โชว์บันทึกแจ้งความ! กล่าวหา 2 จนท.สตง. ล็อบบี้ไม่รับรองหลักฐานคดีปรับปรุงศาลพระโขนง

448

เงื่อนปมปัญหาการปรับปรุงศาลพระโขนง เป็นศาลแพ่งพระโขนง และศาลอาญาพระโขนง วงเงิน 43.2 ล้านบาท ที่ปรากฏข่าวว่า ผู้พิพากษาที่มีอำนาจไม่อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เอกชนผู้รับจ้าง โดยอ้างว่าเอกชนรายหนึ่งส่งพนักงานเข้ามาสำรวจก่อนที่จะมีการเปิดประมูล และลงนามสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อมีการเปิดประมูลด้วยวิธีการคัดเลือก เอกชนรายนี้ได้ยื่นซองเสนอราคาด้วย และได้รับการประกาศเป็นผู้ชนะตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอไปก่อนหน้านี้

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาที่มีอำนาจไม่อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่เอกชนผู้รับจ้างโครงการนี้ เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ กรณีถูกเจ้าหน้าที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 2 ราย เรียกไปพบที่อาคารสำนักงาน สตง. โดยไม่มีหมายเรียก เพื่อชักจูงไม่ให้ถ้อยคำ หรือยืนยันหลักฐาน กรณีเอกชนส่งพนักงานเข้ามาสำรวจก่อนมีการเปิดประมูล พร้อมข่มขู่ว่าตนเองมีส่วนจะต้องรับผิดชอบด้วย เนื่องจากยินยอมให้ผู้รับเหมาเข้าไปก่อสร้างก่อน ถ้าหากตนไม่ยืนยันเอกสารของช่างบริษัทผู้รับเหมาที่เข้าไปทำการก่อสร้างก่อน จะช่วยทำหนังสือยืนยันว่าการที่ตนเองไม่อนุมัติจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมานั้นไม่เป็นความผิด

เบื้องต้นแหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. ได้รับทราบข่าวนี้แล้ว และจะมีการเรียกตัวเจ้าหน้าที่ สตง. ทั้ง 2 ราย ที่ถูกผู้พิพากษาแจ้งความ ให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด (อ่านประกอบ : ผู้พิพากษาแจ้งความโดน 2 จนท.สตง. ‘ล็อบบี้’ ไม่รับรองหลักฐานคดีเอื้อปย.ปรับปรุงศาลพระโขนง)

เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจที่มาที่ไปมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเอกสารใบบันทึกคำให้การของผู้พิพากษารายนี้ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ มีรายละเอียดดังนี้

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 เลาประมาณ 15.00 น. ตน (ผู้พิพากษารายนี้) ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากบทสนทนาทราบว่า ผู้ติดต่อดังกล่าวคือ เจ้าหน้าที่ของ สตง. รายหนึ่ง (เจ้าหน้าที่ A นามสมมติ) โดยเจ้าหน้าที่ A แจ้งว่า ต้องการให้เข้าไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง โดยนัดมาให้ข้อมูลที่สำนักงาน สตง. วันที่ 5 มิ.ย. 2563 เวลา 09.00 น. โดยการเรียกไปให้ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้มีการออกเป็นเอกสารหมายเรียกใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 จึงเดินทางไปที่สำนักงาน สตง. ตามที่เจ้าหน้าที่ A นัดไว้ เมื่อเดินทางไปถึงจึงโทรศัพท์แจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ A เพื่อลงมารับ และพาเข้าไปในอาคาร สตง. โดยพบกับเจ้าหน้าที่ สตง. อีกรายหนึ่ง (เจ้าหน้าที่ B) อยู่กลุ่มงานสืบสวนสอบสวน

จากนั้นเจ้าหน้าที่ A และ B ได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนงว่า เป็นผู้ร้องเรียนเองหรือไม่ ตนตอบว่าไม่ได้เป็นผู้ร้องเรียน และผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ให้ตนเล่าพฤติการณ์ในเรื่องดังกล่าวว่ามีการเอื้อประโยชน์กันอย่างไร จึงสรุปเรื่องร้องเรียนโดยย่อ ระบุว่า ก่อนจะมีการปรับปรุงศาลจังหวัดพระโขนง เลขาธิการศาลยุติธรรมได้เชิญให้ตน ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลจังหวัดตลิ่งชัน และคณะไปประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการศาลแพ่งพระโขนง ศาลอาญาพระโขนง ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลอาญามีนบุรี และศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งขณะนั้นตนดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศาลจังหวัดพระโขนง โดยเลขาธิการศาลยุติธรรมกล่าวว่า ทั้ง 3 ศาล ไม่ต้องส่งมอบพื้นที่อาคารให้กับสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นพื้นที่ของศาลยุติธรรมอยู่แล้ว โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะให้ผู้รับเหมาเข้าปรับปรุงอาคารศาลเพื่อให้ทันการเปิดทำการซึ่งคาดว่าจะเปิดได้วันที่ 1 เม.ย. 2562 สำนักงานศาลจะมีหนังสือแจ้งไปทั้ง 3 ศาล ก่อนที่จะมีการส่งผู้รับเหมาเข้าไปทำการปรับปรุงอาคารศาลแต่ละแห่ง

