ครม.รับทราบข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. คุมทุจริตโครงการ ‘นำสายสื่อสาร’ ลงใต้ดิน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ระบุต้องมียุทธศาสตร์ก่อสร้าง-บริหารจัดการในทิศทางเดียวกัน พร้อมกำหนดให้ ‘บ.กรุงเทพธนาคม’ ต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พร้อมทั้งอนุญาตต้อง ‘ผู้รับเหมา’ เข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ ไม่ใช่แค่อนุญาตใช้สิทธิแห่งทางเท่านั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ประชุมครม.รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษาโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เสนอ ประกอบด้วย
1.ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ.ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ.กสท) เป็นผู้ร่วมดำเนินการในการนำสายสื่อสารลงใต้ติน ทั้งในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การก่อสร้าง และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ เสถียรภาพของโครงข่ายสื่อสาร ความมั่นคงของประเทศและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งนี้ ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการดำเนินการ
2.ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (บจ.กรุงเทพธนาคม) รวมถึงบริษัทหรือนิติบุคคลที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือหุ้นเกินร้อยละ 50 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้
3.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่ชาติ (กสทช.) กับหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ควรพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้อนุญาตการใช้สิทธิแห่งทาง และอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง
ทั้งนี้ เพื่อลดปัญหาและความเสียหายต่อประโยชน์ของรัฐ อันเกิดจากการที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตใช้สิทธิแห่งทางแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงไม่สามารถดำเนินการได้แม้ว่ามีการลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างแล้วก็ตาม และให้กระทรวงดิจิทัลฯเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) สำนักงานกสทช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นไปตามข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ต่อไป
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews-news/91157-gov-Communication-line-nacc.html