(คลิป) ‘ทองคำสีดำ’ สักขีพยานความรุ่งโรจน์และร่วงโรยในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของ ‘อิรัก’

9

แบกแดด, 4 ส.ค. (ซินหัว) — ฮุสเซน อาลี ซาอิด วัย 81 ปี ใช้ชีวิตอยู่ที่ “คีร์คูก” เมืองทางตอนเหนือของอิรักมาตลอด โดยเมืองคีร์คูกเป็นที่รู้จักจากปริมาณสำรองน้ำมันอันมหาศาล

ชายชาวอิรักวัยเกษียณคนนี้มองว่าบ้านเกิดเมืองนอนของเขาเป็นที่สนใจจากทั้งโลกเพราะน้ำมัน ทั้งชีวิตของเขายึดโยงใกล้ชิดกับน้ำมัน เฉกเช่นเดียวกับอิรักที่มีเคราะห์กรรมไม่ต่างกัน

#จาก “ทองคำสีดำ” สู่ “ฝันร้ายอันมืดมน”

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สหราชอาณาจักรควบรวมภูมิภาคแบกแดด บาสรา และโมซูล ซึ่งยึดจากจักรวรรดิออตโตมันที่ล่มสลาย แล้วก่อตั้งประเทศใหม่ที่มีชื่อว่า “อิรัก” ซึ่งถูกปกครองอยู่ภายใต้อาณัติ

เดือนสิงหาคม 1921 พระเจ้าฟัยศ็อลที่ 1 ที่แต่งตั้งโดยสหราขอาณาจักร ได้ขึ้นครองบัลลังก์ในแบกแดดอย่างฉุกละหุก แม้แต่พิธีบรมราชาภิเษกยังถูกจัดขึ้นโดยปราศจากเพลงชาติของตัวเอง และใช้เพลงชาติของสหราชอาณาจักรอย่างก็อดเซฟเดอะคิง (God Save the King) แทน

ปี 1927 ทีมงานร่วมของกลุ่มบริษัทน้ำมันสหราชอาณาจักร ดัตช์ และชาติตะวันตกอื่นๆ เริ่มต้นสำรวจแหล่งน้ำมันบาบา เกอร์เกอร์ ในคีร์คูก ซึ่งฮุสเซนเผยว่าตอนสหราชอาณาจักรเข้ามา คีร์คูกเป็นเมืองแห่งทองคำสีดำ (น้ำมันดิบ) อย่างแท้จริง ถึงขั้นพูดกันว่าแค่ไม้ขีดไฟก้านเดียวอาจจุดเปลวเพลิงในอากาศได้

อย่างไรก็ดี ความโลภของเหล่าผู้ล่าอาณานิคมปรากฏชัดเจนเมื่อพวกเขาจ่ายส่วนแบ่งค่าน้ำมันหนึ่งตันด้วยเหรียญชิลลิงทอง 4 เหรียญเท่านั้น ซึ่งเท่ากับร้อยละ 12.5 ของราคาน้ำมันดิบหนึ่งตันในเวลานั้น

กลุ่มชาติตะวันตกก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากคีร์คูกไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งตอนนั้นถือเป็นโครงการท่อส่งน้ำมันที่มีความยาวมากที่สุดในโลก และสามารถส่งน้ำมันสู่ยุโรปมากกว่า 4 ล้านตันต่อปี เพื่อยึดครองทองคำดำอย่างน้ำมันดิบ

นอกจากนั้นกลุ่มชาติตะวันตกจัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์ในอิรัก ทั้งยังปฏิเสธจะพัฒนาอุตสาหกรรมท้องถิ่นจากน้ำมัน และปัดป้องจะแบ่งปันเทคโนโลยีใดๆ ดังนั้นแม้มีทรัพยากรน้ำมันมหาศาล แต่อิรักยังจำเป็นต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

