“เพลินจิต”..แค่ฟังชื่อก็เพลินใจ แต่ไฉนมีปัญหาคดีสินบน 20 ล้าน

151

“…บนพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลบนถนนเพลินจิตกลับมีพื้นที่ที่กว้างขวางเป็นเหมือนไข่แดงอันเป็นที่ตั้งของ บมจ. ทีโอที ซึ่งถูกรายล้อมไปด้วยพื้นที่ทางธุรกิจนับไม่ถ้วน ผืนดินทองมูลค่าตารางวาละ 2.5 ล้านบาทแห่งนี้จึงถูกจับจ้องตาเป็นมันจากบรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดมา เพราะที่ดินบนถนนเพลินจิตแปลงนี้คงเป็นพื้นที่ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่และดูเหมือนว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาพัฒนาทำธุรกิจง่ายกว่าพื้นที่อื่นในละแวกเดียวกัน จนนำมาซึ่งพาดหัวข่าว “ยัดเงินใต้โต๊ะ 20 ล้าน ฮุบที่ดิน สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์”…”

เพลินจิตเป็นชื่อถนนสายสั้นๆ ในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นถนนที่มากด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจและมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรศัพท์ของเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถนนเพลินจิตถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2463 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เดิมทีสะกดว่า “เพลินจิตต์” ตามหลักฐานที่พบในโฉนดที่ดินเก่าหรือเอกสารบางแห่งเขียนว่า“เพลินจิตร์”ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนเป็น “เพลินจิต” ในภายหลัง

ถนนเพลินจิตมีจุดเริ่มต้นจากถนนราชดำริที่แยกราชประสงค์ตรงไปทางตะวันออกตัดกับถนนชิดลมตรงหน้าห้างเซ็นทรัลชิดลมที่เรียกว่าแยกชิดลมและเลยไปตัดกับถนนวิทยุที่แยกเพลินจิตจนไปสิ้นสุดที่แนวขอบทางรถไฟสายช่องนนทรีก่อนที่จะบรรจบกับถนนสุขุมวิทซึ่งเป็นเส้นทางหลักของการเดินทางไปภาคตะวันออกในสมัยก่อน

ด้วยที่ตั้งอันเป็นทำเลทองของถนนเพลินจิต ถนนที่สั้นเพียง 2.8 ก.ม. จึงเต็มไปด้วยโรงแรม ศูนย์การค้า คอนโดมิเนียมหรู โรงเรียนดัง รวมถึงมุมหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของสถานทูตอังกฤษซึ่งกลายเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ไปแล้ว สองฟากฝั่งของถนนเพลินจิตจึงเต็มไปด้วยตึกใหญ่ๆรายเรียงกันจนแทบไม่มีช่องว่างและยังมีรถไฟฟ้าวิ่งคร่อมถนนทำให้บรรยากาศของถนนเพลิตจิตในอดีตแทบไม่เหลือร่องรอยให้เห็น

แต่บนพื้นที่เศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลบนถนนเพลินจิตกลับมีพื้นที่ที่กว้างขวางเป็นเหมือนไข่แดงอันเป็นที่ตั้งของ บมจ. ทีโอที ซึ่งถูกรายล้อมไปด้วยพื้นที่ทางธุรกิจนับไม่ถ้วน ผืนดินทองมูลค่าตารางวาละ 2.5 ล้านบาทแห่งนี้จึงถูกจับจ้องตาเป็นมันจากบรรดานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตลอดมา เพราะที่ดินบนถนนเพลินจิตแปลงนี้คงเป็นพื้นที่ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่และดูเหมือนว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาพัฒนาทำธุรกิจง่ายกว่าพื้นที่อื่นในละแวกเดียวกัน จนนำมาซึ่งพาดหัวข่าว “ยัดเงินใต้โต๊ะ 20 ล้าน ฮุบที่ดิน สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงาน บมจ.ทีโอที หรือ องค์การโทรศัพท์ ฯ เพลินจิต นั่นเอง (https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000124624)

ถนนเพลินจิตเป็นถนนประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์ เพราะเคยเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยหรือบมจ.ทีโอที ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ถนนแจ้งวัฒนะแต่ยังเหลือส่วนงานบางแห่งและยังมีเครื่องไม้เครื่องมือทางเทคนิคติดตั้งอยู่ตามตึกต่างๆอีกจำนวนหนึ่ง เพลินจิตจึงเป็นเหมือนบ้านของชาวโทรศัพท์ตั้งแต่ครั้งยังสังกัดกรมไปรษณีย์โทรเลขช่วงปี 2494 และปรับเปลี่ยนมาเป็นองค์การโทรศัพท์ฯในปี 2497 และแปรสภาพเป็น บมจ.ทีโอที ในปัจจุบัน ดังนั้นในอดีตหลังยุคก่อตั้งองค์การโทรศัพท์เมื่อพูดถึงเรื่องกิจการโทรศัพท์หรือพูดถึงคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโทรศัพท์ผู้คนจะนึกถึงเพลินจิตก่อนเสมอ เช่นเดียวกับการไฟฟ้านครหลวงซึ่งแต่ก่อนคนทั่วไปต้องคิดถึงไฟฟ้าวัดเลียบเป็นอันดับแรก

การติดต่อสื่อสารด้วยโทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์แบบใช้สายหรือโทรศัพท์ไร้สายก็ตาม อุปกรณ์สำคัญที่ทำหน้าที่ต่อโทรศัพท์ 2 เครื่องเข้าหากันคือชุมสายโทรศัพท์ซึ่งติดตั้งกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเริ่มมีโทรศัพท์ใช้งานในปี 2424 นั้น เป็นการใช้โทรศัพท์ในกิจการของกรมกลาโหม(กระทรวงกลาโหม) เพื่อแจ้งข่าวเรือเข้า-ออก ที่จังหวัดสมุทรปราการเพื่อให้ทางกรุงเทพได้ทราบ โดยใช้เครื่องโทรศัพท์ฝั่งละ 1 เครื่องและใช้สายโทรเลขเป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อ

ในระยะต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับโอนกิจการโทรศัพท์จากกระทรวงกลาโหมและได้นำโทรศัพท์แบบแมกนิโต(Magneto) เข้ามาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเช่าใช้โทรศัพท์ระบบนี้ได้ รวมทั้งในภายหลังได้มีการนำโทรศัพท์ระบบใช้พนักงานต่อ(Operator) มาใช้งานโดยมีการสร้างชุมสายโทรศัพท์ที่เรียกกันว่าโทรศัพท์กลางซึ่งมีพนักงานช่วยต่อโทรศัพท์ให้และโทรศัพท์กลางแห่งแรกของประเทศไทยคือโทรศัพท์กลางวัดเลียบ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดเลียบหรือวัดราชบูรณะราชวรวิหารซึ่งอยู่เชิงสะพานพุทธ ฝั่งกรุงเทพฯ

เมื่อมีผู้นิยมใช้โทรศัพท์มากขึ้นได้มีการสร้างโทรศัพท์กลางแห่งที่สองเพิ่มเติม คือ โทรศัพท์กลางบางรัก ในบริเวณไปรษณีย์กลางบางรัก ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นโทรศัพท์แบบใช้พนักงานต่อเช่นกัน

หลังจากโทรศัพท์ถูกพัฒนาเป็นระบบอัตโนมัติ ประเทศไทยเริ่มมีการนำชุมสายโทรศัพท์อัตโนมัติมาทดแทนพนักงานโอเปอเรเตอร์ โดยผู้ใช้โทรศัพท์ต้องหมุนเลขหมาย 0-9 บนแป้นวงกลมของโทรศัพท์แทนการใช้พนักงานต่อ ดังนั้นอุปกรณ์โทรศัพท์อัตโนมัติที่เรียกว่าระบบ Step by Step ยี่ห้อ General Electric จากประเทศอังกฤษ จึงถูกนำมาติดตั้งไว้ที่ชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบ(โทรศัพท์กลางวัดเลียบ) จำนวน 2,300 เลขหมาย และชุมสายโทรศัพท์บางรัก(โทรศัพท์กลางบางรัก) จำนวน 1,200 เลขหมาย โดยได้ทำการเปิดให้บริการพร้อมกันเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2480 และมีพิธีเปิดใช้เครื่องโทรศัพท์แบบอัตโนมัติอย่างเป็นทางการ ณ ที่ทำการโทรศัพท์กลางบางรัก เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2480โดย พลเอก พระยาพหล พลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธี

หลังจากเปิดใช้โทรศัพท์ระบบอัตโนมัติได้มีการประเมินผลการใช้งานโดยพบว่า “ เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ผู้เช่าโทรศัพท์โดยทั่วไปได้รับความเข้าใจในการใช้โทรศัพท์ระบบใหม่โดยแจ่มแจ้งและใช้ได้ถูกต้องเป็นส่วนมาก” เท่ากับว่าในปี 2480 ในกรุงเทพฯมีโทรศัพท์อัตโนมัติใช้รวมทั้งสิ้น 3,500 เลขหมายและให้บริการพื้นที่ธุรกิจในย่าน วัดเลียบ จักรเพชร บางรัก เจริญกรุง และบริเวณใกล้เคียง

เมื่อโทรศัพท์เป็นที่ต้องการของผู้คนมากขึ้น กรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งขณะนั้นยังทำหน้าที่รับผิดชอบงานโทรศัพท์ได้มีการสร้างชุมสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติ ขนาด 1,000 เลขหมาย ขึ้นบริเวณถนนเพลินจิต(โทรศัพท์กลางเพลินจิต) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นข่าวอื้อฉาวว่าจะถูกฮุบไปให้นายทุนโดยวิธีมิชอบ โดยมีการเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2494 และมีพิธีเปิดชุมสายโทรศัพท์เพลินจิตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2494 โดย ร.อ. ประเสริฐ สุดบรรทัด ส.ส. สระบุรี ซึ่งทำหน้าที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในพิธี โทรศัพท์กลางเพลินจิตจึงเป็นชุมสายโทรศัพท์แห่งที่ 3 ของเมืองไทยและยังคงดำเนินการโดยกรมไปรษณีย์โทรเลข

หลังจาก พระราชบัญญัติ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) จึงแยกตัวออกจากกรมไปรษณีย์โทรเลขและได้รับโอนกิจการทั้งหมดที่กรมไปรษณีย์โทรเลขดำเนินการอยู่มาดำเนินการต่อ โดยคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การโทรศัพท์ฯ ชุดแรกจำนวน 8 คนโดยมี พลจัตวา ประมาณ อดิเรกสาร เป็นประธานกรรมการฯคนแรก พร้อมกันนั้น คณะรัฐมนตรียังมีมติแต่งตั้งให้นายสนิท ตุงคมณี อดีตนายช่างใหญ่กรมไปรษณีย์โทรเลขเป็นผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์ คนแรก

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ทำพิธีมอบองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้แก่ประธานกรรมการและคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์ฯ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2497 และในวันรุ่งขึ้น พลอากาศเอก ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ทำพิธีเปิดป้าย “ องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” ณ สำนักบริหารกิจการ ตึกชุมสายโทรศัพท์กลางเพลินจิตซึ่งอยู่ติดกับถนนเพลินจิต (ดูภาพประกอบ) สถานที่แห่งนี้จึงกลายเป็นฐานที่มั่นขององค์การโทรศัพท์ฯอยู่นานหลายสิบปีก่อนที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังถนนแจ้งวัฒนะแต่ยังคงบางส่วนงานและอุปกรณ์ทางเทคนิคไว้ที่สำนักงานเพลินจิต ถนนเพลินจิตจึงมีความผูกพันใกล้ชิดกับกิจการโทรศัพท์ตั้งแต่ยุค กรมไปรษณีย์โทรเลข องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยและ บมจ.ทีโอที มาจนถึงทุกวันนี้

องค์การโทรศัพท์ฯ ได้อยู่คู่กับถนนเพลินจิตมาจนเกือบจะย่างเข้าปีที่ 70 สถานที่แห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ตั้งของอาคารเครื่องชุมสายโทรศัพท์ เครื่องโทรคมนาคม ศูนย์ควบคุมระบบโทรศัพท์ ศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ฯลฯ และเป็นที่ทำงานของพนักงานองค์การโทรศัพท์ฯหลายสาขาจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว สถานที่แห่งนี้ยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของคนทำงานออฟฟิศแถวถนนเพลินจิตและละแวกใกล้เคียงที่ต้องฝากท้องไว้กับโรงอาหารเพลินจิต เพราะนอกจากอาหารจะราคาย่อมเยาแล้ว กับข้าวที่โรงอาหารเพลินจิตยังมีความหลากหลาย สะอาด อร่อยและให้คุณค่าทางโภชนาการมากกว่าฟาสต์ฟู้ดราคาแพงบนห้าง โรงอาหารเพลินจิตจึงมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาใช้บริการอยู่ไม่ขาดตั้งแต่เช้าตรู่ไปจนถึงตอนบ่าย ส่วนตอนเย็น ร้านอาหารแถวซอยหลังสวนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมักเป็นที่ชุมนุมประจำของพวกหนุ่มๆที่ไม่ชอบกลับบ้านเร็ว

