“มุ่งมั่นและทำทันที” Journey to Sustainability “ดร.ปรีเปรม นนทลีรักษ์” รองอธิการบดีอาวุโส สายงานการเงินและบริหาร DPU มหาวิทยาลัยเอกชนตัวท็อปด้านความยั่งยืน
พูดคุยกับหนึ่งในผู้นำด้านการบริหารและขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม “ดร.ปรีเปรม นนทลีรักษ์” รองอธิการบดีอาวุโส สายงานการเงินและบริหาร แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) สถาบันที่มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในเรื่องความยั่งยืน และได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามเกณฑ์ UI GREEN อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน Green อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการจัดให้มีพื้นที่สีเขียวมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด มีการดำเนินงานด้านอนุรักษ์พลังงานและจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั้งแคมปัส
ท่ามกลางละอองฝนโปรยปรายส่งความชุ่มชื่นให้คลายล้าหลังเลิกงาน สร้างความตระหนักนึกถึง ‘คุณค่า’ ของสิ่งแวดล้อมเด่นชัดยิ่งขึ้น ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ จึงได้นำพารายการ Health Wave FM 95.5 เข้าพูดคุยกับ “ดร.ปรีเปรม นนทลีรักษ์” รองอธิการบดีอาวุโส สายงานการเงินและบริหาร มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อสำรวจมุมความคิดและวิธีการดำเนินงานต่างๆ ในเรื่องดังกล่าวของ DPU ที่มุ่งมั่นจะมีบทบาทที่สำคัญในการร่วมขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุเป้าหมาย “Transforming our world: the 2030 Agenda for sustainable development” ตามที่องค์การสหประชาชาติมุ่งหวังสร้างโลกที่ดียิ่งขึ้น
สำหรับคำถามที่ว่ามหาวิทยาลัยภาคเอกชนมีความเกี่ยวโยงอย่างไรกับความสำคัญของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน “ในความเห็นแล้วไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชนต่างล้วนมีบทบาทและเป็นส่วนสำคัญ เพราะพันธกิจหลักของสถาบันอุดมศึกษาคือการพัฒนาคนและสร้างองค์ความรู้ ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีบทบาทมากในการสนับสนุนเรื่องของการพัฒนาสู่ความยั่งยืน เพราะเรื่องนี้เริ่มต้นที่ความตระหนักของคน” ดร.ปรีเปรม เปิดเรื่องเริ่มต้น
สำคัญที่ต้นแบบ สำคัญที่กระจายความรู้
ดร.ปรีเปรม กล่าวต่อว่า ความเชื่อมโยงเรื่อง SDGs สำหรับสถาบันการศึกษามีด้วย 5 เรื่องหลักๆ ได้แก่
1.การศึกษาและการวิจัย : หน้าที่สำคัญของสถาบันการศึกษาคือการพัฒนาคน เพื่อให้คนมีความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักในเรื่องของความยั่งยืน สำหรับการวิจัยนั้นก็สามารถที่จะสร้างองค์ความรู้และทำให้มีเกิดการพัฒนา โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนงานด้านความยั่งยืน
2.การสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ : องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐ และภาคเอกชน กำลังตื่นตัวในเรื่องความยั่งยืนและมีความต้องการองค์ความรู้และทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในระดับนักศึกษาและอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนด้วยกัน
3.มหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบของความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเองก็ควรที่จะมีการพัฒนาแคมปัสในเรื่องของสภาพแวดล้อมและนำร่องการเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืนที่ดี เป็น Role Model ที่องค์กร ชุมชนต่างๆ มาศึกษาดูงานได้
4.การมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน ด้วยภารกิจด้านการบริการงานวิชาการ มหาวิทยาลัยสามารถสร้างความร่วมมือกับภาคประชาชน ภาคชุมชนได้ โดยให้ความรู้แก่ชุมชนในเรื่องของความยั่งยืนจะทำให้ความรู้แผ่กระจายลงไปอย่างทั่วถึงทุกระดับ
5.การมีส่วนร่วมในการพัฒนานโยบายของประเทศ องค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยมีอยู่จะมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากองค์ความรู้และตัวนักวิจัย นักวิชาการจะสามารถช่วยให้ภาครัฐจัดทำนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลกระทบกับการพัฒนาความยั่งยืนได้เฉียบคมมากยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ “ดร.ปรีเปรม” บอกว่า ได้ทำวางแผนและทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ในมิติสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และได้รับการจัดอันดับในเรื่องนี้เทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปี ใน UI GREEN
