สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผู้ถูกกล่าวหา ได้แก่ อดีตคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ราย เข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแก่องค์คณะไต่สวน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีกรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ ในคดีสินบนข้ามชาติ กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเรียกรับเงินจากบริษัท โรลส์รอยซ์ ผู้นำเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน Boeing 777-200ER ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือคดีสินบนโรลส์รอยซ์ ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548
สาระสำคัญในสำนวนการไต่สวนขององค์คณะไต่สวน ป.ป.ช. คือ ผู้บริหารการบินไทยบางราย ได้ติดต่อเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบิน A340-500/600 และเครื่องบิน B777-200ER กับบริษัทโรลส์-รอยซ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปราฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองพิจารณาคัดเลือกตัดสินเพื่อดำเนินการจัดหาตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุฯ (อ่านประกอบ : อดีตบิ๊กบินไทยแก้ข้อกล่าวหาคดีโรลส์รอยซ์แล้ว! ป.ป.ช.จ่อสรุปสำนวน-ไร้ชื่อนักการเมือง, บิ๊กการบินไทยดีลลับซื้อเครื่องยนต์! โชว์ละเอียดสำนวน ป.ป.ช.สอบคดีสินบนโรลส์รอยซ์)
โดยผู้บริหารการบินไทยรายนี้ ได้ดีลกับบริษัท โบอิ้ง (ผู้ขายเครื่องบิน B777-200ER ให้การบินไทย) เพื่อบีบให้ติดตั้งเครื่องยนต์ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ด้วย ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำอีเมลที่ผู้บริหารการบินไทยรายนี้ สนทนากับผู้บริหารบริษัท โบอิ้ง เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2547 มีการรายงานผลประชุมคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว แก่คณะกรรมการกำกับกลยุทธ์ของการบินไทย โดยที่ประชุมบอร์ดกำกับกลยุทธ์ฯ รับทราบ และมอบหมายให้เร่งรัดดำเนินการปรับปรุงแผนพัฒนาฝูงบิน และให้นำเสนอบอร์ดการบินไทย พิจารณาในกำหนดการประชุม 28 ก.ค. 2547
วันเดียวกัน เวลากลางวัน ผู้บริหารของบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ปรึกษาของบริษัท โบอิ้ง ในประเทศไทย ถูกเรียกให้ไปพบ ผู้บริหารระดับสูงการบินไทยรายหนึ่ง เพื่อพูดคุยสอบถามและเจรจาเกี่ยวกับการซื้อขายเครื่องบินโบอิ้งแบบ B777-200ER โดยแจ้งให้บริษัท โบอิ้ง ใช้อำนาจที่มีเหนือบริษัท โรลส์-รอยซ์ และทำให้มั่นใจว่าราคาเครื่องยนต์สำรอง/อะไหล่ และราคาชิ้นส่วนเครื่องยนต์นั้นสมเหตุสมผล
แต่ที่ปรึกษาบริษัท โบอิ้ง ได้แย้งว่า เนื่องจากการบินไทยเลือกที่จะใช้เครื่องยนต์ของโรลส์-รอยซ์เอง และควรที่จะมีอำนาจเจรจาต่อรองกับผู้จำหน่ายโดยตรง นอกจากนี้บริษัท โบอิ้ง ไม่มีอำนาจควบคุมโรลส์-รอยซ์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ผู้บริหารการบินไทยรายนี้ ยืนกรานให้บริษัท โบอิ้ง สนับสนุนคำขอดังกล่าว โดยบริษัท โบอิ้ง มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงรายนี้ว่า การเพิ่มน้ำหนักขึ้นสูงสุด (MTOW) ของเครื่องบิน B777-200 ไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน กรณีต้องการให้บริษัท โบอิ้ง สนับสนุนและช่วยเหลือเกี่ยวกับโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์ที่ติดตั้งกับเครื่องบิน B777 ของการบินไทย เพื่อให้การจัดทำราคาและอัตราต่าง ๆ สมเหตุสมผลนั้น บริษัท โบอิ้ง ยินดีให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
ต่อมา เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2547 บริษัท โบอิ้ง มีหนังสือเสนอขาย และข้อเสนอทางพาณิชย์ แก่บอร์ดการบินไทย และผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย โดยเสนอขายเครื่องบินโบอิ้ง B777-200 ER จำนวน 6 ลำ ติดตั้งด้วยเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ แบบ RB211-TRENT 884 เพียงยี่ห้อเดียว โดยราคาเครื่องยนต์ดังกล่าวมีราคาอยู่ที่ 29,981,814 เหรียญสหรัฐฯ/ลำ (จำนวน 2 เครื่องยนต์)
