‘พระปกเกล้า’ชง2โมเดลตั้ง กก.สมานฉันท์ ‘ชวน’เตรียมทาบอดีตนายกฯ-ประธานสภาฯร่วม

18

‘ชวน หลีกภัย’ รับทราบ 2 โมเดลตั้ง กก.สมานฉันท์ เตรียมเดินสายหารืออดีตนายกฯ – อดีตประธานสภาฯ ทาบทามร่วมวงหาทางออกประเทศ

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เข้าหารือร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า หลังจากมอบหมายให้จัดทำรายละเอียดโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การหาทางออกให้กับสถานการณ์ทางการเมือง

นายชวน กล่าวว่า สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอรูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการ 2 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบคณะกรรมการ 7 ฝ่ายตามข้อเสนอของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย ผู้แทนรัฐบาล , ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล , ผู้แทน ส.ส.ฝ่ายค้าน , วุฒิสภา , ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม , ฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้ชุมนุม และฝ่ายอื่นๆ เช่นผู้ทรงคุณวุฒิ 2.การเสนอให้มีคนกลาง ซึ่งมีที่มาหลายแบบ เช่น ฝ่ายต่างๆ เสนอชื่อ หรือ ประธานรัฐสภาเป็นผู้สรรหา หรือ ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา

นายชวน กล่าวด้วยว่า ทั้ง 2 รูปแบบมีจุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน เช่น รูปแบบคณะกรรมการ 7 ฝ่าย หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปฏิเสธไม่เข้าร่วม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ขณะเดียวกันดูผิวเผินแล้วจะพบว่ามีตัวแทนฝ่ายรัฐบาลจำนวนมาก จะทำให้ถูกมองว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่และเป็นที่กังวลของฝ่ายอื่นๆ และหากคุยกันไม่รู้เรื่องก็อาจจะล่มกันไปโดยไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ข้อดีก็คือหากมีเรื่องที่เห็นตรงกันก็จะทำให้คุยกันจบเร็ว ส่วนรูปแบบตั้งคนกลางมาเป็นกรรมการ ยังไม่มีความชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเขาจะรับหรือไม่ ทั้งนี้ยังต้องมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อไป

นายชวน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ตนจะนำรูปแบบการตั้งคณะกรรมการทั้ง 2 รูปแบบไปเดินสายพูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ท่านเหล่านั้นได้เสนอความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ โดยที่ผ่านมา ได้คุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีไปแล้ว 3 คน และได้รับความเห็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งทุกคนเป็นห่วงบ้านเมือง พร้อมยืนยันว่าหากสามารถที่จะทำอะไรได้ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมือด้วย

“ท่านเหล่านี้ เป็นนักปฏิบัติ ต้องเรียนตามตรงว่าสถาบันพระปกเกล้า เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์จริงๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วม” นายชวน กล่าว

นายชวน กล่าวต่อไปว่า ส่วนในการประชุมวันนี้ ยังได้เชิญนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาร่วมหารือ ซึ่งท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ และอยู่กับนักศึกษามาตลอดชีวิตข้าราชการของท่าน เพื่อให้ได้รับทราบแนวคิดที่เป็นประโยชน์ จึงขอยืนยันว่าทุกฝ่ายมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาประเทศ ขณะเดียวกันเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังได้รับการยืนยันจากประธานวุฒิสภาว่า วุฒิสภาน่าจะมีส่วนสนับสนุนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อลดความรู้สึกกังวลจากทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปได้

ส่วนเรื่องของการชุมนุม วันนี้ได้มอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ เนื่องจากมีบุคลากรด้านการปรองดองอยู่แล้ว ซึ่งรวมถึงการประสานงานดูด้วยว่า ผู้ชุมนุมมีแกนนำหรือไม่ หากมีแกนนำก็ยินดีที่จะเชิญมาให้มาร่วมกันหารือหาทางออกให้กับประเทศ

“วิธีที่เราจะพยายามแก้ปัญหาส่วนรวมคือการพูดคุย อย่างน้อยที่สุดก็ลดปัญหาความขัดแย้งในลักษณะคุกคาม ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามทางด้านถ้อยคำหรือร่างกาย เราต้องพยายามลดสิ่งนี้ เพื่อนำไปสู่ความปรองดอง ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาในทางที่ดีขึ้น” นายชวน กล่าว

ประธานรัฐสภา กล่าวอีกว่า ในวันที่ 3 พ.ย.2563 ถ้าเป็นไปได้ตนจะเชิญผู้นำฝ่ายค้าน และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล เข้าร่วมพูดคุยเป็นการภายใน เพื่อให้เป็นตัวแทนทั้งสองฝ่าย ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกล เสนอว่าต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องปฏิรูปสถาบันนั้น ขอเรียนว่า แนวทางของสภาอย่างกรณีเปิดประชุมสมัยวิสามัญในช่วงที่ผ่านมา เราพยายามไม่ให้นำสถาบันมาเป็นเงื่อนไข โดยถือหลักตามรัฐธรรมนูญว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ เราจึงหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขให้สองฝ่ายต้องทะเลาะกัน

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/93187-isranews-556.html

- Advertisement -