“…การปรับลดภาษีโรงเรือนให้กับโรงแรมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 โดยโรงแรมต่างๆ ได้ทำหนังสือขออุทธรณ์ลดหย่อนภาษีเข้ามาหลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจ ตนในฐานะผู้บริหารของเทศบาลเมือง มีหน้าที่ต้องพิจารณาตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจโรงแรมเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ จึงได้อนุมัติไป การตัดสินใจของผมในช่วงเวลานั้น ถือว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม มากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายไปบังคับให้เอกชนต้องเสียภาษี สุดท้ายเมื่อไม่ยอมจ่ายกันก็จะต้องมีปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายปี กว่าจะได้ข้อยุติ ขณะที่โรงแรมก็จะอยู่ไม่รอด เทศบาลก็จะขาดรายได้ ปัญหาที่ตามจะมีจำนวนมาก…”
บริษัท พนมขวัญ จำกัด (โรงแรมนครแพร่) และบริษัท รัตนบรรจง จำกัด (โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์) ของพี่ชาย นายโชคชัย พนมขวัญ ที่เพิ่งได้รับคืนตำแหน่งนายกเทศมนตรี เมืองแพร่ จังหวัดแพร่ จากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ปรากฎชื่ออยู่ในสำนวนคดีเรื่องลดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ผู้รับการประเมินภาษีที่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย 1 ใน 2 คดี ที่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ติดสินพิพากษายกฟ้องนั้น (อ่านประกอบ : อสส.ไม่อุทธรณ์ 2 คดีรวด! โชว์คำสั่ง ‘บิ๊กตู่’ คืนตำแหน่ง ‘โชคชัย พนมขวัญ’)
สาธารณชนอาจยังไม่ทราบว่าบริษัททั้ง 2 แห่งได้จดทะเบียนแจ้งเลิกการทำธุรกิจไปหมดแล้ว ?
ก่อนหน้านี้สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 28 / 2563 ให้นายโชคชัย พนมขวัญ กลับไปดำรงตำแหน่งเดิมหรือปฏิบัติหน้าที่เดิม หลังปรากฎข้อเท็จจริงว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 มีคำพิพากษาในกรณีของ นายโชคชัย พนมขวัญ และคดีถึงที่สุดแล้ว ใน 2 คดี คือ 1.สั่งให้ชะลอการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจอดยานยนต์ในเขตเทศบาลเมืองแพร่โดยมิได้เสนอเป็นเทศบัญญัติ โดยมิชอบ และ 2. ลดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ผู้รับการประเมินภาษีที่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย
โดยคดี ลดภาษีโรงเรือนและที่ดินให้ผู้รับการประเมินภาษีที่ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย นั้น อัยการสูงสุด (อสส.) ได้มีคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีนี้ตามความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังพิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐาน ยังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท พนมขวัญ จำกัด (โรงแรมนครแพร่) และบริษัท รัตนบรรจง จำกัด (โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์) ซึ่งมีพี่ชายของ นายโชคชัย พนมขวัญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และหลักฐานรับฟังไม่ได้จำเลยเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น หรือทุจริตเรียกเก็บเงินหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร หรือกระทำการไม่กระทำการอย่างใดเพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียม มิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่ต้องเสีย
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูล บริษัท พนมขวัญ จำกัด (โรงแรมนครแพร่) และบริษัท รัตนบรรจง จำกัด (โรงแรมนครแพร่ทาวเวอร์) ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท พนมขวัญ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 3 กันยายน 2518 ทุนปัจจุบัน 14,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 118-120 ถนนเจริญเมือง ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ แจ้งประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องสมุด
ปรากฎชื่อ นาย สามขวัญ พนมขวัญ และนาย สามชาย พนมขวัญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 12 พฤษภาคม 2563 นาย สามขวัญ พนมขวัญ ถือหุ้นใหญ่สุด 35.7143% มูลค่า 5,000,000 บาท นาย สามชาย พนมขวัญ 24.2286% มูลค่า 3,392,000 บาท นาง นวลสวาท เลาเกียงศักดิ์ 18.5714% มูลค่า 2,600,000 บาท นาย จงศักดิ์ พีระวาณิชย์ 7.1571% มูลค่า 1,002,000 บาท นาย เจตต์ พีระวาณิชย์ 7.1571% มูลค่า 1,002,000 บาท นางสาว เครือวัลย์ กาญจนประดิษฐ์ นาง จารุวรรณ สุวรรณแสน ถือหุ้นเท่ากัน คนละ 3.5857% มูลค่า 502,000 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2562 แจ้งว่า ไม่มีรายได้ มีค่าใช้จ่ายในการบริหาร 5,000 บาท ขาดทุนสุทธิ 5,000 บาท
บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
บริษัท รัตนบรรจง จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2533 ทุน 13,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถนนเหมืองหิต ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ แจ้งประกอบธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและห้องชุด
ปรากฎชื่อ นาง ทิวาวรรณ แนวหลาน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 30 เมษายน 2561 นาย สามขวัญ พนมขวัญ ถือหุ้นใหญ่สุด 49.9231% มูลค่า 6,490,000 บาท นาย เนวิน พนมขวัญ 24.9615% มูลค่า 3,245,000 บาท นาย สามชาย พนมขวัญ 24.9615% มูลค่า 3,245,000 บาท นาง ศศิพร พนมขวัญ 0.0769% มูลค่า 10,000 บาท นาง สุญานี พนมขวัญ 0.0385% มูลค่า 5,000 บาท นาง สุรางค์ จีระศิริ 0.0385% มูลค่า 5,000 บาท
นำส่งงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2558 แจ้งว่า มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการ 16,980,335.44 บาท รายจ่ายมี ต้นทุนขายหรือต้นทุนการให้บริการ 10,640,085.15 บาท รวมรายจ่าย 4,518,449.67 บาท กำไรสุทธิ 1,456,818.57 บาท
ทั้งนี้ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2561 และขณะนี้ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท รัตนบรรจง จำกัด นั้น เคยถูก สตง.ตรวจสอบพบว่า ได้รับการลดการจัดเก็บภาษีโรงเรือนโดยไม่ถูกต้องนั้น เพิ่งนำส่งงบการเงินแสดงรายได้จากการให้บริการห้องพักล่าสุด ปี 2557
โดยแจ้งตัวเลขอยู่ที่ตัวเลข 16 ล้านบาท ขณะที่รายได้ห้องพักในช่วงปี 2554 ที่นายโชคชัย ระบุว่า โรงแรมได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม มีรายได้อยู่ที่ตัวเลข 14 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ในช่วงปี 2553 และ 2555
นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้กับสำนักข่าวอิศรา ยืนยันว่า ไม่ได้เข้าไปดูรายละเอียดการแจ้งรายได้ของบริษัทฯ ลึกถึงขนาดว่าแต่ละปีมีรายได้เท่าไร เพราะหลังจากที่เข้ามาเล่นการเมืองในช่วงปี 2547 ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรอีกแล้ว ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท รัตนบรรจง จำกัด ในปัจจุบัน คือ พี่ชายของตนเอง
“ยืนยันว่าในช่วงปี 2554 โรงแรมของครอบครัว ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจริง จำนวนห้องพักและรายได้ลดลง ซึ่งโรงแรมทุกแห่งก็เป็นแบบนี้เหมือนกันหมด และที่สำคัญมีหลายโรงแรมที่ได้รับการลดหย่อนด้วยไม่ใช่โรงแรมในครอบครัวของผมเพียงแห่งเดียวเท่านั้น”
นายโชคชัย ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การปรับลดภาษีโรงเรือนให้กับโรงแรมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เกิดขึ้นในช่วงปี 2554 โดยโรงแรมต่างๆ ได้ทำหนังสือขออุทธรณ์ลดหย่อนภาษีเข้ามาหลังจากประสบปัญหาทางธุรกิจ ตนในฐานะผู้บริหารของเทศบาลเมือง มีหน้าที่ต้องพิจารณาตัดสินใจหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือให้ธุรกิจโรงแรมเหล่านี้อยู่รอดต่อไปได้ จึงได้อนุมัติไป
“การตัดสินใจของผมในช่วงเวลานั้น ถือว่าเป็นทางออกที่เหมาะสม มากกว่าการใช้อำนาจทางกฎหมายไปบังคับให้เอกชนต้องเสียภาษี สุดท้ายเมื่อไม่ยอมจ่ายกันก็จะต้องมีปัญหาการฟ้องร้องดำเนินคดีกันหลายปี กว่าจะได้ข้อยุติ ขณะที่โรงแรมก็จะอยู่ไม่รอด เทศบาลก็จะขาดรายได้ ปัญหาที่ตามจะมีจำนวนมาก”
“แต่ สตง.ไม่ได้มองในจุดนี้ ไปมองว่า ผมเอื้อประโยชน์ให้กับโรงแรมของครอบครัวซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่แบบนั้นเลย มันเป็นการช่วยเหลือธุรกิจในภาพรวมให้อยู่รอด ไม่ได้เจาะจงธุรกิจของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น”
เมื่อถามย้ำว่า แต่ตัวเลขรายได้ของโรงแรมนครแพร่ ทาวเวอร์ ในช่วงปี 2554 สูงกว่ารายได้ในช่วงปี 2553 และ 2555 นายโชคชัย ตอบว่า “ผมไม่ทราบเรื่องตัวเลขรายได้จริงๆ ทราบแค่ว่ารายได้ลดมาก เขาได้รับผลกระทบจริงๆ โรงแรมอื่นก็เป็นแบบนี้ ในภาพรวมทุกโรงแรมเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด ถ้าผมไม่ตัดสินใจทำอะไร ถ้าโรงแรมเหล่านี้อยู่กันไม่ได้ ก็จะมีความเสียหายต่อภาพรวม ต่อเทศบาลเมืองแพร่ ซึ่งผมให้ความสำคัญกับจุดนี้มากกว่า ไม่ได้ดูว่าต้องเป็นโรงแรมของใครเท่านั้น”
Cr: https://www.isranews.org/article/isranews/91646-inveddstigative02.html