบจ.สงขลา
นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว จำเลยยังนำรถยนต์คันอื่นไปเติมน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตเบิกจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่นของรถยนต์ดังกล่าว รวม 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 44,500 บาท เพื่อให้ อบจ.สงขลา อนุมัติจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นให้แก่บริษัทเอกชนดังกล่าว ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยนำรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่นางปวีณา ไม่ได้ใช้รถ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และ อบจ.สงขลา
โดยศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 18 ปี 24 เดือน อย่างไรก็ดีศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้อง
ต่อมาศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยลงโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือนแก่นายนวพล โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายนรินทร์นำรถยนต์คันดังกล่าวไปจำนำไว้แก่นางปวีณา ตั้งแต่ มี.ค. 2546 แต่จำเลยยังทำบันทึกขออนุญาตใช้รถยนต์ส่วนกลางตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 2546-4 ก.พ. 2547 โดยจำเลยเป็นผู้อนุญาตเองตามสำเนาบันทึกข้อความทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยมิได้ครอบครองรถยนต์ส่วนกลาง เพราะรถยนต์คันดังกล่าวถูกนำไปจำนำไว้แก่นางปวีณา เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามได้ยึดรถยนต์ไว้ตรวจสอบ จำเลยกับนรินทร์กลับไปแจ้งความร้องทุกข์ว่า รถยนต์คันดังกล่าวถูกคนร้ายลักไปซึ่งไม่เป็นความจริง ส่อแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยตั้งแต่แรกว่า จำเลยรู้เห็นและยินยอมให้นายนรินทร์นำรถยนต์ส่วนกลางไปจำนำ
พฤติการณ์ของจำเลยซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษารถยนต์ส่วนกลางที่ใช้ในราชการร่วมกับพวกนำรถยนต์ไปจำนำไว้เป็นเวลานาน 6 เดือนเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการเบียดบังทรัพย์เป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า จำเลยนำใบสั่งซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ส่วนกลางไปใช้กับรถยนต์คันอื่น แต่กลับทำรายงานการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรถยนต์ส่วนกลางดังกล่าวอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยทราบอยู่แล้วว่า รถยนต์ส่วนกลางไม่ได้นำไปใช้งานในการปฏิบัติราชการ ส่อแสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาไม่สุจริต มุ่งหมายเพื่อได้รับประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดฐานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐอีกฐานหนึ่ง เมื่อจำเลยเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 5 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดอีก 5 กระทง
พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
กรณีนายนิพนธ์ บุญญามณี
1.คดีละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ มิได้อนุมัติงบประมาณเบิกจ่ายเงินให้กับบริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เป็นค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาท ทำสัญญาซื้อขายกันเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2556
โดยพฤติการณ์ตามการไต่สวนของ ป.ป.ช. กล่าวหาว่า พฤติการณ์ของนายนิพนธ์มีลักษณะถ่วงเวลาไม่เบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด เพราะกรณีนี้ อบจ.สงขลา ทำเรื่องรับมอบและตรวจสอบรถดังกล่าวเมื่อเดือน ต.ค. 2556 อย่างไรก็ดีมีการร้องเรียนว่ากลุ่มเอกชนมีพฤติการณ์ฮั้วประมูลเมื่อ ธ.ค. 2556 แม้ว่านายนิพนธ์จะมีคำสั่งให้ อบจ.สงขลา ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ก็ตาม และมีการแจ้งความร้องทุกข์แก่ตำรวจ แต่ไม่ได้มีการร้องเรียนให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. เป็นต้น จึงเห็นว่านายนิพนธ์ไม่ได้มีการทำตามสัญญาซื้อขาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติชี้มูลความผิดดังกล่าว
อย่างไรก็ดีนายนิพนธ์ เคยออกมาชี้แจงตอบโต้การแถลงของ ป.ป.ช. ว่า การจัดซื้อรถดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่ตนจะมาดำรงตำแหน่ง และเมื่อมารับตำแหน่งในฐานะผู้บริหาร ตนจึงต้องคิดให้รอบคอบว่าระบบของรถดังกล่าวใช้ได้จริงหรือไม่ เพราะส่วนประกอบมาจากหลายประเทศ รวมถึงมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการประมูลการจัดซื้อรถดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุที่ตนไม่สามารถจ่ายเงินให้ได้ ส่วนการที่ป.ป.ช.ระบุว่ามีคนไปร้องคดีฮั้วประมูลเมื่อปี 2561 นั้น ตนอยากชี้ให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่าตนทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพราะการจะผิดข้อกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะมีเจตนาธรรมดาแล้ว ต้องมีสิ่งพิเศษว่าไปกลั่นแกล้งใครหรือไม่ ซึ่งตนไม่จำเป็นต้องกลั่นแกล้งใคร แต่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของ อบจ.สงขลา
