ชงเข้าแผนฟื้นฟูฯ! ‘การบินไทย’ ดันศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา-ตั้ง ‘บ.ร่วมทุนฯ’ ถือหุ้น 51%

62

‘การบินไทย’ ชงบรรจุโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ‘อู่ตะเภา’ ไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ เดินหน้าหาพันธมิตรจัดตั้ง ‘บริษัทร่วมทุนฯ’ ประเดิมลงทุนล็อตแรก 4 พันล้าน ในปี 66 ก่อนเปิดให้บริการในเดือนมี.ค.67 คาดคืนทุนภายใน 11.24 ปี

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ทีมผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำรายละเอียดโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (TG MRO) และฐานปฏิบัติการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ก่อนเสนอให้ผู้ทำแผนพิจารณา เพื่อบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ โดยเฉพาะการเดินหน้าโครงการ TG MRO นั้น ผลศึกษาฯระบุว่า จะสร้างรายได้ให้บริษัทฯ 4.05 แสนล้านบาทในช่วง 50 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของการผลักดันโครงการ TG MRO ให้อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯดังกล่าว ทีมผู้บริหารบริษัทฯ ได้อ้างอิงรายงานผลการศึกษาของที่ปรึกษาโครงการฯ ซึ่งระบุว่า ธุรกิจการบินจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563-65 จากนั้นในปี 2566 ธุรกิจการบินจะกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทฯ จะเริ่มลงทุนโครงการ TG MRO ตั้งแต่ปี 2566 และเปิดดำเนินการศูนย์ซ่อมฯในเดือนมี.ค.2567

ผลศึกษาฯ ประเมินว่า บริษัทฯจะต้องใช้เงินลงทุนก้อนแรกในการลงทุนจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เป็นเงิน 4,016 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนในส่วนนี้จะดำเนินการโดยบริษัทร่วมทุนฯ ที่บริษัท การบินไทย ถือหุ้น 51% และผู้ลงทุนรายอื่นๆ ถือหุ้นรวมกัน 49% โดยเงินลงทุน 40% มาจากผู้ถือหุ้นของบริษัทร่วมทุนฯ ส่วนอีก 60% มาจากการเงินกู้ และคาดว่าในช่วงปี 2576-2613 บริษัทฯจะใช้เงินลงทุนก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมเพิ่มเติมอีก 1.3 หมื่นล้านบาท

ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กองทัพเรือจะเป็นฝ่ายลงทุน เช่น ทางขับและลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน การก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เป็นต้น โดยในส่วนการลงทุนก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมฯนั้น จะใช้งบก่อสร้างไม่เกิน 5,430 ล้านบาท และบริษัทร่วมทุนฯจะเข้าไปอาคารศูนย์ซ่อมฯ โดยจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าเช่ารายปีและส่วนแบ่งรายได้ให้กับกองทัพเรือ

ขณะที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลอนุมัติจัดสรรงบให้กองทัพเรือ 1,973 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าที่ปรึกษา งานถมดิน การก่อสร้างทางขับและลานจอดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา ได้แก่ งานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมฯ (ปีงบ 2563-64) วงเงิน 1,184 ล้านบาท งานจ้างควบคุมงานปรับพื้นที่สำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมฯ (ปีงบ 2563-64) วงเงิน 29.6 ล้านบาท

จ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (ปีงบ 2562-66) วงเงิน 89.324 ล้านบาท ,งานปรับถมที่ดิน (ถมดิน) และอื่นๆที่เกี่ยวข้องสำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO (ปีงบ 2563-64) วงเงิน 660 ล้านบาท และงานจ้างควบคุมงานปรับถมที่ดิน (ถมดิน) และอื่นๆที่เกี่ยวข้องสำหรับก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน MRO (ปีงบ 2563-64) วงเงิน 16.5 ล้านบาท

สำหรับโครงการ TG MRO จะรองรับการซ่อมใหญ่อากาศยาน (Heavy Maintenance) การซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอด (Line Maintenance) และการพ่นสีอากาศยาน (Aircraft Painting) โดยปีที่ 1 นับตั้งแต่เปิดให้บริการคาดว่าจะมีรายได้ 1,326 ล้านบาท และปีที่ 50 คาดว่าบริษัทฯจะมีรายได้ 20,386 ล้านบาท หรือรวม 50 ปีมีรายได้ 4.05 แสนล้านบาท และมีรายได้จ่ายรวม 50 ปีที่ 2.92 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในปีที่ 41-50 คาดว่าจะมีรายได้ 1.13 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯจะบูรณาการการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้ง 3 ฐานปฏิบัติการ คือ อู่ตะเภา ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เพื่อส่งมอบเครื่องบินให้กับลูกค้า และเครื่องบินของการบินไทย ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมือง จะให้บริการซ่อมบำรุงระดับ Heavy Maintenance เครื่องบินลำตัวแคบ การซ่อมบำรุงระดับ Line Maintenance เครื่องบินลำตัวแคบและลำตัวกว้าง การให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์อากาศยานรุ่นใหม่ เป็นต้น

ส่วนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานสุวรรณภูมิ จะขยายการให้บริการ Line Maintenance เครื่องบินลำตัวแคบและลำตัวกว้าง ที่เป็นอากาศยานรุ่นใหม่ (New Generation) ตามการขยายตัวของสายการบินในท่าอากาศยาน การขยายการให้บริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์อากาศยาน ระบบล้อและเบรก เพื่อให้ครอบคลุมถึงการให้บริการแก่อากาศยานรุ่นใหม่ ซึ่งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ จะหารายได้ร่วมกับศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาแห่งใหม่

อย่างไรก็ตาม ในรายงานของที่ปรึกษาฯไม่ได้ระบุว่า กลยุทธ์ในการดึงเครื่องบินของลูกค้ามาใช้บริการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภาจะใช้วิธีการใด โดยเครื่องบินที่เข้าใช้บริการศูนย์ซ่อมฯที่อู่ตะเภา จะมีทั้งเครื่องบินของการบินไทย และพันธมิตรในบริษัทร่วมทุนฯ เช่น Independent MRO , Airline , Aircraft Manufacturer และ Airline MRO ขณะที่ผลศึกษาฯ คาดว่า โครงการ TG MRO จะสร้างผลตอบแทน (Project IRR) ที่ระดับ 12.04% และคืนทุนภายใน 11.24 ปี

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/93332-TG-THAI-Rehabilitation-plan-MRO-news.html

- Advertisement -