(คลิป) โควิดกระทบทุกมิติ! หมอประเวศ ชี้ไทยต้องปรับตัว ‘สื่อ’ เป็นสถาบันสร้างสรรค์เปลี่ยนปท.

34

ครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ! หมอประเวศชี้ประชาธิปไตยไทยยังล้มลุกคลุกคลานเพราะวัฒนธรรมอำนาจเป็นอุปสรรค โควิดกระทบทุกมิติต้องปรับตัว ระบบเศรษฐกิจยิ่งซับซ้อนเกิดความเหลื่อมล้ำสูง แนะสื่อเป็นสถาบันหนึ่งของสังคม ควรมี พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยสื่อมวลชน พัฒนาสื่อมวลชนสมรรถนะสูง 1,000 คน ปท.จะเปลี่ยน ด้านสุภิญญา ชี้ สื่อต้องมีสิทธิตั้งคำถาม ไม่ลืมเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการจัดงานครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะวิกฤติโรคระบาด”

โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเวศ วะสี ระบุว่า ตนมีความผูกพันกับสภาการหนังสือพิมพ์ฯ เพราะเคยเป็นประธานการยกร่างธรรมนูญ เมื่อยกร่างฯ เสร็จ ก็มีการประกาศวันสภาการหนังสือพิมพ์ ฯ วันที่ 4 ก.ค. สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตั้งขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมบทบาทและจริยธรรมของสื่อ ในสังคม เวลาที่ผ่านมา 23 ปี เหตุการณ์ต่างๆ ก็ซับซ้อนขึ้น บทบาทของสื่อก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้น เราก็ควรถือโอกาสนี้มาทบทวน เครื่องมือสำคัญที่สุด ที่โลกจะก้าวไปสู่การให้ความสำคัญคือการสื่อสาร

นพ.ประเวศ ชี้ว่า “วิกฤติโควิดเปรียบเสมือนคลื่นลมที่แรง กระทบทุกๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ไม่ต่างจากเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของ หมอยาโรงพยาบาล เท่านั้น แต่เกี่ยวกับสังคมทั้งหมด โควิดจึงกระทบทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ จิตใจ สังคม การเมือง มันกระทบทั้งหมด และนักการเมือง ข้าราชการผู้ใหญ่ก็ดี ที่ไม่มีความรู้ในเนื้อหาสาระ ทำอะไรไม่ถูกเก้ๆ กังๆ ในสภาวะที่มันซับซ้อน ในสังคมที่ซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ความรู้ ข้อมูล เหตุผล สติปัญญา จะใช้แต่อำนาจไม่ได้ แต่สังคมไทยยังเป็นการใช้อำนาจ การเมืองเป็นการเมืองแบบอำนาจ เหล่านี้เราจะต้องปรับตัว”

นพ.ประเวศ ย้ำว่า “ที่ผ่านมาสังคมไทยเป็นวัฒนธรรมสังคมอำนาจ คิดเชิงอำนาจ สัมพันธภาพเชิงอำนาจ และโครงสร้างอำนาจ ไทยเป็นระบบรัฐราชการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ มีไม่น้อยกว่า 130,000 ฉบับ มีความริเริ่มใหม่ไม่ได้ ปรับตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ก็ไม่ได้ เหล่านี้ทำให้ประเทศไทยติดอยู่กับที่ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผ่านมา 88 ปีแล้ว ประชาธิปไตยก็ยังล้มลุกคลุกคลาน เพราะวัฒนธรรมอำนาจเป็นอุปสรรค ดังนั้น เมื่อเกิดโควิด เราก็ต้องปรับตัว ระบบเศรษฐกิจยิ่งซับซ้อน และเกิดความเหลื่อมล้ำ ทว่า คนไทยเกือบไม่มีความคิดเชิงระบบเลย แต่ระบบและโครงสร้างทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เช่นคนจน เขาจนเพราะระบบและโครงสร้าง แต่คนไม่เข้าใจจะกล่าวหาและซ้ำเติมไปที่ตัวคนจน ทั้งที่ปัญหาคือระบบและโครงสร้างสังคมไทยไม่มีความคิดเชิงโครงสร้าง คิดแต่เรื่องบุญกรรม ส่วนบุคคล และคิดว่าเป็นเรื่องศาสนา ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกเช่นนั้น แต่ให้มองที่เหตุผล โควิด ไวรัสตัวน้อยนิดเดียว แต่ขยายผลไปทั่วโลก ในสังคมเกษตร มีไวรัสร้ายแต่ไม่เกิดเหตุร้ายแรง เพราะคนอยู่กันห่างๆ ในยุคนี้โควิดจึงเป็นเรื่อง ท้าทายกับสื่อโดยตรง และซับซ้อน”

“การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในระบบนี้ หากเปรียบเป็นร่างกาย ระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่รู้ถึงกันทั้งระบบ ก็เปรียบเสมือนสายดีเอ็นเอ แม้เราหลับ สมองก็ยังมีส่วนที่รับรู้ ลำไส้เราก็ยังทำงานอยู่ สมองยังสั่งการประสานงานอยู่ตลอด ดังนั้น การสื่อสารจึงสำคัญยิ่งที่จะทำให้สังคมที่สลับซับซ้อน มีบูรณภาพมีสมดุล ลงตัว ความสำคัญอย่างยิ่งยวดของสื่อ ในการสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมหลังโควิด เรื่องใหญ่คือเรื่องการศึกษา ที่สื่อต้องร่วมกันจับเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชการที่ 9 ใช้คำว่า “ภูมิสังคม” สื่อจำเป็นต้องรู้เท่าทันกระบวนทัศน์ใหม่ในการสื่อสาร สื่อจำเป็นต้องรู้เข้าไปในเรื่องที่มันซับซ้อน สื่อต้องพัฒนาเข้าไปในบริบทของเรื่องราว เข้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องการซื้อยา ระบบยาในสาธารณสุข เป็นเรื่องซับซ้อนมาก ประชาชนถูกทำร้ายตลอดมา แต่สื่อไม่รู้ มีผู้ที่ผลักดันทำอย่างไร จะใช้ยาราคาถูก บริษัทยาก็ไม่ชอบใจ ผู้ที่ปกป้องผู้บริโภคก็จะถูกทำร้ายเสมอ การสื่อสารจึงเป็นเครื่องมือสำคัญ สื่อมวลชนเป็นสถาบันของสังคม ต้องการอิสระ ต้องการเครื่องมือเชิงสถาบันที่เสริมสร้างสมรรถนะและสถานภาพของสื่อมวลชน ขอเสนอว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันของสังคม ต้องการเครื่องมือเชิงสถาบัน อาทิ ควรมี พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยสื่อมวลชน ควรจะทำเป็นกฎหมายที่ให้มีความเป็นอิสระ หรือมีกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สนับสนุนสถาบันส่งเสริมสื่อมวลชน”

นอกจากนี้ นพ.ประเวศ ยังได้อ้างถึงคำพูดถึง ศ.ดร.บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา ที่ระบุว่า ถ้าพัฒนาสื่อมวลชนสมรรถนะสูง 1,000 คน ประเทศไทยจะเปลี่ยน

ก่อนทิ้งท้ายว่า สื่อมวลชนเป็นสถาบันทางสังคม ต้องมีเครื่องมือสนับสนุนเชิงสถาบัน สร้างสรรค์ประเทศไทยหลังโควิด

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นมีเวทีเสวนา หัวข้อ บทบาทจริยธรรมสื่อในภาวะวิกฤตโรคระบาด มีผู้ร่วมเสวนา คือ นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รอางอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ และกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายมงคล บางประภานายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดำเนินการเสวนาโดย นายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

นพ.ธนรักษ์ กล่าวระหว่างการเสวนาตอนหนึ่งว่า ในกรณีการสื่อสารประเด็นที่มีความเสี่ยง ต้องประเมินความเสี่ยง ส่วนที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญคือ ความเสี่ยงสูง หรือต่ำ ไม่สำคัญเท่ากับวิธีที่จะจัดการ

“ช่วงแรกๆ ที่เกิดวิกฤติโควิดตนพยายามอธิบายว่าความเสี่ยงคืออะไร คนไทยมีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ อีกปรากฏการณ์คือ สื่อกระแสหลักจะมี นสพ. วิทยุ โทรทัศน์ แต่ทุกวันนี้มีสื่อหลายช่องทาง และแต่ละช่องทางมีอิทธิพลต่อผู้รับสาร ไม่เท่ากัน”