ครั้งหนึ่งองค์การโทรศัพท์ฯ เคยมีแผนที่จะสร้างสำนักงานใหญ่ที่เพลินจิต โดยจะมีการสร้างตึกขนาดใหญ่นับสิบชั้นเพื่อรองรับพนักงานที่ต้องไปเช่าอาคารรอบๆสำนักงานเพลินจิตให้เข้ามาอยู่รวมในสถานที่เดียวกัน เมื่อแผนดังกล่าวถูกพับไปและมีการย้ายสำนักงานใหญ่ออกไปจึงทำให้สำนักงานเพลินจิตกลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนบางตาและอาคารหลายอาคารอยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามักมีข่าวให้ได้ยินอยู่เนืองๆว่าสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจะนำที่ดินผืนนี้ไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกแต่อย่างใดเพราะที่ดินทำเลทองผืนใหญ่ที่ บมจ.ทีโอทีถือครองอยู่นั้นใกล้หมดสัญญาและ เป็นทำเลที่หาไม่ได้อีกแล้วบนถนนเพลินจิต แต่ข่าวการฮุบที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วยวิธีฉ้อฉลที่เกิดขึ้นและศาลได้พิจารณาตัดสินจำคุกจำเลยได้พิสูจน์ให้เห็นว่า พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในเมืองไทยได้แทรกซึมเข้าไปอยู่แทบทุกหย่อมหญ้าสั่นคลอนศรัทธาของผู้คน นับตั้งแต่การทุจริตเงินทอดวัดโดยพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ผู้คนนับถือกราบไหว้ ไม่เว้นแม้กระทั่งการเข้าไปทำมาหากินเบียดบังผลประโยชน์จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ด้วยการปลอมแปลงเอกสารราชการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์(ชื่อเดิม) โดยการจัดฉากเตรียมผ่องถ่ายทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้กับนักธุรกิจเช่าโดยหลีกเลี่ยงการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ เพื่อแลกกับผลประโยชน์อันมิพึงได้ โดยมิได้ยำเกรงต่อกฎหมายหรือความเสื่อมเสียที่จะเกิดแก่สถาบันกษัตริย์เพราะหวังเงินใต้โต๊ะจากนายทุนจำนวน 20 ล้านบาทดังที่เป็นข่าว

แม้ว่าในอนาคตพื้นที่สำนักงานองค์การโทรศัพท์ฯแห่งนี้จะถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการเช่าจากกิจการโทรศัพท์ไปเป็นกิจการอื่นใดก็ตาม แต่เชื่อได้ว่าคนกรุงเทพส่วนใหญ่ยังมีความหวังที่จะเห็นพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางใจมากกว่าพื้นที่แห่งความเจริญทางวัตถุ อยากเห็นพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเพิ่มจำนวนศูนย์การค้าและเชื่อว่าคนกรุงเทพจำนวนมากคงอยากเห็นปอดของกรุงเทพขยายต่อจากสวนลุมพินีมายังพื้นที่องค์การโทรศัพท์ฯบนถนนเพลินจิตเพื่อให้ผู้คนได้เพลินใจกับบรรยากาศอันร่มรื่นเหมือนเช่นในอดีตมากกว่าอยากเห็นภาพอาคารสูงลิ่วที่มีดาษดื่นอยู่แล้วผุดขึ้นมาอีกแห่งบนถนนเพลินจิต

อ้างอิง
1. http://www.culturedcreatures.co/%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%88/

2. https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%96%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95

3. กิจการโทรศัพท์ในประเทศไทย โดย จวง บถดำริห์

4. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000124624

5. https://www.thansettakij.com/content/459121

ภาพประกอบ
http://oknation.nationtv.tv/blog/nakornrajsima/2010/10/05/entry-1

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-article/94020-pansuk-2.html

- Advertisement -