จีนมีแผนดูแลผู้สูงอายุกว่า 300 ล้านคนอย่างไร

4

การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกกำหนดในแผนพัฒนาคุณภาพสูงของจีน โดยปัจจุบันจีนมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 297 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรที่มีอายุ 65 ขึ้นไป จำนวน 217 ล้านคน คิดเป็น 15.4% ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมด

รัฐบาลจีนมีแผนในการดูแลผู้สูอายุ ทั้งในการยกระดับคุณภาพชีวิต และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผู้สูงอายุ โดยมีแนวทางที่น่าสนใจหลายเรื่อง ได้แก่

ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
1.ช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการอาหารสําหรับผู้สูงอายุ โดยขอให้ผู้ประกอบการธุรกิจจัดเลี้ยง ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาสังคม จัดความช่วยเหลือด้านอาหารสําหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนองค์กรต่างๆ ให้เงินอุดหนุนหรือมอบบัตรกำนัลอาหารให้กับผู้สูงอายุ รวมถึงจัดทำแพลตฟอร์มการสั่งและส่งอาหารที่สะดวกสำหรับผู้สูงอายุ

2. จัดบริการสําหรับผู้สูงอายุที่บ้าน ส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจบริการผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ เช่น มีบริการจุดอาบน้ำชุมชน รถอาบน้ำเคลื่อนที่ มีบริการซื้อของ บริการทำความสะอาด บริการรับยาที่โรงพยาบาล

3. พัฒนาบริการเพื่อผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาศูนย์บริการผู้สูงอายุ มีร้านค้า ซูเปอร์มาเก็ต ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมระบบการขนส่งและกระจายสินค้าให้เข้าถึงชุมชนได้อย่างรวดเร็ว

4. ยกระดับบริการสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนมีแผนกดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ พัฒนาโรงพยาบาลฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ มีบ้านพักผู้สูงอายุ มีสถาบันดูแลผู้สูอายุแบบประคับประคอง มีบริการเยี่ยมบ้านผู้สูอายุ และจัดทำระบบในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้ผู้สูงอายุดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

5. มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมและกีฬาสําหรับผู้สูงอายุ พัฒนามหาวิทยาลัยผู้สูงอายุแห่งชาติ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ตามความสนใจ พัฒนาทักษะต่างๆ มีทรัพยากรทางการศึกษาที่ทันสมัยสำหรับครูและผู้สูงอายุ ส่งเสริมการผลิตสื่อเพื่อผู้สูงอายุ เช่น หนังสือ วิทยุ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ ดนตรี และวิดีโอสั้นสนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรม การแสดง ของผู้สูงอายุ จัดให้มีสถานที่เล่นกีฬาที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผู้สูงอายุ
1.ส่งเสริมการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ในภูมิภาคปักกิ่ง-เทียนจิน-เหอเป่ย์ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เขตกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เฉิงตู-ฉงชิ่ง และภูมิภาคอื่นๆ เพื่อพัฒนาสวนอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจผู้สูงอายุ (silver economy) จำนวน 10 แห่ง

2. ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ สนับสนุนการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดเพื่อให้แบรนด์สินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยใช้ช่องทางการประชาสัมพันธ์ในงานต่างๆ เช่น China International Import Expo China Import and Export Fair China International Fair for Trade in Services และ China International Consumer Goods Expo เป็นต้น เพื่อจัดแสดงสินค้าเพื่อผู้สูงอายุและส่งเสริมเทคโนโลยีในการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ

3. พัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และประเมินคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เช่น พัฒนาเสื้อผ้า รองเท้า และหมวกสําหรับผู้สูงอายุ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารสูตรพิเศษทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับการเคี้ยว กลืน ของผู้สูงอายุ พัฒนาเครื่องมือช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุ เช่น เครื่องช่วยฟัง ไม้ค้ำยัน ขาเทียม เป็นต้น

4. ส่งเสริมการบริโภคสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ เช่น จัดกิจกรรมพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ ในเทศกาลต่างๆ มีสินค้าพิเศษสำหรับผู้สูงอายุทั้งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้สูงอายุ
จะเห็นว่ารัฐบาลจีนมีนโยบายและแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุหลายประการ เพื่อรองรับ “สังคมสูงวัย” ให้ผู้สูงอายุกว่า 300 ล้านคน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังเป็นการสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผู้สูงอายุให้ขยายตัวไปด้วย

บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : CGTN

- Advertisement -