ยูนนานนำเข้า ‘ทุเรียน’ สูงอันดับ 2 ในจีน ทุเรียนจาก ‘ไทย’ ครองส่วนแบ่งเกินครึ่ง

7

คุนหมิง, 26 ส.ค. (ซินหัว) — มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าราชาแห่งผลไม้อย่าง “ทุเรียน” สูงเป็นอันดับสองในจีนและอันดับหนึ่งในภาคตะวันตกของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2024

รายงานระบุว่าปริมาณการนำเข้าทุเรียนของอวิ๋นหนานในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 รวมอยู่ที่ 1.51 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 5.03 พันล้านหยวน (ราว 2.51 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบปีต่อปี

อวิ๋นหนานครองส่วนแบ่งการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดของจีนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เป็นร้อยละ 17.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 โดยปริมาณการนำเข้าและมูลค่าการนำเข้าครองอันดับสองในประเทศและอันดับหนึ่งในภาคตะวันตก

ทั้งนี้ อวิ๋นหนานนำเข้าทุเรียนจากไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 จำนวน 92,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3.43 พันล้านหยวน (ราว 1.71 หมื่นล้านบาท) ครองส่วนแบ่งร้อยละ 16.9 ของการนำเข้าทุเรียนไทยทั้งหมดในจีน ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของประเทศ รองจากมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

ขณะเดียวกันอวิ๋นหนานนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 จำนวน 59,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.6 พันล้านหยวน (ราว 8 พันล้านบาท) ครองส่วนแบ่งร้อยละ 20.3 ของการนำเข้าทุเรียนเวียดนามทั้งหมดในจีน ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ทุเรียนไทยสามารถเข้าถึงตลาดจีนโดยผ่านอวิ๋นหนานอย่างสะดวกว่องไวด้วยการบริการขนส่งด่วนล้านช้าง-แม่โขงของทางรถไฟจีน-ลาว ขณะทุเรียนเวียดนามสามารถขนส่งสู่ตลาดจีนอย่างราบรื่นด้วยความรวดเร็วของพิธีการศุลกากรที่ด่านเหอโข่ว

จีนได้เปิดใช้จุดตรวจสอบผลไม้นำเข้าตามท่าด่านที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ ซึ่งเกื้อหนุนการ “ขึ้นเหนือ” ตามแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงของทุเรียนนำเข้า พร้อมจัดการหารือความร่วมมือทางการค้าและกิจกรรมกลุ่มเพื่อช่วยบริษัทต่างๆ จับมือกับตลาดทุเรียน

อวิ๋นหนานครองส่วนแบ่งการนำเข้าทุเรียนในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากทางรถไฟจีน-ลาวเริ่มต้นเดินรถ โดยอวิ๋นหนานเคยครองส่วนแบ่งเพียงร้อยละ 7.7 ของการนำเข้าทุเรียนทั้งหมดในจีน และจัดอยู่อันดับห้าของประเทศในปี 2021 ที่ทางรถไฟจีน-ลาวยังไม่เริ่มต้นเดินรถ ทว่าการนำเข้าทุเรียนของอวิ๋นหนานครองส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.4 และจัดอยู่อันดับสองของประเทศในปี 2022 ที่ทางรถไฟจีน-ลาว ทำการเดินรถครบปีแรก

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ อวิ๋นหนานส่งเสริมการพัฒนาทางโลจิสติกส์และการค้าตามแนวทางรถไฟจีน-ลาวอย่างแข็งขัน พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพของด่านโม๋ฮันอย่างเต็มกำลัง กระชับความร่วมมือกับภูมิภาคท้องถิ่น เช่น สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี เขตเศรษฐกิจอ่าวกว่างตง-ฮ่องกง-มาเก๊า และวงแหวนเศรษฐกิจเฉิงตู-ฉงชิ่ง รวมถึงสนับสนุนการเดินรถไฟขนส่งห่วงโซ่ความเย็นระหว่างประเทศ เส้นทางจีน-ลาว-ไทย เพื่อส่งเสริมบทบาทของทางรถไฟจีน-ลาวในฐานะ “เส้นทางสายสีทอง”

ข้อมูลสถิติพบว่าทางรถไฟจีน-ลาวได้รับรองการขนส่งทุเรียนในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 รวม 60,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 115.4 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 2.28 พันล้านหยวน (ราว 1.14 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 140.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านปริมาณการนำเข้าทุเรียนเวียดนามผ่านด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนอนุญาตการนำเข้าทุเรียนเวียดนามที่ผ่านมาตรฐานสู่จีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2022 นำสู่การนำเข้าทุเรียนเวียดนามชุดแรกผ่านด่านเหอโข่ว และทำให้ด่านเหอโข่วกลายเป็นหนึ่งในจุดนำเข้าทุเรียนหลักของจีน

ข้อมูลสถิติระบุว่าอวิ๋นหนานนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 รวม 59,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 270.7 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 1.6 พันล้านหยวน (ราว 8 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 250.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

นอกจากนั้นด่านเหอโข่วยังจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับสินค้าสดและช่องทางพิเศษสำหรับแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ซึ่งช่วยลดระยะเวลาโดยเฉลี่ยของการดำเนินพิธีการศุลกากรลงอย่างมาก กลายเป็นจุดดึงดูดใจบริษัทค้าขายทุเรียนหลายแห่ง

ขณะที่ท่าเรือกวนเหล่ยได้เปิดเส้นทางเดินเรือสินค้าสายใหม่สำหรับการนำเข้าผลไม้ทางน้ำจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อไม่นานนี้ ท่าเรือกวนเหล่ยผ่านการตรวจสอบของสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนให้เป็นจุดนำเข้าผลไม้ทางน้ำเพียงแห่งเดียวของอวิ๋นหนาน นำสู่การขนส่งทุเรียนไทยชุดแรกจากท่าเรือเชียงแสนมายังท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งถือเป็นการเปิดจุดนำเข้าผลไม้ทางน้ำแห่งแรกของอวิ๋นหนานอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณนำเข้าและส่งออกผลไม้ของท่าเรือกวนเหล่ยจะสูงแตะ 1.5 แสนตันในปี 2025 และสูงถึง 3 แสนตันในปี 2030

ส่วนมาเลเซียกลายเป็นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลำดับที่ 4 ที่สามารถส่งออกทุเรียนสดสู่ตลาดจีน ต่อจากไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ หลังจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนอนุญาตการนำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียที่ผ่านมาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. เป็นต้นมา ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีตัวเลือกเพิ่มขึ้นและตลาดทุเรียนคึกคักมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

(แฟ้มภาพซินหัว : ทุเรียนที่ตลาดค้าส่งผลไม้ในเมืองจิ่งหง แคว้นปกครองตนเองสิบสองปันนา กลุ่มชาติพันธุ์ไท มณฑล อวิ๋นหนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน)

- Advertisement -