เปิดตัวบ.ไฮเทคโปรฯ คดีเอื้อปย. ก่อนอดีตผู้ช่วย ผอ.สวทช.โดนโทษคุก 7 ปี

271

“….สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลทางธุรกิจ บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด พบว่า ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาจ้างออกแบบ สร้าง และติดตั้งเครื่องPVD InlineSputterering System กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วงเงิน 24,000,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 49 สิ้นสุดสัญญา 30 เม.ย. 50…”

บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด ปรากฎชื่ออยู่ในสำนวนคดีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหา นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤษฎ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับพวก เอื้อประโยชน์ให้ บริษัทไฮเทค โปร อิควิปเมนท์ จำกัด ในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง, ขายเศษ Sputtering target ชนิด Silver ซึ่งเป็นพัสดุของสำนักงานเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้และนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้สถาบันฯเช่า

โดยความคืบคดีนี้ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า จำเลย มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 4 และมาตรา 11 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำคุก 2 ปี ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 7 ปี ให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินที่เบียดบังไป จำนวน 335,634 บาท ให้แก่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่วินิจฉัยความผิดกรรมสองว่าฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตและฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษ ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้น เป็นของตนเองหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นบทหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90 ส่วนบทลงโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ทั้งนี้ คดียังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้

น่าสนใจว่าข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด เป็นอย่างไร

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลทางธุรกิจ บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด พบว่า ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2554 และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2546 ทุน 2,300,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 30/46 ซอยหมู่บ้านการ์เด้นวิลล่า ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แจ้งประกอบธุรกิจจำหน่ายอะไหล่เครื่องจักร วัสดุสิ้นเปลืองเครื่องจักร

ปรากฎชื่อ นางสาว เจียมจิต ชัยสิทธิ์ นาย อัครเดช ดิษยเดช เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2554 นาย อัครเดช ดิษยเดช ถือหุ้นใหญ่สุด

ในฐานข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า นำส่งข้อมูลงบการเงินแสดงผลประกอบการธุรกิจ ล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2553 แจ้งว่า มีรายได้รวม 2,326.37 บาท รวมรายจ่าย 592,327.55 บาท ขาดทุนสุทธิ 590,001.27 บาท

สืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด เคยปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญาจ้างออกแบบ สร้าง และติดตั้งเครื่องPVD InlineSputterering System กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ วงเงิน 24,000,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 49 สิ้นสุดสัญญา 30 เม.ย. 50

สำหรับคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยเผยแพร่ผลการชี้มูลความผิด ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 4 รายประกอบไปด้วย (1) นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤษฏ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (2) นางสาวเจียมจิต ชัยสิทธิ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไฮเทคโปร อีควิปเมนท์ จำกัด (3) นางสาวธัญพร ไม้พุ่ม เจ้าหน้าที่พัสดุ 1 สังกัดสถาบันเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (4) นางถนอมใจ พฤกษ์เสถียร ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนรุ่งเรืองกิจ ซัพพลาย จำกัด ว่าเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ไฮเทคโปร อีควิปเมนท์ จำกัด ในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง, ขายเศษ Sputtering target ชนิด Silver ซึ่งเป็นพัสดุของสำนักงาน เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ และนำรถยนต์ส่วนตัวมาให้สำนักงานฯ เช่า

ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า (1) นายพอพนธ์ฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 (โทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท) และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และมาตรา 91

(2) นางสาวเจียมจิตฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนนายพอพนธ์ฯ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 (โทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น)

(3) นางสาวธัญพรฯ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสีย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 และมาตรา 11

(4) นางถนอมใจฯ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นผู้สนับสนุนนางสาวธัญพรฯ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 9 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

อย่างไรก็ดี ในการเผยแพร่ความคืบหน้าคดีกล่าวหา นายพอพนธ์ สิชฌนุกฤษฎ์ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ล่าสุด มิได้ระบุชื่อ บริษัท ไฮเทคโปร อิควิปเมนท์ จำกัด และผู้บริหารบริษัทฯ เป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยแต่อย่างใด

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/91178-investigative05.html

- Advertisement -