ดร.กฤษฎา เสกตระกูล: มหาวิทยาลัย ต้องคิดนอกกรอบ เพื่อความอยู่รอด หลังยุคโควิด

39

“…การเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม 4.0 และภัยคุกคามจากเหตุการณ์ Covid-19 กระทบต่อทุกวงการ จะมีความต้องการพัฒนาความรู้ทักษะในรูปแบบใหม่เพื่อเข้าสู่โลกใหม่ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถแบบใหม่ มหาวิทยาลัยควรออกจากรูปแบบการดำเนินงานเดิมที่ตั้งรับรอเยาวชนที่จะเข้าสู่ระบบ Degree เท่านั้น แต่ควรเป็นศูนย์กลาง Re-skill และ Up-skill ให้กับแรงงานเดิมในประเทศ ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ทดแทนโครงสร้างประชากรเยาวชนซึ่งมีสัดส่วนลดลง แต่เป็นการใช้โอกาส “Life-long learning” ที่เป็นกระแสที่มาพอดี…”

โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 8) ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยหลัง Covid-19 ที่จะเปลี่ยนจากตัวกลางระหว่างแรงงานและนายจ้างมาเป็น “หุ้นส่วน” ในการผลิตบุคลากรร่วมกับนายจ้าง พร้อมคำแนะนำสำหรับมหาวิทยาลัยไทยในการปรับตัวให้ผ่านพ้นกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้

สำหรับบทความในตอนนี้จะขอพูดถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยหลังเหตุการณ์ Covid-19 อีกครั้งหนึ่ง บทความของ Brandon Busteed ชื่อ “This Will Be The Biggest Disruption in Higher Education” ที่ลงใน forbes.com เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงการเสื่อมคลายมนต์ขลังของเยาวชนที่เป็นลูกค้าเป้าหมายของมหาวิทยาลัยที่จะเข้าไปสู่ตลาดแรงงาน ทำงานคู่ขนานไปกับการเรียน ซึ่งนายจ้างก็จะสนับสนุนให้เป็นอย่างนั้นด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ถือว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในวงการอุดมศึกษา (the biggest disruption in higher education) เพราะนับเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Disintermediary” ที่มหาวิทยาลัยเคยเป็นตัวกลางระหว่างแรงงานใหม่กับนายจ้างในอุตสาหกรรมมาก่อนโดยตลอด แรงผลักดันให้เกิดเหตุการณ์นี้ก็สืบเนื่องมาจากการเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุค 4.0 ในขณะที่

มหาวิทยาลัยยังพัฒนาและจัดระบบความรู้รองรับโลกยุคใหม่ไม่เสร็จสิ้น นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่รวมทั้งแรงงานเดิมที่อยู่ในตลาดรวมทั้งนายจ้างจะไม่คอยมหาวิทยาลัยอีกต่อไป แต่จะยินดีหาทางแสวงหาความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน ที่จริง “ปริญญา” หรือความรู้จากมหาวิทยาลัยก็จะยังเป็นของที่มีค่าที่แรงงานต้องการ แต่บทบาทมหาวิทยาลัยจะถูกบังคับให้เปลี่ยนจากการเป็น“ตัวกลาง” มาเป็น “หุ้นส่วน” ในการผลิตบุคลากรในอนาคต อาการที่ว่านี้ เขาเรียกกันว่า “Go Pro Early” และปริญญาหรือประกาศนียบัตรจะเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น (A part of package)

การคุกคามที่กล่าวข้างต้นนี้ ส่งผลกระทบรุนแรงต่อมหาวิทยาลัยในส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียม (college tuition) ที่อาจไม่แน่นอน ทั้งในด้านจำนวนและราคาในรูปแบบเดิมที่เก็บอยู่ อันเนื่องมาจากพฤติกรรมและความต้องการของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการบริหารกระแสเงินสดรับจ่ายของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีต้นทุนคงที่ค่อนข้างสูง เช่น เงินเดือนของคณาจารย์และบุคลากรที่เคยตั้งรับรอนักศึกษาเข้ามาในปริมาณมากพอพร้อมๆ กัน และต้นทุนด้านกายภาพที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งลงทุนไปมาก เกิดทั้งค่าเสื่อมราคาและค่าเสียโอกาสหากไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

