ทุ่ม 2.2 หมื่นล้าน กระตุ้นการท่องเที่ยวแจกส่วนลดค่าที่พัก-ค่าอาหารสูงสุดคนละ 18,400 บาท

29

ครม.ไฟเขียวใช้เงินกู้ 2.2 หมื่นล้านบาท จัดแพคเกจท่องเที่ยวในประเทศ แจกส่วนลดค่าที่พัก-ค่าอาหารรับสิทธิ์สูงสุด 18,400 บาทต่อคน พร้อมเคาะจ่ายเงินเยียวยาอีก 3 กลุ่ม รวม 8.4 ล้านคน ทั้งกลุ่มเปราะบาง-ผู้ถือบัตรคนจน และคนลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ รวมวันนี้ใช้งบเงินกู้ รวม 4.6 หมื่นล้านบาท

เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวรวม 3 โครงการ วงเงินรวม 22,400 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. ดังนี้

1.โครงการกำลังใจ วงเงิน 2,400 ล้านบาท เพื่อให้กำลังใจอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวม 1.2 ล้านคน โดยรัฐสนับสนุนค่าเดินทางไม่เกินคนละ 2,000 บาท สำหรับการใช้บริการบริษัทนำเที่ยว และต้องเป็นการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน ซึ่งในส่วนนี้จะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มธนาคารกรุงไทยต่อไป

2.โครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน วงเงิน 18,000 ล้านบาท โดยรัฐสนับสนุนค่าที่พัก 40% ของราคาห้องพัก แต่ไม่เกินคืนละ 3,000 บาท ได้จำกัดสิทธิ์ 5 คืนต่อคน นอกจากนั้นยังสนับสนุนค่าอาหารหรือค่าท่องเที่ยวอีกคืนละ 600 บาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตัง ที่เคยใช้ดำเนินการก่อนหน้านี้

3.โครงการเที่ยวปันสุข วงเงิน 2,000 บาท โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท สำหรับการซื้อบัตรโดยสารทั้งรถทัวร์ เครื่องบิน และรถเช่า

ทั้งนี้กรณีที่ประชาชนใช้สิทธิ์ทั้ง 2 โครงการควบคู่กัน จะได้รับสิทธิ์ซื้อตั๋วเครื่องบินไปกลับในราคา 2,500 บาทอีกด้วย

“โครงการเราไปเที่ยวด้วยกันจะได้รับส่วนลดค่าที่พักสูงสุดคืนละ 3,000 บาท และค่าอาหารหรือค่าท่องเที่ยวคืนละ 600 บาท โดยจำกัดสิทธิ์คนละ 5 คืน รวม 18,000 บาท ทั้งนี้เมื่อรวมกับโครงการเที่ยวปันสุขที่ได้ส่วนลดค่าเดินทางสูงสุดอีก 400 บาท เท่ากับประชาชน 1 คนจะได้รับสิทธิ์สูงสุด 18,400 บาท” นางสาวไตรศุลี กล่าว

ขณะที่ นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการอีก 4 โครงการที่เกี่ยวข้องการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว วงเงินรวม 24,398 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ดังนี้

1.โครงการเยียวยาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 3,492 ล้านบาท โดยเป็นการช่วยเหลือกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการอื่น จำนวน 1,164,222 คน โดยจ่ายเงินให้เดือนละ 1,000 บาท 3 เดือน ระหว่าง พ.ค.-ก.ค. ทั้งนี้เป็นการโอนเงินเข้าสู่บัตรโดยตรง

2.การช่วยเหลือเยียวยากลุ่มที่ลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกันไม่สำเร็จ จำนวน 3.2 แสนคน กำหนดกรอบการใช้เงินไม่เกิน 906 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณารายละเอียดเพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมาย และมาตรการกลไกการช่วยเหลือที่ชัดเจน ทั้งนี้ให้นำกลับมารายงานให้ ครม.พิจารณาภายใน 1 เดือน

3.โครงการเยียวยากลุ่มเปราะบาง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาท 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. ครอบคลุมคน 3 กลุ่ม รวม 6.7 ล้านคน ประกอบด้วย 1) เด็กยากจน ตั้งแต่เด็กแรกเกิด – 6 ปี รวม 1.3 ล้านคน 2) ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ขึ้นไป จำนวน 4 ล้านคน และ 3) ผู้พิการ 1.3 ล้านคน ทั้งนี้เป็นการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนที่คนทั้ง 3 กลุ่มเคยได้รับอยู่ก่อนแล้ว

4.โครงการเยียวยาเกษตรกร โดยเป็นการใช้จ่ายวงเงินเดิมที่ได้รับอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ให้เพิ่มหลักเกณฑ์ให้ครอบคลุมถึง เกษตรกรที่ด้อยโอกาสที่เข้าไม่ถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร จำนวน 137,093 ราย ขณะเดียวกันยังขยายระยะเวลาการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแต่ยังไม่สามารถรับรองสิทธิ์ความเป็นเกษตรกรโดยสมบูรณ์ได้ทันกำหนดเวลา จำนวน 120,000 ราย โดยสั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 ก.ค.นี้

“ในภาพรวมวันนี้ ครม.ได้อนุมัติการใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน รวม 46,798 ล้านบาท รวมทั้งหมด 5 โครงการ โดยหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น” นางสาวรัชดา กล่าว

cr:https://www.isranews.org/article/isranews/89654-isranews-168.html

- Advertisement -