“เครือไทยโฮลดิ้งส์” ธุรกิจประกันและการเงินในเครือทีซีซีของ “เจ้าสัวเจริญ” เปิดตัว “อาคเนย์ มันนี่” รุกธุรกิจสินเชื่อครบวงจร เล็งปล่อยกู้โครงการแรก “รับซื้อลดเช็คเกษตรกรชาวไร่อ้อย” ในเครือโรงงานน้ำตาลของทีซีซี ตั้งเป้าเข้าถึงเกษตร 1,600 ราย วงเงิน 400 ล้านบาท
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 บริษัทมีความเข้าใจคนไทย จึงได้เปิดตัว “อาคเนย์ มันนี่” หรือ “SOUTHEAST MONEY” บริษัทด้านการเงินเพื่อธุรกิจและรายย่อย
ภายใต้แนวคิด “Financial Solutions” ผสานนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการด้านการเงินทั้งเพื่อธุรกิจและส่วนบุคคล ผสานการออกแบบกระบวนการที่กระชับและดิจิตอลเทคโนโลยี เพื่อกระบวนการอนุมัติที่รวดเร็ว ไร้รอยต่อ ลดขั้นตอน สะดวกสบายยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างความสุขในการใช้ชีวิตและวางแผนธุรกิจได้เต็มประสิทธิภาพ
“เรามีศักยภาพและความพร้อมทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อให้ชีวิตและธุรกิจไปต่อได้ ทั้งในยามปกติและภาวะฉุกเฉิน เราจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และบริการทางการเงินใหม่ๆ เช่น อาคเนย์ มันนี่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและให้ทุกคนเข้าถึงสินเชื่อในราคาที่เหมาะสม รวดเร็ว และได้รับการปฏิบัติจากผู้ประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม” นายโชติพัฒน์ กล่าว
นายไตรรงค์ บุตรากาศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาคเนย์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายในการเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้บริการด้านนวัตกรรมการเงินแบบครบวงจรสำหรับองค์กร ตั้งแต่สินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อพนักงาน สินเชื่อบุคคลทั่วไป แบบมีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน รวมถึงสินเชื่อสำหรับ Suppliers and Buyers โดยมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการนำ digital technology เข้ามาใช้ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น ความรวดเร็ว และบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
โดยโครงการแรกของบริษัทฯ คือ โครงการ “รับซื้อลดเช็คเกษตรกรชาวไร่อ้อย” เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มบริษัททีซีซี สามารถผ่อนชำระสินเชื่อได้นานสูงสุดถึง 18 เดือน และมีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อสนับสนุนเกษตรของเครือทีซีซี
ทั้งนี้ บริษัท ตั้งเป้าว่าจะมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,600 ราย วงเงินสินเชื่อเบื้องต้นกว่า 400 ล้านบาท เกษตรกรที่สนใจขอรับสินเชื่อได้แล้วที่ตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป หรือตามรอบฤดูกาล
“เราตั้งใจทำให้การขอสินเชื่อเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากโดยจัดเก็บเอกสารและโอนเงินแบบออนไลน์ครบจบที่หน้าโรงงาน ช่วยสนับสนุนด้านการเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยผ่านการรับซื้อลดเช็คค่าอ้อยและเช็คค่าบำรุงอ้อยที่เป็นเช็คของโรงงานน้ำตาลทิพย์กำแพงเพชร ซึ่งเป็นโรงงานน้ำตาลในเครือก่อนในระยะแรก โดยจะเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า เพื่อให้เกษตรกร นำเงินสดไปใช้หมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายปลูกอ้อย เช่น ค่าปุ๋ย ค่าคนงานตัดอ้อยและค่าซ่อมรถบรรทุก เป็นต้น ในแต่ละฤดูกาลผลิตอ้อย” นายไตรรงค์ กล่าว