ถัดมา เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย และบอร์ดการบินไทยบางราย เพื่อเสนอขายเครื่องยนต์ TRENT 884 ติดตั้งเครื่องบินโบอิ้ง B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 จำนวน 2 เครื่อง สำหรับเครื่องบินดังกล่าว โดยราคาเครื่องยนต์ TRENT 884 สำหรับติดตั้งเครื่องบินเมื่อหักส่วนลดแล้วมีราคาอยู่ที่ 19.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อ 1 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง TRENT 884 ที่ตกแต่งแล้วมีราคาอยู่ที่ 14,968,848 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่องยนต์
ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2547 บริษัท โรลส์-รอยซ์ มีหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูง และบอร์ดการบินไทยบางราย เสนอการยกระดับเครื่องยนต์หรืออัพเกรดเครื่องยนต์ที่เสนอขายเพื่อติดตั้งกับเครื่องบิน B777-200ER จำนวน 6 ลำ และเครื่องยนต์สำรอง 2 เครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินดังกล่าว จากเครื่องยนต์ TRENT 884 เป็น TRENT 892 ในราคา 1,058,389 เหรียญสหรัฐฯต่อเครื่องยนต์ โดยเมื่อหักส่วนลดแล้ว การอัพเกรดดังกล่าวจะมีราคาอยู่ที่ 372,540 เหรียญสหรัฐฯ/เครื่องยนต์ ส่วนการอัพเกรดเครื่องยนต์สำรองจะมีราคา 952,550 เหรียญสหรัฐ/เครื่องยนต์
วันเดียวกัน คณะอนุกรรมการพิจารณาแผนลงทุนระยะยาวของการบินไทย ได้ร่วมกันพิจารณาแผนเส้นทางบินและฝูงบินปี 2005/06-2009-10 โดยจะมีการจัดหาเครื่องบินอีก 14 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินพิสัยไกลขนาดใหญ่พิเศษ (LS) จำนวน 6 ลำ เครื่องบินพิสัยไกลขนาดกลาง (LM) จำนวน 6 ลำ เครื่องบินแบบ A340-600 จำนวน 1 ลำ และเครื่องบินแบบ A340-500 จำนวน 1 ลำ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการตามแผนเส้นทางการบินและฝูงบินดังกล่าวตามที่เสนอ และเตรียมนำเสนอบอร์ดการบินไทยในวันที่ 28 ก.ค. 2547
อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว มีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องยนต์ของเครื่องบิน B777-200ER และพิจารณาการจัดหาเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบินดังกล่าว ทั้งที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินทั้ง แอร์บัส และโบอิ้ง ต่างเสนอขายเครื่องบินตามความต้องการให้แก่การบินไทยพิจารณา รวมทั้งบริษัท โรลส์-รอยซ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ ได้ยื่นข้อเสนอขายเครื่องยนต์ที่จะใช้ติดตั้งกับเครื่องบินและเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบินดังกล่าว ตามที่บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน 2 แห่ง เสนอขายให้แก่การบินไทยแต่อย่างใด
นี่คือไทม์ไลน์ชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การตั้งองค์คณะไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในคดีสินบนข้ามชาติดังกล่าว จนนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาอดีตบอร์ดการบินไทย และอดีตคณะอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของการบินไทย ในเวลาต่อมา จนเมื่อเร็ว ๆ นี้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปหมดแล้ว
อนึ่ง คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการไต่สวน ถือเป็นกระบวนการขั้นต้นในกระบวนการยุติธรรม ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
Credit : https://www.isranews.org/article/isranews/89352-israneerews00.html
Credit : https://techsauce.co/news/gov-approve-thai-airways-enter-bankruptcy-court