ธนาคารไทยพาณิชย์ ผุดแอป “Robinhood” แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ควัก 100 ล้านบาท หนุนคนสั่งอาหาร-ร้านค้า-คนขับรับบริการเป็นธรรม ประกาศไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม หวังสิ้นปีดึงร้านค้าขึ้นออนไลน์ 4-5 หมื่นร้านค้า พร้อมร่วมมือ “สกู๊ตตาร์” เจาะคนขับจักรยายนต์ โต้ไม่หวังแข่งตลาด “GET” ชี้ ไม่ละเมิดสัญญาณที่เซ็นร่วมกัน
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ธนาคารจะเปิดตัวแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ภายใต้ชื่อ “Robinhood”
“Robinhood” จะดำเนินการภายใต้บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X) ที่ตั้งขึ้น โดยมีงบการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
นายอาทิตย์ กล่าวว่า แอปฯ ใหม่นี้มีเป้าหมายต้องการให้ทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้สั่งอาหาร ร้านอาหาร และผู้ขับขี่ ได้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยธนาคารจะไม่เก็บค่าจีพี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยที่ต้องเจอเมื่อนำร้านขึ้นสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งค่าจีพีนับเป็น Pain Point หลักของผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็กในปัจจุบันที่มีการเรียกเก็บราว 30-35%
จับมือ “สกู๊ตตาร์”
ทั้งนี้ ธนาคารใช้เวลาในการพัฒนาเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะร่วมกับพันธมิตร บริษัท สกู๊ตตาร์ บียอนด์ จำกัด ที่มีจำนวนจักรยานยนต์หลายหมื่นคัน รวมถึงสรรหาพันธมิตรหลายอื่นด้วย เนื่องจากธนาคารไม่ได้ร่วมเป็น Exclusive Partner กับสกู๊ตตาร์ฯ ส่วนร้านค้า จะเห็นว่าธนาคารพอมีฐานลูกค้าอยู่บ้างจากการทำแม่มณีก่อนหน้า โดยธนาคารตั้งเป้าภายในสิ้นปีจะมีร้านค้าร่วมแล้ว 4-5 หมื่นร้านค้า จากช่วงแรกจะมีร้านค้าร่วมประมาณ 2 หมื่นร้านค้า
อย่างไรก็ดี ในส่วนของความร่วมมือกับ Get ที่มีก่อนหน้านี้ จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากได้มีการพูดคุยกันเรียบร้อย และความร่วมมือจะเป็นเรื่องของไฟแนนซ์เชียล ขณะเดียวกัน ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าเข้ามาแย่งตลาดหรือแข่งขันในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่ต้องการเป็นทางเลือกให้ลูกค้าเท่านั้น ไม่ได้สร้างมาเพื่อล้มใครหรือแข่งขัน เพราะธนาคารจะไม่มีโปรโมชั่น
ส่วนหนึ่งถือเป็นโครงการเพื่อได้ CSR กับสังคม และหากธนาคารสามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าเข้ามาใช้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Engagement) และในอนาคตสามารถต่อยอดผ่านการปล่อยสินเชื่อหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่เพียงไฟแนนซ์เท่านั้น
“เราหวังว่า Robinhood จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กไปจนถึงเชนร้านอาหารต่าง ๆ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าและคนขับ เพื่อให้เกิดเป็น Ecosystem ที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป โดยตั้งใจให้เป็นช่องทางการขายที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่หักค่าจีพีสำหรับร้านอาหารรายย่อย สมัครฟรี ไม่มีชาร์จเพิ่ม เจ้าของร้านได้เงินเร็วภายใน 1 ชั่วโมง รวมถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้เราได้รับการสนับสนุนจากบอร์ด และได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมองว่าเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนได้ขี่มอเตอร์ไซค์มากขึ้น”
ปรับตัวรับ โควิด-19
นายอาทิตย์ กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่า วิกฤตโควิด-19 ยังไม่จบ และกว่าเศรษฐกิจจะกลับแข็งแรงแบบที่เคยเป็นมา คงต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้น ธนาคารจึงใช้ห้วงเวลาดังกล่าวมาเป็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผ่านยุทธศาสตร์ “SCB New Normal”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB ระบุว่า รากฐานที่แข็งแรงจากการทำ Digital Transformation ทำให้ธนาคารมีขีดความสามารถในการเป็นองค์กรที่มีความตัวเบา และสามารถกำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) การปรับต้นทุนการให้บริการ แนวทางการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การให้บริการกับลูกค้าในทุกๆ เซ็กเมนต์ และนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อการสร้างคุณค่าใหม่ (Core Value)
“วิกฤตการณ์โควิด19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายอุตสาหกรรม ธนาคารได้เห็นการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และเริ่มเห็นขนาดของปัญหาและลูกค้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องทำวันนั้น คือ ทำอย่างไรให้ขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเข้มแข็งที่สุด กระทั่งองค์กรแข็งแรงและนิ่งได้” นายอาทิตย์ กล่าว
“จากนั้น จึงนำมาสู่การดูแลลูกค้าอย่างเร่งด่วน เพื่อลดภาระของลูกค้าให้มากที่สุด ผ่านมาตรการพักชำระหนี้มากกว่าหลายแสนราย รวมถึงการให้สินเชื่อเพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้า โดยเป็นการทำงานคู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยดูแลคนไม่ให้ตกงาน เพราะธุรกิจของลูกค้าเมื่อโควิดหายไป ลูกค้าจะกลับมาได้ โดยธนาคารพร้อมเป็นเสาหลักของสังคมที่จะช่วยลูกค้า”