และจาก ‘วิถีความยั่งยืน’ ที่เข้ามาเต็มที่ ในปี 2565 ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ดำเนินการบรรจุเรื่องความยั่งยืนไว้ในวิสัยทัศน์ โดย “ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดีมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสถาบันสู่ความยั่งยืน มีการกำหนดแผนความยั่งยืนตามกรอบ ESG และกำหนดเป้าหมายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งทำให้เป็นทิศทางสำคัญให้มหาวิทยาลัยเดินหน้าอย่างชัดเจน และเพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนเป็นไปตามเป้าหมายได้มีการจัดโครงสร้างคณะทำงาน และจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความยั่งยืนถึง 13 นโยบาย เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องพร้อมกับตั้งคณะทำงานที่เป็นตัวขับเคลื่อนด้วยกัน 3 ทีม ทีมแรกคือ ‘DPU Green team’ ดูแลเรื่องของสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ทีมที่สอง คือ “DPU SHE Team” ที่ดูแลเรื่องของความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมการทำงาน สุดท้ายคือ ‘ทีมสร้างจิตสำนึก’ เน้นการปลูกสำนึกและสร้างความตระหนักเรื่องสังคมยั่งยืนของบุคลากรและนักศึกษาในมหาวิทยาลัย
“อีกเรื่องคือการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายนั้น ในบริบทของเราอาจจะไม่สามารถทำได้ทุกเรื่อง บางเรื่องอาจจะน้อย บางเรื่องอาจจะมาก มหาวิทยาลัยจึงมีการกำหนด SDGs ทั้งหมด 4 ด้านหลักๆ ก่อนคือ 1.ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (SDG#8) เพราะเหมาะกับมหาวิทยาลัยที่เน้นในเรื่องธุรกิจและการเติบโตของเศรษฐกิจ 2.การสร้างชุมชนที่ยั่งยืน (SDG#11) 3.การผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (SDG#12) 4.ความร่วมมือกับพันธมิตร (SDG#17) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องทำ แต่ก็ถือว่าปีแรกที่ทำนั้นเราประสบความสำเร็จตามแผน”
ลงมือทำเลย
ทางด้านการดำเนินงาน “ดร.ปรีเปรม” มองเห็นปัญหาอุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืน คือ การ ‘ขาดแคลนบุคลากร’ ที่มีความรู้และความเข้าใจที่ยังไม่มากพอ ดังนั้นแนวทางแก้ไขจึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาทั้งด้านบุคลากรและด้านการสร้างองค์ความรู้
อุปสรรคอีกเรื่องหนึ่ง คือ ‘งบประมาณ’ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพในการที่จะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเอกชนดำเนินการด้วยงบประมาณของมหาวิทยาลัยเองจึงอาจจะทำได้ไม่รวดเร็วมากนัก จึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและการปรับการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่ไม่ได้รองรับ เช่น การสรรหาเงินลงทุน การเข้าถึงทุนวิจัย ฯลฯ
“ถ้าภาครัฐสนับสนุนก็จะยิ่งทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะเรื่องของความยั่งยืนทุกคนล้วนเห็นได้ถึงความจำเป็นที่เราจะต้องช่วยโลกไปด้วยกัน” ดร.ปรีเปรมระบุ
สำหรับการสร้าง Mindset ให้นักศึกษาและบุคลากรให้เกิดการร่วมมือนั้น มหาวิทยาลัยเน้นให้ทำแบบบูรณาการให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่เป็นงานงอก เช่น กรณีนักศึกษา ดูว่านักศึกษามีเส้นทางการเรียนรู้อย่างไร จากนั้นสอดแทรกเข้าไปเชื่อมโยงผ่านเนื้อหารายวิชา ผ่านการจัดวิชาเฉพาะที่นักศึกษาสนใจ ผ่านกิจกรรมเสริมหลักสูตรและกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้รับความรู้ทั้งในและนอกห้องเรียนตลอดเวลา
ขณะเดียวกันการสร้างความมีส่วนร่วมนั้น มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลายรวมทั้งการร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น ร่วมกันจัดกิจกรรมให้นักศึกษาประกวดโลโก้ความยั่งยืน จัดกิจกรรมสร้าง Mascot ความยั่งยืน การประกวดคำขวัญโดยให้บุคลากร และทุกปีเราก็จะมีงาน Sustainability Expo นิทรรศการใหญ่ที่จัดแสดงความรู้ในเรื่องของความยั่งยืนในรูปแบบของงานวิจัยของอาจารย์และโครงงานของนักศึกษา รวมทั้งมีกิจกรรมความยั่งยืนร่วมกับหน่วยงานภายนอก
“อยากเชิญชวนให้ทุกคนมองว่าเรื่องความยั่งยืนนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือลงมือทำกัน ไม่ใช่ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่ผู้บริหาร หรือใครคนใดคนหนึ่ง และต้องมองว่าเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วนและสำคัญด้วย ไม่ต้องรอทำ ขอให้ทำเลย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย หรือ สถาบันการศึกษาที่เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงมีองค์ความรู้และมีบุคลากรที่เก่งเยอะ ฉะนั้นย่อมต้องเข้าไปมีบทบาทในการที่จะนำประเทศให้บรรลุความสำเร็จในเรื่องนี้”
“ที่สำคัญผู้นำองค์กรจะต้องนำและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนอย่างจริงจัง ทุกอย่างในองค์กรถึงจะไปด้วยกันและเกิดความตระหนักหรือสร้างจิตสำนึกให้ทั้งนักศึกษาและบุคลากรนำไปสู่การปฏิบัติจริง สร้างแนวทางการดำรงชีวิตในวิถีความยั่งยืนของโลก ซึ่งเป็นวิถีของคนรุ่นใหม่”