“อิรักเหมือนเป็นอูฐแบกทองคำขณะเคี้ยวหนาม” ฮุสเซนกล่าวรำพึงรำพัน “ความมั่งคั่งไหลสู่ตะวันตก สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ดัตช์ และอเมริกาล้วนคว้าเอาผลประโยชน์ แต่อิรักกลับไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง”

เท่านั้นยังมิพอ เหล่ามหาอำนาจชาติตะวันตกเริ่มต้นตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ โดยปี 1928 สามบริษัทน้ำมันรายใหญ่ของอเมริกา สหราชอาณาจักร และดัตช์จัดการประชุมลับ เพื่อจัดตั้งบริษัทผูกขาดด้วยข้อตกลงแอคนาคาร์รี (Achnacarry Agreement) ที่จะควบคุมตลาดน้ำมันโลก โดยต่อมาช่วงทศวรรษ 1930 กลุ่มบริษัทน้ำมันของชาติตะวันตกเข้าร่วมเพิ่มอีก 4 แห่ง และจัดตั้งบริษัทผูกขาดธุรกิจน้ำมันที่มีชื่อว่าเซเวน ซิสเตอร์ส (Seven Sisters)

บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ผูกขาดอุตสาหกรรมน้ำมัน ควบคุมการผลิต การขนส่ง ราคา และการจำหน่าย โดยกลุ่มบริษัทน้ำมันของชาติตะวันตกทำรายได้จากกลุ่มประเทศผลิตน้ำมันในตะวันออกกลาง รวมถึงอิรัก มากกว่า 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 แสนล้านบาท) ในช่วงปี 1913-1947 แต่จ่ายส่วนแบ่งเพียง 510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท)

“ทองคำสีดำ (น้ำมันดิบ) จุดประกายยุคทองของตะวันตก แต่กลายเป็นฝันร้ายอันมืดมนอนธกาลของอิรัก” ฮุสเซนกล่าว “บางครั้งผมยังคิดว่าคงจะดีกว่านี้หากที่นี่ไม่ได้มีน้ำมัน”

#แสวงหาอิสรภาพของชาติ

ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เกิดกระแสต่อต้านการล่าอาณานิคมทั่วเอเชียและแอฟริกา นำสู่การประกาศอิสรภาพของนานาประเทศ ทำให้การปกครองของราชวงศ์ฟัยศ็อลที่เป็นหุ่นเชิดของสหราชอาณาจักรเริ่มสั่นคลอนเช่นกัน โดยฮุสเซนเล่าว่าตอนนั้นอิรักเป็นประเทศยากจนข้นแค้น ทุกคนต่างลำบากหิวโหย และการปฏิวัติได้อุบัติขึ้นมา

วันที่ 14 ก.ค. 1958 เสียงปืนดังสนั่นในแบกแดด ขณะอับดุล การิม คาซิม ก่อการปฏิวัติรัฐประหารและโค่นล้มพระเจ้าฟัยศ็อลที่ 2 และนำสู่การสถาปนาสาธารณรัฐอิรักอันเป็นจุดสิ้นสุดการควบคุมของสหราชอาณาจักร

“ทวงคืนความมั่งคั่งที่ถูกขโมยไป” กลายเป็นคำพูดปลุกใจมวลชนของสาธารณรัฐอิรัก พร้อมการกำจัดลัทธิล่าอาณานิคมน้ำมันเป็นเป้าหมายพื้นฐาน โดยปี 1959 อิรักจัดตั้งกระทรวงน้ำมันของตัวเองเพื่อจัดการกิจการน้ำมันของชาติ ทว่าแม้มีความพยายามเหล่านี้ แต่เซเวน ซิสเตอร์ส ยังคงควบคุมปริมาณสำรองน้ำมันว่าร้อยละ 80 ของโลก ทำให้พวกเขาผูกขาดราคาน้ำมัน