บทความเรื่อง The Coming Disruption ของ James D. Walsh ที่ลงใน nymag.com (How Coronavirus Will Disrupt Future Colleges & Universities) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญไว้ว่าขณะที่เกิดโรคระบาด Covid-19 ขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้จับมือเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาอย่างชัดเจนมากขึ้นแล้ว เช่น MIT@Google, istanford, Harvard x Facebook เป็นต้น การร่วมมือเป็นหุ้นส่วนนี้ทำให้สามารถออกหลักสูตรในลักษณะ Hybrid online-offline degrees ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์สำคัญในการเขย่าวงการอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาและของโลก มีการคาดการณ์ว่าหากมหาวิทยาลัยในรูปแบบเดิม (Brick-and-mortar Universities) ไม่สามารถหาผู้เข้าเรียนได้จำนวนมากๆ เหมือนเดิมและปรับตัวไม่ได้อาจจะต้องปิดตัวออกจากวงการนี้ไปในอีกไม่นาน

เอาแค่ตอนนี้ระหว่างเกิดโรคระบาด บรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ เกิดความปั่นป่วนขึ้น และกำลังคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นและต้องทำอย่างไรหากนักศึกษาเดิมไม่กลับมาในปีหน้า หรือสำหรับนักศึกษาใหม่ที่รับเข้าเรียนแล้วเขาไม่ยอมมา การที่ “เด็กไม่ง้อมหาวิทยาลัย” เป็นสิ่งที่คนมหาวิทยาลัยไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดช่วงชีวิตของเขา (อันที่จริงมันมี weak signal มาก่อนแล้วที่บรรดานักเทคโนโลยีระดับโลกที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมสำคัญและกลายเป็นมหาเศรษฐีของโลก ออกจากการเรียนกลางคันมาแล้ว แต่มหาวิทยาลัยไม่มี Foresight ที่จะจับมาพิจารณาเอง) รวมทั้ง “ลัทธิการบูชาปริญญา” ที่ช่วยเสริมคุณค่าการมีมหาวิทยาลัย ก็จะมีความศักดิ์สิทธิ์น้อยลงทุกขณะ ทั้งหมดนี้ล้วนแต่กำลังสร้างความหวั่นเกรงแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก และความอลหม่านในขณะนี้ก็คือ “จริงหรือ?” หรือ “เราจะไปทางไหนดี?” “ใช่หรือทางนี้?”

ผลที่กำลังจะตามมาของ Covid-19 ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนจะใช้จ่ายเงินอย่างระมัดระวังมากขึ้นค่าเทอมในรูปแบบเดิมของมหาวิทยาลัยอาจถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่กับการต้องเรียนแบบ Online ที่ผู้ปกครองอาจมองว่าไม่คุ้มค่าเลย เพราะลูกๆ ต้องอยู่บ้านและดูแค่จอ Screen ของคอมพิวเตอร์ จะมีเสียงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยลดค่าเรียนลงมา ซึ่งมหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะตัดสินใจยากมากเพราะทราบต้นทุนของตนเองดี หากในอนาคตอันใกล้มีมหาวิทยาลัยที่ทำหลักสูตรได้ดีเป็นที่ต้องการและราคาถูกจะเกิดคลื่นการเคลื่อนย้ายนักศึกษาครั้งใหญ่หากมหาวิทยาลัยไม่ปรับตัว หรือไม่มีความสามารถในการปรับตัว และก็จะเกิด “Zombie universities” ขึ้น จนถึงต้องเลิกกิจการ ในสหรัฐอเมริกามีการคาดการณ์ว่ามหาวิทยาลัยอันดับที่ 50 จนถึงอันดับที่ 1,000 มีความเสี่ยงสูงที่จะอยู่ไม่รอด