นพ.ธนรักษ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในกรณีถ้ำหลวง และครั้งนี้ นับเป็นวิกฤติที่ทำให้มีสิ่งหนึ่งคล้ายกัน คือ ตอนถ้ำหลวง มีการบัญชาการเหตุการณ์ที่ถูกเอามาใช้อย่างถูกต้อง ดังเช่นในวิกฤติโควิด มีการให้ข่าวจาก ศบค. นี่เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ข้อมูลข่าวกระแสหลักมาจากทางเดียวกัน และเน้นย้ำถึง 3 หลักการสำคัญ คือ Be first รายงานในข้อเท้จจริงที่ Be right พูดในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ที่พูดต้องมีความรู้ Be Credible ต้องมีความน่าเชื่อถือ พูดจากข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

ส่วนนางสาว สุภิญญา เสนอภาพรวมว่า ทำอย่างไรที่ในภาวะวิกฤติ สื่อจะรายงานอย่างถูกต้อง ยกตัวอย่าง ต่างประเทศมีความตึงเครียดระหว่าง สื่อมวลชนกับบุคลากรทางการแพทย์ ยอมรับว่าเมืองไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศ บทบาทของสื่อต้องรณรงค์ให้คนเข้าใจ สื่อมวลชนไทยทำได้ดีระดับหนึ่ง

นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า จากการประเมินคร่าวๆ มองการทำงานภาพรวมของสื่อที่ผ่านมา คือ ช่วงก่อนที่จะมี ศบค. ค่อนข้างสับสน แต่เมื่อมีการจัดตั้ง ศบค. ก็ทำให้ทิศทางข่าวสารไปในทางเดียวกันมากขึ้น แต่สื่ออาจถูกวิจารณ์เรื่องจริยธรรม คือ ข่าวจริง ข่าวไม่จริงอาจจะมาพร้อมกันและถูกวิจารณ์เรื่องการพาดหัวข่าว เช่น เรื่อง ประชาชนที่ไปประท้วง ที่หน้ากระทรวงการคลัง มีการพาดหัวข่าวในทำนองว่า เมื่อไปทำเช่นนั้นแล้วได้ผล ก็ทำให้สื่อถูกวิจารณ์ ว่าทำไมพาดหัวข่าวแบบนั้น หรือการรายงานผู้ติดเชื้อที่มีความแตกต่างทางศาสนา การใช้ชื่อกลุ่มเฉพาะ ก็มีการร้องเรียนเข้ามาที่ตนบ้าง ว่าระวังการสื่อสารเจาะจงไปเฉพาะกลุ่ม

นางสาวสุภิญญาเน้นย้ำด้วยว่า สื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลมากพอหรือยัง ประชาชนส่วนใหญ่ ต้องเสียเสรีภาพ พรก. ฉุกเฉิน มันคุ้มค่าไหม กับการบริหารจัดการ ขณะที่หัวใจสำคัญในการรายงานข่าวก็ยังคงต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริง การจะสรุปว่าอะไรจริงหรือลวงเป็นเรื่องยากมาก ต้องหาองค์ความรู้ แล้วฟ้าทะลายโจร สรุปรักษาได้ไหม เป็นการสู้กันระหว่างแพทย์แผนตะวันออก กับตะวันตก นับเป็นความท้าทาย ว่าสื่อเองต้องเพิ่มทักษะมากขึ้น

“สื่อต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและมีความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อรับมือกับโรคระบาด ทางคุณหมอก็ต้องฝึกทักษะด้านการสื่อสารมากขึ้นในเยอรมันมีการมานั่งคุยกันระหว่างหมอกับนักข่าว ว่าจะสื่อสารกันอย่างไร ถ้ามีอะไรซับซ้อนระลอกใหม่ ควรมีเวิร์คช้อประหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับสื่อ สื่อต้องมีความเป็นวิทยาศาสตร์ มากขึ้นแต่สื่อก็มีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม และไม่เห็นด้วยกับ หมอ นักวิทยาศาสตร์ หรือรัฐบาล ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน แม้สิ่งนั้นจะเป็นนโยบายรัฐ แต่หากมันส่งผลกระทบกับประชาชน สื่อก็ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้ไร้สิทธิ์ ไร้เสียงในสังคม” นางสาวสุภิญญาระบุ

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/90104-news06-12.html

- Advertisement -