คุ้มไม่คุ้ม…72 ล้านจัดซื้อเรือกู้ภัยสุดหรูเมืองพัทยาตั้งแต่ปี 2549 ใช้งานไม่นานก็เสียรอการซ่อมบำรุงต้องจอดแช่ท่าเรือนานกว่า 10 ปี สุดท้ายต้องนำเข้ารายการประกาศขายทอดตลาดตั้งราคา 6 ล้านบาท แต่ไร้ผู้สนใจ
มีรายงานว่าวันนี้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ได้จัดให้มีการขายทอดตลาดพัสดุที่ชำรุดเสื่อมสภาพ หรือ ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในราชการประจำปีงบประมาณ 2562 ที่มีการเปิดรับในส่วนของภาคประชาชนที่สนใจ ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่ได้ยื่นหนังสือเอกสาร และลงทะเบียนเข้าร่วม ด้วยการวางหลักประกันรายละจำนวน 7,000 บาท เข้าประมูลก่อนจะสู้ต่อรองราคาเป็นเงินสด โดยพบว่ามีผู้ที่สนใจเข้าร่วมจำนวนถึงร้อยกว่าราย
ในการนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสำนักพัสดุและทรัพย์สินเมืองพัทยา ได้นำพัสดุประเภทครุภัณฑ์ยานพาหนะกว่า 70 รายการ ได้แก่ รถบรรทุก รถแบ็คโฮ รถกระบะ และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งครุภัณฑ์สำนักงานอีกจำนวนหนึ่งมาจัดแสดงเพื่อเปิดการประมูลโดยสนนราคาตั้งแต่ 1,000 บาท-200,000 บาท ซึ่งพบ ว่าได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจนสามารถเปิดประมูลและจำหน่ายหมดไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ไฮไลท์สำคัญของการประมูลครั้งนี้ได้มีการนำครุภัณฑ์ประเภทยานพาหนะและขนส่งอย่าง เรือกู้ภัยตรวจการณ์ 801 ที่เมืองพัทยาได้รับการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการจัดซื้อมาในราคากว่า 72 ล้านบาทตั้งแต่ปี 2548 เพื่อใช้ในภารกิจสำคัญได้ แก่ การระงับเหตุดับเพลิงไหม้ทางทะเลและชายฝั่ง การปฐมพยาบาลและขนส่งผู้ป่วย โดยมีการตั้งราคาเปิดประมูลไว้จำนวน 6,000,000 บาท แต่พบว่าผู้เข้าร่วมไม่ได้สนใจและเปิดราคาให้ประมูลแต่อย่างใด โดยหลายรายระบุว่าเป็นการตั้งราคาประมูลที่แพงเกินไปด้วยต้องมีการซ่อมบำรุงและปรับปรุงเรือใหม่เป็นจำนวนนับล้านบาท ส่งผลให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องนำพัสดุรายการนี้กลับเข้าไปสู่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาและทบทวนตั้งราคาก่อนเปิดประมูลขายทอดตลาดใหม่อีกครั้ง
สำหรับเรือปฏิบัติกู้ภัยทางทะเล 801 นี้ เป็นเรือไฟเบอร์กลาส ขนาด 80 ฟุตสูง 2 ชั้น บรรจุผู้โดย สารได้ 50 คน เป็นเครื่องยนต์แบบ 8 สูบ 820 แรงม้า ซึ่งมีความเร็วสูงสุด 22 นอต ภายในหอบังคับการมีเรดาห์จับสัญญาณใกล้เคียงรอบทิศ ตกแต่งอย่างดีมีเครื่องปรับอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร บริเวณชั้นล่างตกแต่งให้เป็นห้องพยาบาลมาตรฐานขนาด 3 เตียง มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมกันนี้ยังเป็นเรือที่สามารถยิงน้ำดับเพลิงได้ในระยะทาง 70 เมตรในความ เร็ว 6,000 ลิตรต่อนาทีด้วยการสูบน้ำจากทะเล ซึ่งตามหลักการณ์แล้วจะต้องมีภารกิจในการดูแลความปลอดภัยในน่านน้ำอ่าวพัทยาตลอด 24 ชม. โดยมีกัป ตันเรือ ผู้ช่วย พยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล ทหารเรือ และช่างเครื่องประจำรวม 8-9 นาย
ส่วนภารกิจการดับเพลิง และรักษาพยาบาลนั้นถือว่าไม่ค่อยได้ใช้งานมากนัก เนื่องจากเรือลำนี้กินน้ำ มันเชื้อเพลิงมาก โดยการเดินทางระหว่างท่าเรือถึงเกาะล้านจะต้องใช้งบประมาณในการเติมเชื้อเพลิงแต่ละครั้งประมาณ 5-6 หมื่นบาท จึงไม่ได้นำออกมาใช้ตามภารกิจแต่จะใช้เรืออื่นที่เมืองพัทยาจัดซื้อมาเพิ่มแทน อีกทั้งเรือลำนี้ต้องแบกภาระในเรื่องของอัตรากำลัง และการดูแลบำรุงรักษาก็ใช้งบประมาณสูงมากอีกด้วย จึงทำได้แต่เพียงการนำมาจอดทอดสมอทิ้งไว้ที่ท่าเฉยๆ กระทั่งเมื่อเวลาผ่านไปนานจึงทำให้เรือมีสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมามีการร้องเรียนผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีหลายครั้ง แต่ก็ทำได้เพียงการชี้ แจงเบื้องต้นเท่านั้น
มีรายงานอีกว่าหลังจากที่เมืองพัทยาได้รับงบประมาณอุดหนุนพิเศษในการจัดซื้อเรือพยาบาลกู้ภัยไฮ เทคมูลค่ากว่า 72 ล้านบาทนั้น ปรากฏว่าเรือลำนี้กลับสามารถใช้งานได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น มิหนำซ้ำตลอดระ ยะเวลาที่ผ่านมาเรือลำนี้ก็ไม่ได้นำมาปฏิบัติภารกิจใดๆ และไม่มีการใช้งานหรือมีใครพบเห็นอีกเลย โดยทราบเพียงว่าเรือถูกนำไปจอดทอดสมอทิ้งไว้ที่ ท่าเรือโอเชี่ยนมารีน่า ยอร์ช คลับ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เนื่องจากมีสภาพชำรุดและเสื่อมโทรมจนไม่สามารถใช้งานได้ จนกระทั่งต่อมาในปี 2560 ในยุคที่ คสช.เข้ามากำกับดูแลและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาบริหารเมืองพัทยา ได้มีการหยิบยกเอากรณีดังกล่าวขึ้นมาอภิปราย ซักถามก็ได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวเรือ ทั้งในส่วนของอุปกรณ์และระบบเครื่อง ยนต์นั้นไม่คุ้มค่าต่อการซ่อมบำรุง จึงมีการแนะนำให้เข้าในรายการพัสดุเพื่อรอจำหน่ายในการขายทอดตลาด แต่ก็มีการรอคอยไว้อีกกระทั่งผ่านเวลามานานกว่า 6 ปี จึงมีการนำเข้าในรายการพัสดุเพื่อจำหน่ายในที่สุด
ทั้งนี้ในส่วนกรณีของเรือลำนี้เป็นอีกประเด็น ที่สังคมตั้งข้อสังเกตุ ว่าการจัดซื้อเรือมูลค่าสูงขนาดนี้มาใช้งานถือเป็นการใช้งบประมาณที่สมประโยชน์หรือไม่…
อธิบดี บุญชารี รายงาน