ข้อคิดสำหรับมหาวิทยาลัยไทย

แม้ว่า มหาวิทยาลัยของไทยจะไม่ได้เป็นเลิศในอันดับต้นๆ ของโลก แต่เรามีภารกิจที่ต้องพัฒนาบุคลากรของไทยให้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ ของโลก และเป็นแรงงานที่มีความรู้ความสามารถเพื่อเป็นปัจจัยการผลิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการยกระดับระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยและอยู่ใน “บริบท” ที่เหมาะสมกับประเทศของเรา จากข้อสังเกตและความเห็นส่วนตัวบางประการมีคำแนะนำต่อการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย ดังนี้

1) หยุดหรือลดการสร้างสินทรัพย์ถาวรที่ไม่จำเป็น

มีข้อสังเกตว่า มหาวิทยาลัยของไทยมักชอบสร้างถาวรวัตถุ เพื่อรองรับการเรียนการสอนของคณะวิชาต่างๆ ที่ต้องการแตกแขนง “อาณาจักร” โดยอ้างความต้องการการพัฒนาความกว้างและลึกของศาสตร์ในสาขานั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีพอสมควรแล้ว สิ่งที่ขาดมากกว่าในขณะนี้ก็คือการพัฒนา “knowledge software” โดยเฉพาะในลักษณะที่จะตอบโจทย์โลกอุตสาหกรรม 4.0 และในลักษณะบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ ทั้งนี้ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าระบบคณะวิชาในอนาคตอาจไม่ได้เป็นในลักษณะเหมือนทุกวันนี้ การมี physical assets มากเกินไป จะทำให้มีค่าเสื่อมราคา ค่าเสียโอกาส ทำให้มีต้นทุนทางการเงินสูง

2) ต้องร่วมมือกับธุรกิจอุตสาหกรรมภายนอกมากขึ้นและในมิติแบบใหม่

มหาวิทยาลัยต้องมองว่าธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ คือ “หุ้นส่วน” เพราะนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเองก็ถูกคุกคามจากเดิมซึ่งทำธุรกิจในโลก 3.0 และต้องการอยู่รอดหรือเกิดใหม่บนโลก 4.0 การขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกใหม่มีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องการจากมหาวิทยาลัย เช่น การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการ การมีแรงงานยุคใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่พร้อมจะใช้ที่ทำงานบนธุรกิจใหม่ที่กำลังปรับตัวของเขาให้เป็น “Real and experience labs” เพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน พัฒนาและปรับหลักสูตรไปด้วยกัน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องยอมรับที่จะออกจากกรอบแบบเดิมในการพัฒนาหลักสูตรและองค์ความรู้

3) มองฐานลูกค้าให้กว้างขวางกว่าเดิมนอกจากเยาวชนไปสู่แรงงานที่ต้องการปรับทักษะเข้าสู่โลกใหม่ด้วย

การเคลื่อนตัวเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม 4.0 และภัยคุกคามจากเหตุการณ์ Covid-19 กระทบต่อทุกวงการ จะมีความต้องการพัฒนาความรู้ทักษะในรูปแบบใหม่เพื่อเข้าสู่โลกใหม่ ซึ่งต้องการแรงงานที่มีความรู้ความสามารถแบบใหม่ มหาวิทยาลัยควรออกจากรูปแบบการดำเนินงานเดิมที่ตั้งรับรอเยาวชนที่จะเข้าสู่ระบบ Degree เท่านั้น แต่ควรเป็นศูนย์กลาง Re-skill และ Up-skill ให้กับแรงงานเดิมในประเทศ ซึ่งมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน ซึ่งจะเป็นตลาดใหม่ทดแทนโครงสร้างประชากรเยาวชนซึ่งมีสัดส่วนลดลง แต่เป็นการใช้โอกาส “Life-long learning” ที่เป็นกระแสที่มาพอดี

ที่กล่าวมาถือว่าเป็นตัวอย่าง ซึ่งเชื่อว่ามหาวิทยาลัยมีคนดีและคนเก่งในระดับมันสมองที่เข้าใจสภาพปัญหาได้ดี ลองระดมสมองกัน และช่วยดำเนินการกันไป เพื่อให้มหาวิทยาลัยไทยของเราผ่านพ้นกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ไปได้อย่างราบรื่น

Cr.https://www.isranews.org/article/isranews-article/89641-cov-4.html

- Advertisement -