โตเกียว, 30 ส.ค. (ซินหัว) — ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าในช่วงครึ่งแรก (มกราคม-มิถุนายน) ของปีนี้ พบผู้คนที่อาศัยอยู่เพียงลำพังเสียชีวิตที่บ้านในญี่ปุ่นทั้งสิ้น 37,227 ราย
ตัวเลขดังกล่าวแบ่งเป็นผู้สูงอายุวัย 65 ปีขึ้นไปที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง 28,330 ราย ซึ่งคิดเป็นราวร้อยละ 76 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ญี่ปุ่นพบจำนวนผู้เสียชีวิตที่บ้านเพียงลำพัง หรือที่เรียกว่า “ผู้เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว” เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนครัวเรือนคนเดียวและประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
เมื่อจำแนกตามอายุ พบผู้ที่เสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในกลุ่มอายุ 85 ปีขึ้นไปมากที่สุด อยู่ที่ 7,498 ราย และน้อยที่สุดในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 30 ปี อยู่ที่ 473 ราย ซึ่งตอกย้ำว่ายิ่งกลุ่มอายุเพิ่มมากขึ้น แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจะสูงขึ้นเช่นกัน
เมื่อจำแนกตามเพศแล้ว ผู้ที่เสียชีวิตที่บ้านเพียงลำพังเป็นผู้ชายราว 25,600 ราย และผู้หญิงราว 11,600 ราย โดยเหตุการณ์ลักษณะนี้พบบ่อยเป็นพิเศษในเขตมหานครต่างๆ เช่น โตเกียว และจังหวัดคานากาวะ ชิบะ ไซตามะ และโอซากา ซึ่งในโตเกียวพบผู้เสียชีวิตลักษณะนี้มากที่สุดที่ 4,786 ราย
สื่อท้องถิ่นญี่ปุ่นรายงานว่าจำนวนครัวเรือนคนเดียวในญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น พลวัตการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ความท้าทายในการดำรงชีพ และปัญหาการฆ่าตัวตายที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหาการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวทวีความรุนแรงมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงได้ออกพระราชบัญญัติส่งเสริมนโยบายเพื่อจัดการกับความเหงาและการอยู่อย่างโดดเดี่ยวในเดือนเมษายน ท่ามกลางความพยายามที่จะบรรเทาปัญหาความโดดเดี่ยวที่เลวร้ายมากขึ้น
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้สูงอายุเดินบนถนนสายธุรกิจแห่งหนึ่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 18 ก.ย. 2023)