รัฐธรรมนูญต้องชัดเจนเรื่องต้านคอร์รัปชัน

35

“…ผ่านมาสามปีเศษ คอร์รัปชันไม่ได้ลดลงตามที่คนไทยคาดหวัง แม้รัฐธรรมนูญฯ 2560 ได้พัฒนามาตรการป้องกันและลงโทษที่เรียกว่า ‘ลงดาบปราบโกง’ ขึ้นจำนวนมาก แต่กลับพบว่า หลายเรื่องไม่มีผลในทางปฏิบัติ กฎหมายและนโยบายเป็นแค่ผ้ายันต์กันคนฉ้อฉล บ่อยครั้งที่กลุ่มคนมีอำนาจในแต่ละองค์กรขาดความตั้งใจจริง จงใจใช้ช่องโหว่ ตีความหลบเลี่ยง ดึงเรื่องให้ช้า ปากว่าตาขยิบ…”

คดีบอสกระทิงแดงและกรณีตบทรัพย์กลางสภา เป็นเรื่องยืนยันว่า ‘คอร์รัปชันอาจเกิดขึ้นตลอดเวลาในทุกองค์กรของรัฐ ไม่ว่าที่นั่นจะมีผลประโยชน์และอำนาจมากหรือน้อย’ ประชาชนจึงไม่สามารถไว้วางใจได้ตราบใดที่ภาครัฐยังขาดความโปร่งใส ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล รวมทั้งขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่และส่วนรวม รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดจึงต้องบัญญัติมาตรการต้านคอร์รัปชันให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมีสังคมที่โปร่งใสเป็นธรรม ไม่ว่าเศรษฐกิจและการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง?

ผ่านมาสามปีเศษ คอร์รัปชันไม่ได้ลดลงตามที่คนไทยคาดหวัง แม้รัฐธรรมนูญฯ 2560 ได้พัฒนามาตรการป้องกันและลงโทษที่เรียกว่า ‘ลงดาบปราบโกง’ ขึ้นจำนวนมาก แต่กลับพบว่า หลายเรื่องไม่มีผลในทางปฏิบัติ กฎหมายและนโยบายเป็นแค่ผ้ายันต์กันคนฉ้อฉล บ่อยครั้งที่กลุ่มคนมีอำนาจในแต่ละองค์กรขาดความตั้งใจจริง จงใจใช้ช่องโหว่ ตีความหลบเลี่ยง ดึงเรื่องให้ช้า ปากว่าตาขยิบ

หลายเรื่องที่ขาดคนรับผิดชอบผลักดันให้เข้มข้นรวดเร็ว เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่เปิดเผยตรงไปตรงมา การปฏิรูปตำรวจ การปราบข้าราชการรีดไถประชาชนหรือคนค้าขายที่ไปติดต่อ เป็นต้น

หลายเรื่องไม่เป็นดั่งที่ประชาชนอยากเห็น เช่น หลักประกันความปลอดภัยสำหรับประชาชนและข้าราชการที่เปิดโปงคนโกง การทำงานอย่างเปิดเผยให้สังคมตรวจสอบได้จริง องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระและมีผลงาน การลงโทษคนโกงอย่างรุนแรง รวดเร็ว เท่าเทียมกัน เป็นต้น

เพื่อบ้านเมือง อย่าเกรงใจใคร..

ดังนั้นหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้องใช้โอกาสนี้พัฒนามาตรการต่อต้านคอร์รัปชันให้เชื่อมโยงเป็นระบบที่เข้มแข็งครอบคลุมยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยต้องไม่ลดทอนให้อ่อนด้อยกว่าที่เป็นอยู่ แล้วเร่งบอกกล่าวประชาชนให้เข้าใจรายละเอียดและมีส่วนร่วมตรวจสอบตั้งแต่ต้น เพื่อให้คนโกงยำเกรง คนคิดดีทำดีมีเกราะกำบังและเกิดกำลังใจที่จะทำงานสร้างบ้านเมืองให้พัฒนาอย่างเป็นธรรม

* หมายเหตุ…

รัฐธรรมนูญปี 2560 มี 279 มาตรา ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 53 มาตรา ที่บัญญัติเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยสามารถจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์ได้ดังนี้

1. ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน

เน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในการฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 41) สิทธิเข้าถึงข้อมูลของรัฐและให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเปิดเผยข้อมูล รัฐต้องสนับสนุนและปกป้องประชาชน (มาตรา 63) โดยเฉพาะ ป.ป.ช. ป.ป.ท. ต้องวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนพร้อมมีกองทุนขนาดใหญ่มารองรับ

2. วางมาตรการลดเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการเรียกรับสินบน

เน้นเรื่องการยกเลิกและทบทวนกฎหมายที่ล้าสมัย (มาตรา 77) ใช้เทคโนโลยีในการบริการประชาชน การแต่งตั้งโยกย้ายหรือใช้อำนาจใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ต้องยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม (มาตรา 78)

3. สร้างการเมืองใสสะอาด

ห้ามคนโกงเป็นนักการเมือง (มาตรา 98) ต้องมีแผนปฏิรูปการเมืองชัดเจน (มาตรา 258) มีกลไกป้องกันและลงโทษนักการเมืองที่โยกงบประมาณฯ โดยมิชอบ (มาตรา 144) กำกับการใช้เงินหลวงด้วยวินัยการเงินการคลังที่เข้มงวดขึ้น กำหนดหน้าที่นักการเมืองว่ามีตำแหน่งแล้วต้องทำอะไรต้องรับผิดชอบอย่างไร รวมถึงกำหนดมาตรฐานจริยธรรมขั้นสูงกว่าเจ้าหน้าที่รัฐทั่วไป

4. สร้างความเข้มแข็งและบูรณาการระบบยุติธรรม

กำหนดให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ (มาตรา 258) เพื่อสร้างศรัทธาความเชื่อมั่นแก่ประชาชน ยกระดับสำนักงานอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

5. สร้างสภาพแวดล้อมในสังคมที่เอื้ออำนวย

โดยมีหลายมาตรการที่ทำให้ปัจจัยที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันลดลง สังคมเป็นธรรมมากขึ้น คนโกงโกงยากขึ้น โกงแล้วโอกาสถูกจับลงโทษมีมากทั้งในวันนี้และอนาคต เช่น การปกป้องเสรีภาพสื่อมวลชน (มาตรา 35) รัฐต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันคอร์รัปชันที่เหมาะสมเพียงพอ (มาตรา 63) เร่งเพิ่มความโปร่งใสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การทำงานเชื่อมโยงกันมากขึ้นขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

Cr : https://www.isranews.org/article/isranews-article/93591-constitution-2.html

- Advertisement -