นายนิพนธ์ ระบุด้วยว่า การที่ ป.ป.ช.ระบุว่าแยกการพิจารณาเรื่องการไม่จ่ายเงิน กับเรื่องการฮั้วออกจากกันนั้น ตนแปลกใจว่าทำไมต้องแยกส่วนกัน ทั้งที่มันเกี่ยวเนื่องกัน เพราะถ้าตนจ่ายไปแล้ว สืบทราบในภายหลังว่าบริษัทมีการฮั้วกันจริง แล้วตนจะทำอย่างไร ดังนั้น ป.ป.ช.ควรจะตรวจสอบในเรื่องเหล่านี้ด้วย เพราะเรื่องทั้งหมดอยู่ในการพิจารณาของ ป.ป.ช.แล้ว และอยู่ในศาลปกครองสูงสุด จะมาด่วนสรุปได้อย่างไรว่าเรื่องนี้ตนทำผิด
ปัจจุบันคดีนี้ ป.ป.ช. ส่งสำนวนการไต่สวนไปให้อัยการคดีปราบปรามการทุจริต ภาค 9 เพื่อพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 แล้ว
2.คดีการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนของ อบจ.สงขลา ให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2558 และ 2559 วงเงินหลายสิบล้านบาท
กรณีนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สงขลา เข้าไปดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า นปีงบประมาณ 2558 อบจ.สงขลา ได้ตั้งข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยเบิกจ่ายเงินงบประมาณหมวดเงินอุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา (ชื่อเดิม สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลา) จำนวน 6 ฎีกา เป็นเงิน 23,300,000 บาท และได้ตรวจสอบข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ 2559 (สมัยนายนิพนธ์ เป็นนายก อบจ.สงขลา) พบว่า อบจ.สงขลา ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุน เพื่ออุดหนุนให้กับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา จำนวนเงิน 40,000,000 บาท (รวมวงเงิน 2 ปี อยู่ที่ 63.3 ล้านบาท)
สตง.สงขลา ได้พิจารณารายละเอียดของกิจกรรมตามตามเอกสารโครงการที่ขอรับเงินอุดหนุน โครงการ/กิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลาขอรับเงินสนับสนุนนั้น ส่วนใหญ่เป็นโครงการ/กิจกรรมที่เกินขอบเขตอำนาจหน้าที่และไม่เข้าข่ายเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมที่ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้มีหนังสือแจ้งให้อบจ.สงขลา ได้พิจารณาทบทวนตามหนังสือ สตง.สงขลา ที่ ตผ 0057.1 สข/ 380 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เรื่องเงินอุดหนุนสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงจาก อบจ.สงขลา
สตง.สงขลา จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พิจารณาสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา พิจารณาทบทวนการตั้งงบประมาณหมวดเงินอุดหนุน ตามหนังสือ สตง.สงขลา ที่ ตผ 0057.1 สข/ 488 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 เรื่อง ขอให้ทบทวนการตั้งงบประมาณหมวดเงินอุดหนุน พร้อมทั้งดำเนินการเข้าตรวจสอบการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542
โดยข้อตรวจสอบสำคัญของ สตง. พบว่า ในปีงบประมาณ 2559 นายนิพนธ์ บุญญามณี ตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในฐานะเจ้าของเงินงบประมาณ และดำรงตำแหน่งในฐานะนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา ซึ่งในปีงบประมาณ 2559 สมาคมกีฬาจังหวัดสงขลาได้ขอสนับสนุนเงินงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 40,000,000 บาท ได้รับการอนุมัติเงินอุดหนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เป็นจำนวนเงิน 40,000,000 บาท
ตามข้อบังคับสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา พ.ศ. 2559 ประกาศ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2558 ข้อ 40 นายกสมาคมมีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินของสมาคม กรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 35/1 ไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดเป็นคุณสมบัติที่มีลักษณะต้องห้ามไว้ในกรณีดังกล่าว
แต่การดำรงตำแหน่งควบคู่กันในระยะห้วงเวลาเดียวกันและเป็นผู้มีอำนาจในการบริหาร การพิจารณา การอนุมัติการใช้จ่าย ทั้งในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและในฐานะนายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา อาจจะเข้าข่ายเป็นการมีส่วนได้เสียในการใช้จ่ายเงินงบประมาณและเป็นจุดอ่อนของระบบการควบคุมภายใน
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้นายนิพนธ์ เคยชี้แจงสำนักข่าวอิศราหลายครั้ง ยืนยันความบริสุทธิ์ และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องนี้ โดยความคืบหน้ากรณีนี้เมื่อปี 2562 สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสงขลา นำเงินก้อนแรก 4 ล้านบาทคืนแก่ อบจ.สงขลา แล้ว หลังถูก สตง.ตรวจสอบพบว่าไม่มีหลักฐานการเบิกจ่ายเงิน
3.คดีอื่น ๆ
ปัจจุบันนายนิพนธ์ ถูกร้องเรียนกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการตรวจสอบสมัยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา อีกเกือบ 10 คดี โดยอยู่ระหว่างการสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นอยู่
ทั้งหมดคือคดีความเท่าที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ ปรากฏชื่อของนายนิพนธ์ และนายนวพล 2 พี่น้อง ‘บุญญามณี’ หัวใจของ ‘บ้านใหญ่’ แห่งสงขลา ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา-จำเลย อย่างไรก็ดีคดีทั้งหมดของนายนิพนธ์ ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด ดังนั้นจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
Cr : https://www.isranews.org/article/isranews/94515-isranews-140.html