ฝุ่นในเมือง:อีกหนึ่งเรื่องที่ควรอาศัยช่วงโควิดตัดสินใจ

37

“…พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการเคยอธิบายว่า ประเทศด้อยพัฒนาต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้”ได้น้ำ”…”

ฝุ่นของเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพ หรือ ของปริมณฑล มาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เกือบทั้งสิ้น

ถ้าไม่ใช่จากภาคขนส่ง คือควันฝุ่นจากท่อไอเสีย

ก็มาจากการเผาสิ่งต่างๆในที่โล่ง เช่นเผาตอซัง เผาขยะ เผาหญ้าแห้ง

ที่เหลือจากนั้นมาจากปฏิกิริยาเคมีของสารประกอบในอากาศที่ก๊าซบางประเภทถูกสภาพแวดล้อมทำให้กลายร่างเป็นอนุภาคฝุ่น แต่นั่นยังจำนวนน้อย สิ่งที่ควรรู้ต่อไปคือ ทำไมมันกำลังเพิ่มขึ้นต่างหาก

งานศึกษาของอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยของคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า

มลพิษในอากาศ เป็นปัญหาเรื้อรังของเมืองใหญ่ๆอย่างกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากว่า 25 ปีแล้ว

แม้ค่าเฉลี่ยของปัญหานี้ ดีขึ้นช้าๆ ต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันก็ยังต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่นั่นเอง

พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานกรรมาธิการเคยอธิบายว่า ประเทศด้อยพัฒนาต้องยอมทุกอย่างเพื่อให้”ได้น้ำ”

ต่อมาเมื่อเป็นประเทศกำลังพัฒนา จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ “ได้เงิน”

ก้าวข้ามอีกระดับ

สังคมที่พัฒนาแล้วจะทำทุกอย่างเพื่อให้ ได้”สิ่งแวดล้อมที่ดี”

พลเอกสุรศักดิ์เคยเล่าให้ผมฟังตอนนั่งเครื่องซี130ไปตรวจราชการด้วยกันว่า สมัยก่อน มลพิษทางอากาศในเมืองหลวงเพียบหนักกว่านี้เยอะ แต่ที่พวกเราไม่รู้สึกรุนแรง ก็เพราะ

อย่างแรก สมัยนั้น เราไม่มีความรู้จะแยกแยะกันว่า ฝุ่นเป็นพิษด้วย มัวแต่วิตกเรื่องควันไอเสียจากรถ เรือ หรือจากโรงงาน แม้แต่จากเมรุวัด

ส่วนฝุ่นนั้น เรามักจะมองมันเหมือนที่ราษฏรต่างจังหวัดมองฝุ่นลูกรังว่าทำให้หายใจไม่สะดวก และทำให้ผมแดงเพราะฝุ่นเกาะ

มาบัดนี้เรามีความรู้กันพอควรว่า ฝุ่นมีเบอร์!

เช่น PM10 บ้าง PM2.5 บ้าง

และความร้ายกาจของเจ้าฝุ่นเบอร์เล็กตามขนาดของมันนั้น

ยิ่งเล็กยิ่งอันตราย เพราะเข้าร่างกายเราแบบทะลุระบบทางเดินหายใจเสียด้วยซ้ำ

อย่างที่สอง สมัยโน้นไม่มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นในอากาศด้วยอุปกรณ์ทันสมัยได้ระดับที่วันนี้เรามีใช้

ดังนั้นแม้ปี2556 เรามีค่าฝุ่นPM2.5สูงกว่าปีที่แล้วมาก เราก็เฉย คงยังไม่หายตกใจจากน้ำท่วมใหญ่ปี54หรือไงก็ไม่ทราบ

แต่ปี2562 เราเอะอะเรื่องฝุ่นที่วัดค่าได้ที่ 26 ไมโครกรัม\ลูกบาศก์เมตร

ทั้งที่ปี2556 ค่าฝุ่นในเมืองขึ้นไปสูงถึง35 ไมโครกรัม\ลูกบาศน์เมตร!!!

จากนั้นลดลงรายปี จาก35 มาเป็น 32 เป็น29 แล้วเป็น26 ไมโครกรัม\ลูกบาศ์นเมตร

เรามีผู้ซื้อรถมาจดทะเบียนเพิ่มทุกปี

ปี2561 กทม.มีรถทะลุ10ล้านคัน จนได้

อาคารสูงก็เพิ่มพรวดพราดจนเป็นกำแพงสูงที่ขวางลม อากาศระดับพื้นราบจึงไหลเวียนยากขึ้น

แต่อาจเพราะเราชิน จึงยอมรับมันมาอย่าง..เนือยๆ

เดือนมกราและกุมภาพันธ์ทุกๆปีเป็นช่วงความกดอากาศสูงทับประเทศไทยไว้

เราจะรู้สึกได้ว่าอากาศมีฝุ่นแน่นขึ้น

แถมช่วงดังกล่าว เป็นช่วงพีคของฤดูเผาไร่นาเตรียมที่ดินเพาะปลูกรอบใหม่ เผาป่าเพื่อล่าสัตว์ หรือเผาใบไม้แล้วลามเข้าป่า

ภาพข่าวรายงานการเผาป่าภาคเหนือ และตามทุ่งในภาคกลางถี่ๆส่งผลทางจิตวิทยาให้รู้สึกว่าฝุ่นควันแน่นฟ้าเมืองไทยไปหมด

นักวิทยาศาสตร์นำฝุ่นข้างต้นมาแยกแยะเพื่อหาว่า กิจกรรมอะไรก่อฝุ่นเบอร์ไหน และแม้แต่สารประกอบในฝุ่นก็สามารถบอกได้ว่ามันเกิดจากกิจกรรมแนวๆไหน

ข้อค้นพบที่นำมารายงานให้คณะอนุกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมที่มี รศ.ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภาเป็นประธานระบุว่า

ฝุ่นระดับ PM2.5ในกรุงเทพและปริมณฑลทั่วไปนั้น

90%มาจากการเผาของน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ การเผาน้ำมันดิบและการเผาในภาคเกษตร

มีเพียง10%เท่านั้นที่มาจากการขนดิน ขนทราย ฝุ่นจากการก่อสร้าง และจากฝุ่นข้างถนน

ฝุ่นก่อสร้าง ฝุ่นขนดินขนทราย ฝุ่นจากข้างถนนนั้น เบอร์จะใหญ่กว่า PM2.5 แทบทั้งนั้น

แต่การก่อสร้างมักทำให้รถติดขัดเพิ่ม รถก็เลยปลดปล่อยฝุ่นควันและความร้อนออกมานานขึ้น

อนึ่ง ที่ว่าดีเซลนั้น ตัวร้ายไม่ใช่น้ำมันดีเซล แต่คือค่ากำมะถันที่ยังมีสูงในน้ำมันดีเซลนี่แหละ

พอรถดีเซลบรรทุกของหนัก การพ่นฝุ่นและควันก็ยิ่งมาก

เวลาตรวจสภาพรถประจำปี หน่วยตรวจจะให้รถเปล่าเบิ้ลเครื่องในเกียร์ว่าง บนแชสซีไดนาโมมิเตอร์(chassis dynamometer)
ควันและฝุ่นที่พ่นออกผ่านท่อไอเสียจึงไม่ค่อยเกินมาตรฐาน

แต่ถ้าขืนตรวจตอนวิ่งและขนของหนักตามปกติของการใช้งานรถดีเซล

ก็ บ่แน่หรอกนาย!!

