นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ซึ่งต้องเฝ้าระวังกันอย่างต่อเนื่องแล้ว สภาวะภัยแล้งก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สร้างความเดือดร้อนให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องเกษตรกรไทยทั่วประเทศ
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินว่า ช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม 2563 สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยอาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง เนื่องจากฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 12% ในปีที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำมีเพียง 22% ของความจุรวม
ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังคงต้องจับตาในเรื่องของภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลง จึงต้องติดตามและเฝ้าระวังการใช้น้ำอย่างใกล้ชิด ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ พื้นที่ปลูกไม้ผลนอกเขตชลประทานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 30 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ราว 370,000 ไร่ เช่นเดียวกับพื้นที่การเกษตรอื่น ๆ เช่น นาข้าว ที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลผลิตอาจได้รับผลกระทบเช่นกัน
โดยหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ให้การช่วยเหลือและสนับสนุนสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงเกษตรกรในประเทศต่อยอดภูมิปัญญาด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และก้าวผ่านวิกฤตต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ที่ผ่านมา ดีป้า โดยฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน ได้นำเสนอมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร
“ดีป้า จะมีบทบาทในการเป็นสื่อกลางให้เกษตรกรกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลมาพบกัน ก่อนนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดต้นทุน สร้างรายได้ พร้อมรับการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ตามฐานวิถีชีวิตใหม่ (นิว นอร์มอล) อีกทั้งเป็นส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน” หัวเรือใหญ่ ดีป้า กล่าว
โดยหนึ่งในโครงการสำคัญช่วงภัยแล้งคือ โครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง (ไอโอที) ควบคุมระบบให้น้ำอัตโนมัติภาคการเกษตร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นส่วนช่วยในการบริหารจัดการน้ำภาคการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ขณะนี้มีโครงการจากพี่น้องเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนและใช้งานจริงแล้วจำนวน 13 โครงการ อาทิ โครงการโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของมะเขือเทศเชอรี โดยวิสาหกิจชุมชนสวนกล้วยอู่ทอง ในอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการพัฒนาระบบไอโอทีสำหรับการตรวจวัดและควบคุมการเพาะปลูกในโรงเรือน โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักสด ผลไม้แปรรูปบ้านหนองทราย อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โครงการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว จังหวัดปราจีนบุรี และโครงการเกษตรอัจฉริยะหนุนเสริมกลุ่มครอบครัวผู้พิการ โดยมูลนิธิสายรุ้ง จังหวัดระยอง
“แหลม – สุนทร คมคาย” ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านเขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ปัจจัยในเรื่องของสภาวะอากาศส่งผลต่อผักใบ โดยเฉพาะตระกูลผักจีน ไม่ว่าจะเป็นกวางตุ้ง ผักบุ้งจีน มะระจีน ฯลฯ ซึ่งเป็นพืชหลักที่ขายได้ตลอดทั้งปี แต่เนื่องจากผักตระกูลดังกล่าวมีความบอบบาง เสียหายง่าย ต้องการน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ดังนั้น ทางกลุ่มฯ จึงได้ส่งข้อเสนอโครงการเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เพื่อขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก ดีป้า ในปีที่ผ่านมา ก่อนผ่านการคัดเลือก ซึ่ง ดีป้า และผู้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามาสนับสนุนระบบเกษตรอัจฉริยะในโรงเรือน เพื่อควบคุมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ในระบบปิดด้วยเทคโนโลยีไอโอทีควบคุมระบบเปิด-ปิดน้ำ และจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ สั่งการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ พร้อมติดตามการทำงานของระบบ และการเจริญเติบโตของพืชผักผ่านกล้องวงจรปิด
“หลังจากนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต ทำให้การดูแลแปลงเพาะปลูกมีความแม่นยำมากขึ้น มีการบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ผลผลิตได้ราคาดี มีการสั่งจองล่วงหน้า และมีลูกค้าที่แน่นอน” สุนทร กล่าว
อีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนคือ โครงการเกษตรอัจฉริยะหนุนเสริมกลุ่มครอบครัวผู้พิการ โดยมูลนิธิสายรุ้ง จังหวัดระยอง ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไอโอทีควบคุมระบบการให้น้ำอัตโนมัติในพื้นที่แปลงปลูกผัก ทดแทนการใช้แรงงานของผู้พิการ โดยผู้พิการสามารถใช้เวลาที่เหลือจากการรดน้ำพืชผักไปทำการบุกเบิกพื้นที่ใหม่ ซึ่งนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มให้แก่สมาชิก ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ ตลอดจนเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรแก่ผู้สนใจ
“สถานการณ์ภัยแล้งถือเป็นปัญหาสำคัญที่พี่น้องเกษตรกรจำเป็นต้องเผชิญ ซึ่ง ดีป้า พร้อมเป็นสื่อกลางในการสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในมิติต่างๆ เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ช่วยลดต้นทุนด้านแรงงานให้เหล่าเกษตรกร เพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน พร้อมก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว