จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจไม่มีสายป่านมากนักอย่างเช่นกลุ่ม SMEซึ่งได้รับผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะงักงันอย่างรุนแรง ทำให้โรงงานจำนวนไม่น้อย ต้องมีการปรับโครงสร้างโรงงานอย่างมาก อาทิ ปรับลดแรงงาน เป็นต้น แต่เพียงแค่นี้ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ SME ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จึงได้จัดทำ“โครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563” โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้ และให้คำแนะนำในรายละเอียดเชิงลึกที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต หรือลดต้นทุนด้านพลังงาน หรือลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม หรือมีการใช้พลังงานทดแทน หรือมีการใช้นวัตกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพให้แก่สถานประกอบการ SMEsพร้อมส่งเสริมให้SMEสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างรวดเร็วโดยได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ดำเนินการวิเคราะห์เครื่องจักร พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่โรงงาน SME เพื่อให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.ประพจน์ ขุนทอง หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากขาดเงินทุนใช้จ่ายหมุนเวียนในกิจการและอาจไม่สามารถพยุงกิจการให้อยู่รอดได้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงเห็นเป็นความจำเป็นเร่งด่วนในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้รับการวิเคราะห์เครื่องจักร พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้โรงงาน SME สามารถเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิต และได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการสามารถใช้ประโยชน์จากดอกเบี้ยอัตราพิเศษในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในการพิจารณาปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพ อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองระบบเศรษฐกิจของประเทศในด้านอุตสาหกรรมให้สามารถก้าวผ่านวิกฤติของประเทศในครั้งนี้ไปให้ได้ซึ่งต้องขอขอบคุณ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพราะโครงการนี้ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด พร้อมสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการโรงงานระดับ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงเครื่องจักรและระบบการผลิตให้ดีขึ้น เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทำให้ศักยภาพการผลิตมีความเข้มแข็งที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
ดร.ธิรินทร์ ณ ถลาง ผู้จัดการโครงการเร่งรัดการจดทะเบียนเครื่องจักรของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563 กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SMEไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหรือสถานประกอบการหรือกิจการซึ่งอยู่ภายใต้กำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คนหรือรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ที่มีความต้องการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาโครงการดังกล่าวซึ่ง มหาวิทยาลัยฯ โดยภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าไปวิเคราะห์เครื่องจักรของแต่ละโรงงาน และให้คำปรึกษาแนะนำในรายละเอียดเชิงลึกที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน ซึ่งถือเป็นภารกิจหลักของโครงการนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำรายงานผลการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ล้าสมัย ส่งต่อไปยัง 5 สถาบันการเงินที่มีความร่วมมือได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเพื่อประสานกลับไปยังผู้ประกอบการ SME ในการอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนของสถาบันการเงินได้โดยเร็วต่อไป
“นอกจากการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าดำเนินการ ณ สถานประกอบการ SMEแล้ว ทางโครงการยังได้ให้ ผู้ประกอบการ SME สามารถจัดส่งบุคลากรเข้ารับการอบรมเชิงลึกเรื่องการปรับปรุงเครื่องจักรเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น หรือเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ล้าสมัย เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไปประยุกต์ใช้ในกิจการของตนได้อีกด้วย” ดร.ธิรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย