รัฐอุ้มคนตกงาน “จ้างเรียน” ปั้นแพลตฟอร์ม “สมัครงาน” ระดับชาติ

40

หวั่นสิ้นเดือน ส.ค. หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ตกงานพุ่งระลอกใหม่ ผลพวงจากสถานประกอบการ นายจ้าง ทนพิษเศรษฐกิจ-โควิด-19 รุมไม่ไหว สภาพัฒน์-แบงก์ชาติ หัวหอกช่วย ผุดแพลตฟอร์มระดับชาติ “ไทยมีงานทำ” แก้ตกงาน หน่วยงานรัฐผนึกกำลังจัดทำโครงการรองรับแรงงาน จ้างเรียน สร้างอาชีพ เสริมทักษะ อีอีซีดึงแรงงานอุตฯ ยานยนต์-ชิ้นส่วนฝึกอบรม

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ยังลามกระทบภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในวงกว้าง แม้การแพร่ระบาดของโควิดภายในประเทศจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ปัญหาคนตกงาน ถูกเลิกจ้างจะมีตามมาอีกระลอกใหญ่ จากก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกประจำประเทศไทยคาดการณ์ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นจะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น 8 ล้านคน ขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ระบุว่าแรงงาน 8.4 ล้านคนเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง ทำให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานเกาะติดสถานการณ์และเตรียมมาตรการรองรับ

ลูกจ้างร้านอาหารตกงานพุ่ง
นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงแรงงานมอนิเตอร์สถานการณ์แรงงานทั้งการจ้างงาน การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และเตรียมมาตรการช่วยเหลือแรงงานทั้งในระบบและแรงงานอิสระ พบว่าตัวเลขการจ้างงาน และการเลิกจ้างในระบบประกันสังคม ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 2563 มีลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง พนักงานที่ยังทำงานกับนายจ้าง) รวม 11.3 ล้านคน ลดลง 294,867 คน

เมื่อเทียบกันเดือนเดียวกันของปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้าง 145,747 คน เพิ่มขึ้น 119,807 คน จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สาขาที่มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น อาทิ ที่พักแรม และบริการด้านอาหาร เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 20,836 คน หรือเพิ่มขึ้น 2,547%

3 เดือนปิด โรงงาน 7 พันแห่ง
ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากที่สถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 (ปิดกิจการชั่วคราว) จากเดือน เม.ย.-ก.ค. 2563 รวม 1,568,613 คน จากสถานประกอบการ 7,080 แห่ง โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ การค้า ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร

โดยกระทรวงแรงงานมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาลดผลกระทบหลายมาตรการ อาทิ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการรองรับการว่างงานจากโรคโควิด-19 ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน โดยจ่ายเงินทดแทน 62% ของค่าจ้าง ว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง ลาออก สิ้นสุดสัญญาจ้าง สิทธิประโยชน์ตามมาตรา 78 รวม 70% ของค่าจ้างรายวัน ถึง 28 ก.พ. 2565 เยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่เป็นลูกจ้างสถานประกอบการที่ถูกกระทบจากโควิด กรณีส่งเงินสมทบไม่ครบ 6 เดือน ชดเชย 5,000 บาท 3 เดือน เยียวยาผู้ว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ และกลุ่มแรงงานต่างด้าว

จับตาหลัง ส.ค. ตกงานเพิ่ม
นายอภิญญา สุจริตตานนท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การประกาศปิดกิจการ เลิกจ้างที่ยังมีต่อเนื่องจากที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด หลังเดือน ส.ค. 2563 จะยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะหลังเดือน ส.ค. ลูกจ้างในระบบประกันสังคมที่เคยได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะไม่ได้รับเงินเยียวยาเพิ่มเนื่องจากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่จะมีกิจการบางส่วนที่สู้ไม่ได้ ต้องปิดโรงงาน เลิกจ้างเพิ่มขึ้น ส่วนจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใดยังคาดการณ์ได้ยาก

หน่วยงานรัฐระดมช่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาตกงานที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ล่าสุด สศช.ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำโครงการแก้ปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะ ขณะที่กระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องอาทิ กระทรวงมหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวและกีฬา อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ฯลฯ ต่างระดมจัดทำโครงการจ้างงาน สร้างรายได้ รองรับคนตกงาน แรงงานที่ถูกเลิกจ้างและย้ายกลับถิ่นฐาน

ผุดแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ”
นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานที่มีแนวโน้มจะมีปัญหารุนแรง การตกงานถูกเลิกจ้างจะมีเพิ่มขึ้น สศช.จึงได้ร่วมมือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. จัดทำ platform ระดับชาติ แก้ปัญหาการว่างงาน โดยจะมีการออกแบบให้รองรับการลงทะเบียนผู้ว่างงานจากทุกเซ็กเตอร์ ขณะเดียวกันให้มีการทำระบบการจ้างงานจากบริษัทเอกชน เพื่อให้ทั้งผู้ว่างงานและผู้ที่จะจ้างงานมาจับคู่กัน

“แพลตฟอร์มดังกล่าวจะทำหน้าที่คล้ายกับ Jobs.DB ของภาครัฐ ขณะนี้มีการเร่งดำเนินการทำแพลตฟอร์มดังกล่าวให้เรียบร้อยภายในกลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้ทันการณ์กับการจ้างงานของกระทรวง หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่ได้งบประมาณเงินกู้ 4 แสนล้าน และปีงบประมาณใหม่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แพลตฟอร์มที่แบงก์ชาติและสภาพัฒน์จะทำร่วมกัน อาจจะใช้ชื่อภายใต้คอนเซ็ปต์ว่า “ไทยมีงานทำ” ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานที่รัฐใช้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาปัจจุบัน ใช้ตัวเลขผู้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ซึ่งล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 2563 มีผู้ว่างงาน 3 แสนราย