ต่อมาสำนักงานศาลยุติธรรมมีหนังสือลงวันที่ 2 ม.ค. 2562 แจ้งว่าสำนักงานศาลยุติธรรมจะเข้ามาเตรียมความพร้อมในวันที่ 3 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป หลังจากมีหนังสือดังกล่าว มีคนงานของบริษัทผู้รับเหมาที่สำนักงานศาลยุติธรรมส่งมา ตนได้ตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นช่างของบริษัทผู้รับเหมาจริง จึงได้สั่งให้มีการเรียกเก็บเอกสารประจำตัวของช่างที่เข้ามาทำงานในแต่ละวัน และให้ทำรายงานลงรายละเอียดด้วยว่า ในวันนั้นได้ทำอะไรบ้าง โดยมาทราบภายหลังว่า มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งมีการทำสัญญาว่าจ้างกันในวันที่ 10 เม.ย. 2562 หลังจากที่ช่างของบริษัทผู้รับเหมาเข้ามาทำงานแล้วประมาณ 3 เดือน โดยตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาว่าจ้างโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

ต่อมาประมาณ พ.ค. 2562 สำนักงานศาลยุติธรรมได้โอนเงินงบประมาณมาเพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ศาลจังหวัดพระโขนงเป็นหน่วยเบิกจ่ายแทน และผู้อำนวยการศาลจังหวัดพระโขนงได้ทำบันทึกให้ตนเป็นผู้เบิกจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัทผู้รับเหมา ซึ่งตนพิจารณาแล้วไม่อนุมัติจ่าย เนื่องจากเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นคู่สัญญากับบริษัทผู้รับเหมาแต่อย่างใด และได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อนุ ก.ต.) และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทราบแล้วว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายในการจัดซื้อจัดจ้าง

เมื่อเจ้าหน้าที่ สตง. A และ B ได้ทราบตามที่แจ้งแล้ว ได้พูดจาในลักษณะว่า ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตนมีส่วนกระทำผิด เนื่องจากยินยอมให้ผู้รับเหมาเข้าไปทำงานก่อสร้าง ตนให้เหตุผลว่าสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ส่งช่างของบริษัทผู้รับเหมาเข้าไป โดยศาลไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ สตง. A และ B ยังพูดจาโน้มน้าวและจูงใจว่า หากตนไม่ยืนยันเอกสารของช่างบริษัทผู้รับเหมาที่เข้าไปทำการก่อสร้างแล้ว จะทำหนังสือยืนยันว่าที่ตนไม่อนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ผู้พิพากษานั้นไม่เป็นความผิด

เห็นว่าลักษณะที่เจ้าหน้าที่ สตง. A และ B พยายามพูดจาโน้มน้าวดังกล่าวนั้นไม่เป็นการถูกต้อง และเป็นการตัดสินโดยพูดชี้นำว่ามีส่วนผิดโดยไม่ได้มีการไต่สวนพยานที่เกี่ยวข้องก่อน และพูดในลักษณะชี้นำว่า หากยืนยันเอกสารที่แสดงว่าบริษัทผู้รับเหมาที่เข้าไปทำการก่อสร้างแล้วก่อนมีการทำสัญญาว่าจ้าง หากเสนอให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณา และเห็นว่าเป็นความผิดจะมาโทษเจ้าหน้าที่ สตง. A และ B ไม่ได้

เห็นว่าการกระทำดังกล่าวที่ให้ตนไปให้ถ้อยคำนั้นไม่มีหนังสือเชิญไปให้ถ้อยคำ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ตามกระบวนการทำงาน และการสอบถามของเจ้าหน้าที่ สตง. A และ B เป็นลักษณะชักจูง ข่มขู่ ชี้นำเพื่อไม่ให้ถ้อยคำหรือเพื่อไม่ให้การยืนยันในหลักฐานที่สำคัญในเรื่องที่ผู้รับเหมาเข้าไปทำงาน ก่อนที่จะมีสัญญาว่าจ้างปรับปรุงอาคาร อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงได้มาพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ สตง. A และ B ดังกล่าว

ทั้งหมดคือบันทึกคำให้การของผู้พิพากษาที่แจ้งความร้องทุกข์ต่อ สน.บางซื่อ กรณีปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง ความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจาก สตง. ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง. มีการเรียกตัวเจ้าหน้าที่ สตง. ทั้ง 2 รายดังกล่าว มาชี้แจงแล้ว

แต่เงื่อนปมสำคัญที่ยังไม่เคลียร์ขณะนี้คือ ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังให้พนักงานบริษัทเอกชนเข้าไปสำรวจก่อนจะมีการเปิดประมูล และลงนามสัญญาจ้างอย่างเป็นทางการ และพนักงานบริษัทเอกชนเหล่านั้นสามารถเข้าไปในศาลพระโขนงได้อย่างไร ?

เป็นสิ่งที่ต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/89420-isranews-28.html

- Advertisement -