“สุริยะ” สั่งเติมพลัง SMEsไทย เดินหน้าธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 มอบ ธพว. อัดฉีดสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท ปูพรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั่วประเทศ

15

รมว.อุตสาหกรรม มอบนโยบายให้ ธพว. เดินหน้าปูพรมเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษช่วยเอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศพลิกฟื้นธุรกิจ หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มุ่งเสริมสภาพคล่อง กระจายการสร้างงาน สร้างรายได้ ตั้งเป้าอนุมัติสินเชื่อได้ 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ รักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90,000 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงาน “เติมพลัง SMEsไทย ก้าวไปด้วยกัน” ว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ตาม เวลานี้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายดีขึ้นโดยลำดับ กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank จึงได้มอบหมายให้ ธพว. เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติมจากที่ ธพว. ได้ดำเนินมาแล้ว โดยเดินหน้าเติมทุนสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ เพื่อให้เอสเอ็มอีทุกกลุ่มธุรกิจทั่วประเทศ มีเงินทุนไปหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง จ้างงาน และฟื้นฟูธุรกิจให้กลับคืนมาสามารถดำเนินการได้ดีอีกครั้ง คาดจะอนุมัติสินเชื่อได้กว่า 40,000 ล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 24,000 กิจการ ส่งผลดีต่อไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 90,000 ล้านบาท

สำหรับสินเชื่อของ ธพว. ประกอบด้วย สินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่าย ได้แก่ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3%ต่อปี 3 ปีแรก และสินเชื่อ soft loan ธปท. อัตราดอกเบี้ย 2%ต่อปี อีกทั้ง ยังมีสินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ได้แก่ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.375% ต่อปี และสินเชื่อ SMART SMEs อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี แถมยังรับรีไฟแนนซ์ (Refinance)

นอกจากนั้น มอบหมายให้ ธพว. เติมทุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชารัฐ แบ่งเป็น “โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” (สินเชื่อประชารัฐ) และ “โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEsคนตัวเล็ก” (สินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก) คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ “SMEs One” คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน

ด้าน นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. เผยว่า ธนาคารจะกระจายการสนับสนุนเอสเอ็มอีทั่วประเทศครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยการใช้ออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินของ ธพว. มากที่สุด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ธพว. ดำเนินมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ชื่อมาตรการ “ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม” โดย ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 14,924.63 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,082 ล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7,842.63 ล้านบาท อีกทั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 15 พ.ค.2563 ธพว. ได้เติมทุนช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว จำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6,231.31 ล้านบาท
นอกจากนั้น ธพว. ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ สูงสุด 6 เดือน ให้ลูกค้าทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยมีลูกค้า ธพว. ได้รับการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติจำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 66,479 ล้านบาท ซึ่งแม้มาตรการนี้ จะส่งผลให้ ธพว. สูญเสียรายได้เดือนละกว่า 2,100 ล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่ธนาคารก็ยินดี เพราะได้มีส่วนช่วยเหลือลูกค้าและส่งเงินกลับคืนเข้าหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 12,600 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ธพว. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 ราย ภาระหนี้รวม 11,800 ล้านบาท นับตั้งแต่เปิดรับคำขอเข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มีลูกค้ากองทุนประชารัฐเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2,961 ราย วงเงินประมาณ 5,516 ล้านบาท

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเสริมว่า แนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากด้านการเงินแล้ว ธนาคารยังมุ่งเติมความรู้ควบคู่ไปด้วยเสมอ เพื่อจะเสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวก้าวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ รวมถึง ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งกว่าเดิมที่เคยเป็นมา ช่วยให้ในอนาคตธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ “วัคซีนเติมความรู้” อบรมออนไลน์ ด้วยหลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th ซึ่งแบ่งเป็น 4 ห้องเรียน กว่า 40 หลักสูตร ได้แก่ 1.ห้องเรียนการตลาด เช่น การโปรโมทสินค้าโซเชียลมีเดีย การทำตลาด E-Commerce เป็นต้น 2.ห้องเรียนด้านบริหารจัดการ เช่น การเขียนแผนธุรกิจ การลงทุนแฟรนไชส์ 3.ห้องเรียนด้านบัญชีและการเงิน เช่น การทำงบการเงิน การทำบัญชีอย่างง่าย และ 4.ห้องเรียนด้านการผลิต/กระบวนการ/มาตรฐาน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิตสินค้าอาหาร เป็นต้น ( ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 3,086 ราย) “วัคซีนเพิ่มรายได้” ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป “ฝากร้านฟรี SME D Bank” ในแฟนเพจ powersmethai (ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 6,605 ราย) และ “วัคซีนขยายตลาด” ดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE, JD Central เป็นต้น (ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 3,153 ราย)

โครงการ One Hero One Community สร้างผู้ประกอบการ hero ใน 77จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนโดยจ้างนักศึกษาจบใหม่หรือแรงงานที่กลับบ้านเกิดให้มีงานทำโดยอบรมให้เป็นผู้ประสานกับวิสาหกิจชุมชนในการยกระดับสินค้าและบริการเป้าหมาย 1,000 สินค้า 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 15-20%

นอกจากนั้น ธพว.ยังดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือดูแลสังคมไทย ด้วยการเปิด “ตู้ปันสุข ธพว.” ตั้งตู้รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง และของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จำนวน 2 ตู้ ด้านหน้าอาคาร SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน อีกทั้ง ส่งมอบอุปกรณ์ เช่น น้ำดื่ม หน้ากากผ้า Face shield และเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น ให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นเสบียง รวมถึงใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ กทม. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครจากมูลนิธิต่างๆ

- Advertisement -