นี่ดีที่รถขนส่งจำนวนมาก ได้หันไปใช้ก๊าซธรรมชาติกันแล้ว เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเถ้าแก่ไม่ต้องห่วงเรื่องใครจะมาลักดูดน้ำมันไปขาย

ดังนั้น แม้มีรถจดทะเบียนมาก แต่ก็มีการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถึงแม้เถ้าแก่อาจไม่ตั้งใจจะ”รักษ์โลก”ขนาดนั้น

หลายสิบปีก่อน เราสกัดเอาสารตะกั่วออกจากน้ำมันเบนซินรถยนต์ออกไปได้สำเร็จ ปตท.ทำโฆษณามนุษย์ตะกั่วโดนเตะโด่งออกจากรถไป

เป็นโฆษณา ฮากลิ้ง แห่งปีอีกชิ้นหนึ่ง

ดังนั้น เราคงต้องเร่งสกัดเอากำมะถันออกจากน้ำมันดีเซลให้ได้มากๆ

แน่ล่ะ ว่าถ้าเปลี่ยนภาคขนส่งเป็นพาหนะไฟฟ้าย่อมดีกว่า

แต่จะทำได้ ต้องอาศัยพลังบริโภคของประชาชนเจ้าของรถ และต้องมีระบบการจราจรของเมืองที่ลดการใช้พาหนะส่วนตัวลงให้สำเร็จด้วย

ใช้เวลาอีกหน่อยล่ะ จะอ้างโควิดทำเศรษฐกิจร่วงก็คงฟังได้

แต่ฝุ่นกับการหายใจเข้าปอดเรา มันรอไม่ได้

โควิดมาขวางกลาง จึงทำให้วัฒนธรรมสวมหน้ากากเกิดได้แบบไม่ค่อยมีใครเถียงหรืออิดออด

ส่วนจะต้องขยับระดับการกรองของหน้ากากให้สกัดPM2.5 ได้นั้น เราอาจพอเหลือเวลาอีก4-5 เดือนที่จะจัดหามาแบ่งปันกันให้ทันความกดอากาศสูงช่วงปีใหม่ที่จะเวียนมาถึงตามรอบ

แต่นั่นเหมือนตั้งรับแฮะ…

ถ้าต้องรุก ผมขอเสนอสังคมไทยให้พิจารณาข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภาจะสรุปเสนอสภาต่อไปอีกหน่อย

ว่าพอจะพร้อมใจร่วมมือกันได้ขนาดไหน

จะเบี่ยงรถดีเซลให้เข้าเขตเมืองได้มากแค่ไหน

จะลดกำมะถันในน้ำมันลงได้เร็วเท่าไหร่

จะรณรงค์ห้ามเผาหญ้า เผาขยะ เผาใบไม้ หรือแม้แต่เผาน้ำมันเตาได้ดีแค่ไหน

จะเหลื่อมเวลาเดินทางมาทำงานหรือให้ทำงานที่บ้าน เรียนจากบ้านได้เยอะขึ้นมั้ย

จะสามารถติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการระบายมลพิษอากาศแบบ remote sensing ที่มีกล้องบันทึกทะเบียนรถที่ปล่อยควันดำตามถนนแล้วส่งใบสั่งไปเรียกเจ้าของรถมาปรับปรุงในภายหลังอย่างได้ประสิทธิภาพหรือเปล่า

ฝุ่นลูกรังเกาะเต็มตัว เอาเข้าจริงจึงไม่น่ากลัวเท่าสูดฝุ่นร้ายเข้าปอดไป

รายงาน ของ European Environment Agency 2019 บอกว่ามีชาวยุโรป ถึง 412,000 คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเพราะ ฝุ่น!!

นี่มากกว่าตายเพราะโควิด19อีกนะเนี่ย…

ในสถานีรถไฟใต้ดินในลอนดอน พบว่ามีค่าฝุ่นเกินระดับที่WHO กำหนดไว้ถึง 10 เท่า!!!

ราคาบ้านช่องห้องเช่าในย่านอากาศเป็นพิษของลอนดอนราคาร่วงลงถึง20%

ตัวอย่างแบบนี้ คงทำให้เราเห็นง่ายขึ้น ว่าเราควรเต็มใจร่วมมือกับมาตรการลดฝุ่นกันแค่ไหน

อดใจรออ่าน สรุปข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ที่จะเสนอวุฒิสภาในเร็วๆนี้ครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

cr:https://www.isranews.org/article/isranews-article/91046-cov-5.html

- Advertisement -