อิรักแสวงหาพันธมิตรกับกลุ่มประเทศโลกที่สาม โดยเดือนกันยายน 1960 คณะผู้แทนจากเวเนซุเอลา ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และอิหร่าน พบปะกันที่แบกแดดตามคำเชิญของอิรัก และจัดตั้งองค์กรกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกและรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันในตลาด

วันที่ 1 มิ.ย. 1972 บริษัทน้ำมันแห่งชาติอิรัก (Iraq National Oil Company) ดำเนินการโอนบริษัทปิโตรเลียมอิรัก (Iraq Petroleum Company) ที่ควบคุมโดยชาติตะวันตกให้เป็นของรัฐบาล ซึ่งจุดกระแสการโอนเป็นของรัฐที่ลุกลามอย่างรวดเร็วสู่คูเวต เวเนซุเอลา ซาอุดิอาระเบีย และประเทศอื่นๆ

เดือนตุลาคม 1973 ช่วงสงครามยมคิปปูร์ กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางประกาศห้ามค้าขายน้ำมันแก่ชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอล โดยโอเปกคว้าโอกาสนี้เข้าครองอำนาจการกำหนดราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ขึ้นราคาน้ำมันจาก 5.12 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 180 บาท) เป็น 11.65 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 411 บาท) ต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคม

สำหรับชาติตะวันตก วิกฤตน้ำมันนี้ได้จบยุคทองที่ราคาน้ำมันยังถูกกว่าน้ำเปล่า ซึ่งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นช่วยให้อิรักเข้าสู่ช่วงการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยปี 1979 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวของอิรักเพิ่มขึ้นจาก 392 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,800 บาท) ณ ตอนเริ่มต้นโอนธุรกิจน้ำมันเป็นของรัฐ อยู่ที่ 2,858 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1 แสนบาท)

ฮุสเซนนึกย้อนถึงห้วงยามแห่งความมั่งคั่งว่าเศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมล้วนเฟื่องฟู มีการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่แน่นอน ค่าจ้างเพิ่มขึ้น เงินเก็บเพิ่มขึ้น หลายครอบครัวได้ซื้อรถยนต์ เดินทางท่องเที่ยว หรือแม้แต่เล่าเรียนเมืองนอก

#ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

เสียงไซเรนเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นทั่วกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2003 บ่งบอกสัญญาณสหรัฐฯ เริ่มต้นเข้ารุกรานอิรัก ซึ่งจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ออกมาประกาศว่าสหรัฐฯ ไม่มีความทะเยอทะยานอันใดในอิรัก นอกเสียจากต้องการกำจัดภัยคุกคามและคืนอำนาจสู่มือประชาชนในประเทศ

เมื่อทราบข่าวการรุกราน ฮุสเซนและเพื่อนร่วมงานได้เผาทำลายวัสดุทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำมัน “ถ้าไม่ทำลายของพวกนี้ ชาวอเมริกันคงจะมาหาเรื่องเราแน่ๆ”

สัญชาตญาณของฮุสเซนมาจากความทุกข์ยากในอดีตของอิรัก อลัน กรีนสแปน อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ เขียนในบันทึกของเขาว่า “ผมเสียใจที่มันกลายเป็นเรื่องน้ำท่วมปากหากจะยอมรับในสิ่งที่ทุกคนรู้ดี ว่าสงครามอิรักนั้นเกี่ยวพันลึกซึ้งกับน้ำมัน”

“ประวัติศาสตร์ดูเหมือนจะซ้ำรอย การรุกรานของอเมริกาทำให้อิรักถอยหลังกลับไปอีกเป็นร้อยปี” ฮุสเซนเผยอย่างขมขื่น

ช่วงทศวรรษ 1970 อำนาจทางเศรษฐกิจของอเมริกาได้เสื่อมถอยลงและระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods) ล่มสลายจากการที่สหรัฐฯ ยกเลิกการผูกสกุลเงินดอลลาร์กับทองคำ และเพื่อรักษาอำนาจเหนือของสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐฯ จึงได้ผูกสกุลดอลลาร์เข้ากับน้ำมันและก่อตั้งระบบเปโตรดอลลาร์ขึ้นในเวลาต่อมา