อีอีซีอุ้มแรงงานอุตฯยานยนต์
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. หรืออีอีซี เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน ค่ายรถยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อบรรเทาการว่างงานในอุตสาหกรรมนี้

ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1 ล้านคน แต่จะมีการตกงานประมาณ 3 แสนคน หรือบางแห่งอาจจะมีการจ้างงานเพียงเดือนละ 10 วัน และในไตรมาส 2 ถึง 3 จะมีการเลิกจ้างอีกจำนวนหนึ่ง

ดังนั้น จึงมีการร่วมมือกันกับบริษัทเอกชนเพื่อจัดโปรแกรมฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ประมาณ 6,000 คน ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท จากกรอบวงเงินในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อพยุงไม่ให้มีการปลดคนงาน แต่ให้ส่งพนักงานมาอบรมกับอีอีซีแทน โดยจะมีการดีไซน์โปรแกรมไว้ประมาณ 40 คอร์ส ด้านออโตเมชั่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์

“ภาครัฐจะออกค่าฝึกอบรมให้ 100% แต่บางบริษัทที่ได้เข้าร่วมหารือแสดงความจำนงจะจ่ายค่าเทรนนิ่งด้วยตัวเอง” นายคณิศกล่าว

ธ.ก.ส.หนุนทำเศรษฐกิจพอเพียง
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธนาคารได้จัดทำโครงการ “เศรษฐกิจพอเพียงสร้างไทย” เพื่อช่วยเหลือคนตกงานโดยธนาคารได้ออกสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว วงเงินรวม 2.6 แสนล้านบาท และขอใช้งบประมาณจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน วงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการการใช้จ่ายเงินกู้

ชลบุรี ไตรมาส 2 ว่างงาน 6 หมื่นคน
นายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน แรงงานจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า คาดว่าเดือนกรกฎาคมมีแนวโน้มว่างงานลดลง เมื่อดูตัวเลขตามมาตรา 75 ในเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 พบว่า มีผู้ประกันตนยื่นขอใช้สิทธิประมาณ 300,000-400,000 คน การใช้สิทธิประกันสังคมกรณีว่างงาน มีประมาณ 60,000 คน ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการเลิกจ้าง สมัครใจลาออกและสิ้นสุดสัญญาจ้าง อย่างไรก็ตามตอนนี้ต้องเฝ้าระวังตัวเลขผู้ประกันตนที่ใช้มาตรา 75 เดือนกรกฎาคม 2563 ถ้าลดลง แต่ตัวเลขการขอใช้สิทธิประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น เป็นไปได้ว่ามีการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น

สระบุรีปิดชั่วคราว 81 แห่ง
รายงานข่าวจากแรงงานจังหวัดสระบุรีเปิดเผยว่า ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2563 มีผู้ว่างงาน 9,097 คน มาจากการประกาศเลิกกิจการ 6 แห่ง ลูกจ้าง 135 คน และสถานประกอบการที่แจ้งใช้มาตรา 75 จำนวน 9 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 1,806 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องหยุดกิจการชั่วคราว ส่วนช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 มีผู้ว่างงาน 7,230 คน มีสถานประกอบการแจ้งหยุดกิจการชั่วคราว 81 แห่ง ลูกจ้างได้รับผลกระทบ 169 คน

อยุธยาปิด 100 โรงงาน
นายสมหวัง ถุงสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดมีตัวเลขคนตกงานในระบบประกันสังคม ประมาณ 2 หมื่นกว่าคน เนื่องจากโรงงานขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ หลากหลายธุรกิจปิดกิจการไปประมาณ 100 แห่ง สถานการณ์ปัจจุุบันถือว่ายังไม่ดีขึ้น

โรงแรม-รีสอร์ตตราดเลิกจ้างเพิ่ม
นายสุทธิรักษ์ คุ้มครองรักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด เปิดเผยว่า จังหวัดตราด ภาพการตกงานจะชัดเจนขึ้นในเดือนสิงหาคม เพราะเดือนกรกฎาคมเพิ่งจะครบ 3 เดือน การช่วยเหลือลูกจ้างจากเงินประกันสังคม 62% และผู้ประกอบการบางรายสามารถขอใช้สิทธิ์หยุดกิจการชั่วคราว โดยจ่ายค่าจ้าง 75% ของอัตราค่าจ้างรายเดือน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมจำนวน 20-30% ที่กลุ่มลูกค้าเป็นชาวต่างประเทศยังไม่เปิดบริการ รอดูสถานการณ์เดือนตุลาคม

นายสุพัฒน์ กองเงิน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตราด กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม-มิถุนายน 2563 มีสถานประกอบกิจการหยุดกิจการชั่วคราว และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 162 แห่ง มีลูกจ้างทั้งหมด 4,502 คน และมีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 3,889 คน คิดเป็น 86% เป็นภาคโรงแรม รีสอร์ตและห้องชุดได้รับผลกระทบมากที่สุด จากจำนวนสถานประกอบการ 120 แห่ง มีลูกจ้าง 4,502 คน แต่มีลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ 3,646 คน หรือคิดเป็น 86% และมีปัญหาจากสถานประกอบการปิดกิจการ 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างประมาณ 120-130 คน

Credit : https://www.prachachat.net/economy/news-501837

- Advertisement -