เมื่อปี 2000 อิรักทำการซื้อขายน้ำมันโดยเปลี่ยนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐไปเป็นยูโร ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อระบบเปโตรดอลลาร์ ต่อมาภายหลังการรุกรานในปี 2003 และการล่มสลายของรัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน สหรัฐฯ ได้กำหนดให้อิรักกลับมาทำธุรกรรมด้วยสกุลเงินดอลลาร์อีกครั้งในการส่งออกน้ำมัน

การรุกรานของอเมริกาทำลายล้างอิรัก ฮุสเซนบอกเล่าว่ามาตรฐานการครองชีพพื้นฐานพังทลาย เงินบำนาญต่ำ ผู้สูงอายุไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล และในบางครั้งการจะหาอาหารเลี้ยงชีพยังเป็นเรื่องไม่แน่นอน

กองทัพสหรัฐฯ ถอนทัพออกไปในปี 2011 ทิ้งอิรักที่เศรษฐกิจซบเซาและแตกแยกทางการเมืองไว้เบื้องหลัง โดยคาดว่าสงครามและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอิรักคร่าชีวิตพลเรือนไปกว่า 200,000 ราย และทำให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นอีกกว่า 9 ล้านคน

“น้ำมันควรจะเป็นแหล่งความสุขของชาวอิรัก แต่มันกลับกลายเป็นคำสาปสำหรับประเทศนี้เนิ่นนานกว่าร้อยปี” ฮุสเซนกล่าว

#จับมือเป็นพันธมิตรกับโลกใต้

ปัจจุบันน้ำมันยังคงเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจอิรัก ตัวเลขจากธนาคารโลกในปี 2022 เผยว่ารายได้จากน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 99 ของการส่งออกของอิรัก ร้อยละ 85 ของงบประมาณรัฐบาล และร้อยละ 42 ของจีดีพี (GDP) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

แต่เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและเอกราชอย่างแท้จริง อิรักจำเป็นที่จะต้องสร้างความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจของตน

เมื่อปี 2023 อิรักเปิดตัวโครงการดีเวลอปเมนต์ โร้ด (Development Road) มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6 แสนล้านบาท) เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือสินค้าโภคภัณฑ์หลักบนชายฝั่งทางตอนใต้ เข้ากับทางรถไฟและถนนที่ทอดยาวไปถึงชายแดนติดกับตุรกี (ทูร์เคีย) ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของอิรักหลังจากผ่านพ้นห้วงยามสงครามและวิกฤตการณ์หลายทศวรรษ

โครงการนี้ไม่เพียงสะท้อนความมุ่งมั่นของอิรักที่ต้องการลดการพึ่งพาน้ำมัน แต่ยังแสดงความปรารถนาของอิรักในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มโลกใต้ (Global South) อีกด้วย

ในเดือนกันยายน 2023 โครงการรถไฟที่เชื่อมระหว่างเมืองบาสราของอิรักและเมืองชายแดนชาลัมเชห์ของอิหร่านได้เริ่มต้นการก่อสร้าง ขณะที่เมื่อเดือนเมษายนปีนี้ อิรักได้ลงนามบันทึกความเข้าใจสี่ฝ่ายเกี่ยวกับโครงการดีเวลอปเมนต์ โร้ดร่วมกับตุรกี กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ฮุสเซนกล่าวทิ้งท้ายว่าตอนนี้เคอร์คุกมีถนนสายใหม่ๆ และระบบขนส่งที่พัฒนาแล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูของเรา และหนทางข้างหน้าก็เปี่ยมไปด้วยความหวัง

https://youtu.be/iLFW9py5RuI

 

- Advertisement -